"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

เช็คก่อนแชร์!

เช็คก่อนแชร์!

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่อไม่กี่วันมานี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกมากล่าวถึงผลการสำรวจสถิติของไอซีที ที่พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น“ไลน์” ประมาณ 33 ล้านคน โดยมีการส่งข้อความวันละเกือบ 40 ล้านข้อความ และได้แจ้งว่ากระทรวงไอซีทีสามารถสอดส่องตรวจดูได้หมดว่ามีการส่งต่อข้อความประเภทไหนบ้างในแอพพลิเคชั่น“ไลน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหมิ่นประมาท ข้อความหมิ่นสถาบันและข้อความที่มีผลกระทบด้านความมั่นคงซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษ ต่อมาทางด้านบริษัท LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า LINE ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ได้ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และในทางสากลก็มีกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ใช้ LINE คุ้มครองอยู่ หากทางการไทยประสานมาที่ LINE ประเทศไทยเพื่อจะขอข้อมูลผู้ใช้ก็จะต้องมีหมายศาลมาที่ทาง LINE และติดต่อไปที่ LINE ประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแม่ก่อน แต่ยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแม่ด้วยว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติ การที่จะขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จึงจะมีหลายขั้นตอนในการติดต่อระหว่างประเทศ อีกทั้งนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ทางไลน์แจ้งไว้กับผู้ใช้ก็ระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆของผู้ใช้หากไม่ได้รับความยินยอมอีกด้วย

ข้อกล่าวอ้างขอทางไลน์ในประเด็นข้อมูลส่วนตัวนั้นก็ถูกต้องอยู่และมีกฎหมายไทยรองรับว่า ผู้ใช้บริการย่อมได้รับความคุ้มครองในสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 35 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแง่มุมในการใช้เครื่องมือเพื่อสื่อสารในโลกออนไลน์ทั้งสองด้านได้เป็นอย่างดี กล่าวคือทางผู้ที่ตรวจสอบควบคุมไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องคอยติดตามและหาหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดเพราะปัจจุบันแต่ละวันมีการส่งข้อความประเภทนี้จำนวนมากเช่นกัน ส่วนที่ไลน์ประเทศไทยออกมากล่าวเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเพราะว่าตามหลักสากลแล้วในสังคมเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน (As a Right of the Person) โดยการกำกับดูแลสิทธิส่วนบุคคลเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองความเสี่ยงประเภทต่างๆ ในระบบการทำธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถให้ความมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัย การรักษาข้อมูล หลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทางบริษัทไลน์ย่อมยึดถือเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญในการให้บริการ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าการขอตรวจสอบข้อมูลจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่ ผู้ใช้บริการพึงระมัดระวังในการที่จะส่งต่อข้อมูล Social Media ใดๆทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นการแชร์เรื่องราวจาก Facebook  หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความต่อกันทางไลน์โดยควรจะตรวจสอบก่อนว่าเรื่องดังกล่าวนั้นมีแหล่งที่มาจากไหนและมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เพราะการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหาย หลอกลวง ปล่อยข่าวลือให้เกิดความตื่นตระหนกต่อสาธารณะ หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นมาเผยแพร่จนทำให้เกิดความเสียหาย อาจมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่ห้ามนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน ข้อมูลที่ผิดกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงและการก่อการร้าย และข้อมูลที่เป็นเรื่องลามกอนาจาร โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงมาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดอันเนื่องมาจากการนำภาพของผู้อื่นมาตัดแต่งต่อเติมแล้วเผยแพร่ในลักษณะที่ทำให้บุคคลนั้นได้รับความเสียหาย อับอาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ทำให้ผู้ที่เผยแพร่นั้นโดนฟ้องเป็นคดีอาญาได้ ขณะที่สื่อมวลชนซึ่งทำการเผยแพร่ต่อไปก็ดีหรือผู้ที่ส่งต่อข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดข้างต้นก็ดี ถือว่ามีความผิดด้วยและมีโทษเท่ากับตัวการผู้ผลิตข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความผิดข้างต้นก็มีความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากใครได้รับการส่งต่อข้อความประเภทนี้ สามารถนำข้อความนั้นไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ในการไปตรวจสอบหาต้นตอที่ส่งมาได้  ส่วนกรณีที่หากมีการจับกุมแล้วผู้ต้องสงสัยอ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั้นอาจจะฟังได้ยากเพราะตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นคนที่สมรู้ร่วมคิด ดังนั้นทางที่ดีทุกคนไม่ควรส่งต่อข้อความที่สุ่มเสี่ยงและอาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือข้อความที่มีลักษณะพาดพิงถึงบุคคลที่สามที่อาจทำให้ได้รับความเสียหายได้

นอกจากการส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อความที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายข้างต้นแล้ว ด้วยในยุคสมัยที่ข้อมูลต่างๆถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือการใช้ “สื่อสังคมออนไลน์” (Social Media) เพื่อจุดกระแสบางอย่างในสังคม หากแต่มิได้ทำอย่างตรงไปตรงมาจนหลายครั้งทำให้ผู้รับสื่อเกิดความสับสน ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อหลักทั้งไทยและต่างประเทศ ที่นำไปขยายความต่อโดยอาจจะไม่ได้ตรวจสอบต้นตอหรือจุดประสงค์ให้ดีเสียก่อน ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิดๆได้ โดยที่เห็นกันบ่อยๆเช่นกลยุทธ์การโฆษณาแบบ “ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง” (Viral Marketing) หรือการสร้างกระแสขึ้นมาสักอย่างหนึ่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เมื่อผู้รับสื่อเห็นแล้วก็จะนำไปบอกต่อกับคนอื่นๆโดยไม่ว่าจะบอกต่อในแง่ใดก็ตาม การใช้กลยุทธ์โฆษณาแบบไวรัลมาร์เก็ตติ้งนี้ในหลายกรณีแม้จะไม่ผิดในแง่กฎหมาย แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและการนำเสนอที่ชวนให้คนเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นคนเสพสื่อออนไลน์ในยุคนี้จึงต้องใช้วิจารณญาณขั้นสูงก่อนแชร์ข้อมูลออกไป เพราะข่าวสารแต่ละเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้ยากมากขึ้น แม้จะมีทั้งให้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แต่ก็ยังมีอีกหลายเนื้อหาที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมในการปล่อยข่าวเพื่อโจมตีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ร้ายบุคคลอื่นจนอาจทำให้เราหลงเชื่อไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นผู้ใช้บริการควรตรวจสอบข้อมูลจากสื่อหลายๆแหล่งหรือตรวจสอบที่มาของข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะหลงเชื่อ รวมทั้งไม่ส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูลในทันทีจนกว่าจะมีการยืนยันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแชร์โดยไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลเสียให้เรารับรู้ข้อมูลแบบผิดๆแล้วยังจะเป็นการส่งต่อข้อมูลผิดๆเหล่านั้นไปให้ผู้อื่นหลายคน และที่สำคัญก็คือทำให้เรากลายเป็นผู้ทำผิดตามกฎหมายไปอีกด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *