"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ความเร็วอินเตอร์เน็ต

ความเร็วอินเตอร์เน็ต

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้อีกแล้วว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพประชากร การใช้งานอินเตอร์นั้นสามารถทำได้หลากหลาย เช่น อาจใช้เพื่อความบันเทิงในการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ หรือใช้ส่งข้อมูลจากเครื่องตัวเองไปที่เว็บไซต์ (อัพโหลด) หรือนำข้อมูลจากเว็บไซต์มาลงคอมพิวเตอร์ (ดาวน์โหลด) ทำให้อินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมจากทั่วทุกมุมโลก สำหรับในประเทศไทยของเราเริ่มใช้อินเตอร์เน็ตตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2530 โดยเป็นประเทศที่สามในอาเซียนที่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาการใช้อินเตอร์เน็ตได้เริ่มแพร่หลายตามจังหวัดใหญ่ๆ และในตัวเมืองของจังหวัดอื่นๆ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าในปี พ.ศ. 2553 ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 14.6 ล้านคน หรือประมาณ 21.2% ของประชากรทั้งหมด

อินเทอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยพื้นฐานระดับต้นๆ หากมองในแง่ของชีวิตประจำวัน ยิ่งปัจจุบัน Social Network ต่างๆ อาทิ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ กำลังเป็นที่นิยมมากในยุคนี้ ประชาชนส่วนมากมีความต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในระดับความเร็วสูงถึงสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามจากการทดสอบคุณภาพของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตล่าสุดยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพึงพอใจนัก ผลการทดสอบพบว่าความเร็วเฉลี่ยของอินเตอร์เน็ตประเทศไทย เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์โดยคิดยอดจากทั่วประเทศมาเป็นค่าเฉลี่ยออกมาแล้วผลปรากฏว่าความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยในไทยมีค่า 70.8% ความเร็วอัพโหลดมีค่า 14.6 % ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยความเร็วอินเตอร์เน็ตระดับโลก แม้ว่าไทยจะเป็นที่ 3 ของอาเซียน ดังนั้นการที่จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากจึงไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของอินเตอร์เน็ตจะดีมากขึ้นตามไปด้วย เราจะต้องมาดูปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปดีเท่าที่ควรจะเป็น

ปัญหาหลักที่พบคือขาดความเสถียรในการใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่างพื้นที่ กล่าวคือในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ของกรุงเทพมหานครนั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตมีความรวดเร็วมาก ตรงกันข้ามกับตามต่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่กลับไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แม้เราจะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz แล้วแต่ดูเหมือนแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยหลายๆแห่งยังถือว่าล่าช้าอยู่มาก

อย่างไรก็ดีปัญหาอินเตอร์เน็ตล่าช้านั้นไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทเพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็มีส่วนด้วยเช่นกันเนื่องจากเรามีคนใช้อินเตอร์เน็ทกันเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ใช้งานส่วนมากไม่รู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ทอย่างถูกต้องทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ทไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นตัวอุปกรณ์ที่ใช้เล่นอินเตอร์เน็ตกันอยู่ในปัจจุบันอาจมีมาตรฐานที่ไม่ดีพอ คอมพิวเตอร์บางเครื่องอาจมีความช้าเกินในการเข้าหน้าเว็บไซต์หรือติดไวรัสทำให้ทำงานช้าลง สายโทรศัพท์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็อาจเป็นสายแบบเก่าทำให้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้ดีเท่าที่ควร

เมื่อมองถึงปัญหาต่างๆ ดังกล่าวรัฐจึงต้องพยายามแก้ไข ทั้งนี้ในปัจจุบันความต้องการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(“ไอซีที”) ได้วางนโยบายบางส่วนเช่นการเตรียมออกนโยบายพัฒนาอินเตอร์เน็ทในระยะยาวด้วยการนำ Internet Protocol Version 6 (“IPv6”) ขึ้นมาใช้แทน Internet Protocol Version 4 หรือ IPv4 เพราะเทคโนโลยีใหม่กว่าจะสามารถเชื่อมต่อกับ 3G หรือ 4G ได้ดีขึ้นและความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตน่าจะมีมากขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากจะแก้ปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ทที่ขัดข้องในปัจจุบันอย่างเร่งด่วนนั้น อาจควรมีการตรวจสอบผู้ให้บริการว่าการให้บริการนั้นสามารถทำได้ตามที่โฆษณาไว้กับผู้บริโภคหรือไม่หรือมีเหตุขัดข้องตรงไหน หากมีจะได้ช่วยกันตรวจสอบและแก้ไข และควรให้ความสำคัญกับตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ทว่าได้ใช้งานอินเตอร์เน็ทอย่างถูกวิธีหรือไม่ เช่น อาจจัดให้มีการอบรมทักษะการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้องโดยอาจเริ่มที่หน่วยงานของรัฐแล้วกระจายไปยังภาคเอกชน

เนื่องจากความสมบูรณ์ของการให้บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะประเทศใดๆในโลกก็ตามล้วนแต่มีจุดบกพร่องอยู่ แต่หากว่าเราสามารถที่จะช่วยกันตรวจสอบและแก้ไขแล้ว มาตรฐานอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดของประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *