"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

คิดค่าโทรเป็นวินาที

คิดค่าโทรเป็นวินาที

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้หลายท่านอาจจะได้ทราบข่าวที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบให้มีการแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการคิดราคาค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ จากฐานจากการคิดบริการปัดเศษเป็นนาที เป็นการคิดตามจริงเป็นวินาทีและเตรียมส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในหลักการดังกล่าวด้วยแล้ว ส่วนทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้เรียกหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาทีซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติแนวทางนี้มาโดยตลอด โดยได้ข้อสรุปว่า ให้ผู้ประกอบการต้องออกโปรโมชั่นการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีให้ประชาชนเลือกเปลี่ยนแพกเกจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2558

หลังจากที่เรื่องดังกล่าวมีการกล่าวอ้างและหยิบยกขึ้นมาว่าประชาชนทั่วไปที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งในระบบเติมเงินรายเดือนนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าโทรศัพท์แบบกินเปล่าไปฟรีๆถึง เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือ ปีละ 43,092 ล้านบาท และจากการสำรวจการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ค่าบริการในระบบเติมเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 341 บาทต่อเดือน ส่วนระบบรายเดือนอยู่ที่ 716 บาท ถ้าเฉลี่ยทั้งสองระบบมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 415 บาทต่อเดือน โดยค่าโทรระบบเติมเงินอยู่ที่ 1.20 บาทต่อนาที ระบบรายเดือนอยู่ที่ 1.70 บาทต่อนาที เฉลี่ยทั้งสองระบบค่าโทรอยู่ที่ 1.30 บาท ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการมือถือ 3 ราย ได้แก่ ทรู มีรายได้รวมปี 56 อยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท ดีแทคมีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท และเอไอเอสมีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ต่อมาทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้จัดทำรายงานนำเสนอหลักการกำหนดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีให้กับ สปช. พิจารณาเพื่อแก้ไขการคิดค่าบริการโทรศัพท์เกินจริงดังกล่าว

ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาการคิดค่าบริการของต่างประเทศเช่น การคิดค่าบริการมือถือของสหภาพยุโรป (EU) มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (Roaming) โดยคิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาทีแรก จากนั้นตั้งแต่วินาทีที่ 31 เป็นต้นไปให้คิดค่าโทรตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งหมด แต่ในทางกลับกันพบว่าประเทศไทยมีการคิดค่าบริการเป็นนาที โดยมีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน 100 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการเกิน 1 นาที และมีเศษวินาที โอกาสที่โทรลงตัวครบ 1 นาทีคิดเป็น 1 ใน 60 เท่านั้น และมีถึง 99% ที่โทรเป็นวินาทีที่ถูกปรับเศษเป็นนาทีทั้งหมด จึงประเมินว่าทุกวันจะมีการใช้งานที่ถูกปรับเศษวินาทีเป็นนาที เกิน 100 ล้านนาที รวมต่อเดือนกว่า 3,000 ล้านนาที ทำให้ผู้ประกอบการมือถือได้รับรายได้ส่วนเกินมากกว่า 4,500 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นปีมากกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท

แนวคิดดังกล่าวส่งผลมีข้อสนอให้ทาง กสทช. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยอาศัยมาตรา 31 วรรคสอง ให้ออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียง คิดค่าบริการโดยปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที เนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและเร่งออกประกาศหรือหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่อาศัยการใช้งานเครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พร้อมใช้อำนาจตามกฎหมาย กสทช. พ.ศ.2553 มาตรา 27 (9) ออกหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียง คิดค่าบริการตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษเป็นนาทีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค

ยังมีผู้ที่เสนอต่อไปอีกว่านโยบายดังกล่าวไม่ควรแต่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนโปรโมชั่นชั่วคราวเท่านั้น แต่จะต้องเปลี่ยนระบบอย่างถาวรโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาค่าบริการซึ่งจะต้องมีการปรับระบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และระบบบิลลิ่ง (Billing System) ใหม่ซึ่งคาดว่าสามารถทำได้ภายใน 2-3 เดือน อีกทั้งต้องดูกระแสการตอบรับของประชาชนว่ามีผู้สนใจเปลี่ยนแพกเกจมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้มีการตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมากำกับดูแลในอนาคต เพราะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค อีกทั้งการดำเนินการด้านกิจการโทรคมนาคมใดๆ จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งในเบื้องต้นหากมีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ได้จริงจะช่วยประหยัดค่าโทรได้วันละ 1 นาที คิดเป็น 1.33 บาท ใน 1 เดือน ประหยัดได้ 40 บาทต่อคน เมื่อประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์ 94 ล้านเลขหมาย จะประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่สิ่งที่สำคัญในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าบริการโทรศัพท์ครั้งใหญ่นี้คือการได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย ซึ่งหากร่วมมือก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆ แต่ถ้าหากทางผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างดังกล่าว ก็อาจจำเป็นที่จะต้องออกกฎเป็นคำสั่งทางปกครอง ภายใต้การออกประกาศของ กสทช. ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้ แต่โดยหลักถ้าทุกโอปอเรเตอร์ปรับมาตรฐานการให้บริการ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมาบังคับแต่อย่างใด

เมื่อเรามาพิจารณาในหลายๆประเทศแล้วจะเห็นได้ว่ามีระบบการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะคิดค่าโทรเป็นนาที แต่ในหลายประเทศก็คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เช่นในประเทศไต้หวันจะมีการเก็บค่าบริการโทรในประเทศคิดเป็นนาที แต่ค่าบริการเซลลูล่าร์อาจคิดเป็นนาทีหรือวินาที ขึ้นอยู่กับโอปอเรเตอร์และแพกเกจ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นคิดค่าโทรในประเทศแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Flat-Rate) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการคิดค่าโทรในแต่ละครั้ง หากมองอีกด้านในแง่ของการเปลี่ยนโครงสร้างระบบการจัดเก็บค่าบริการดังกล่าว การใช้โรมมิ่งในต่างประเทศนั้นอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้เพราะต่างประเทศส่วนใหญ่ จัดเก็บค่าบริการโทรศัพท์เป็นแบบนาที เมื่อคนไทยเดินทางอออกไปนอกประเทศและใช้ระบบโรมมิ่ง จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการเก็บค่าบริการ อันเป็นปัญหาที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้กันต่อไปหากมีการปรับเปลี่ยนระบบอย่างเต็มรูปแบบ

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *