"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ลดค่าบริการ 3G

ลดค่าบริการ 3G

ลดค่าบริการ 3G

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลังจากปรากฏการณ์เปิดบริการ 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz อย่างเป็นทางการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 รายเมื่อวันที่ 7 – 8 – 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นกับการมี 3G เพื่อติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการอย่างเช่นประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในการเปิดตัว 3G ของแต่ละค่ายนั้นต่างก็ชูจุดเด่นที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในด้านคุณภาพการให้บริการ ด้านการเป็นผู้ให้บริการที่มีแบนด์วิธกว้างที่สุดหรือแม้แต่การเปิดให้บริการ 3G พร้อมกับ 4G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เป็นรายแรกของประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนผู้บริโภคคาดหวังในขณะเดียวกันก็คืออัตราค่าบริการที่ไม่สูง

สำหรับอัตราค่าบริการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเรียกเก็บจากผู้บริโภคในการให้บริการ 3G ได้นั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นไว้ในประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประมูล 3G ว่าผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและต้องจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนด ซึ่งในเวลาต่อมา กสทช. ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตให้บริการ 3G กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องลดค่าบริการลงจากเดิมโดยเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยประเภทเสียง (Voice) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (Non Voice) ที่มีการให้บริการในตลาด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555

ปรากฏว่าในช่วงเริ่มแรกของการเปิดให้บริการ 3G นั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงไม่ได้ปรับลดราคาลงตามที่ กสทช. กำหนด โดยจะเห็นได้จากรายการส่งเสริมการขายหรือโปรโมชั่นที่ยังคงเป็นอัตราเดิม แต่ผู้ให้บริการได้ให้เหตุผลว่าได้เพิ่มสิทธิประโยชน์และความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล (Data) ให้มากกว่า 15 % แทนการลดราคาแล้ว ทำให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์จากฝ่ายผู้บริโภคและสื่อมวลชนอันนำมาซึ่งการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 รายกับ กสทช. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท้ายที่สุดได้ผลสรุปร่วมกันว่าผู้ประกอบการทุกรายจะลดราคาค่าบริการ 3G ลงร้อยละ 15 และจะไม่ใช้การเสนอสิทธิประโยชน์ภายใต้ราคาเดิมอีกต่อไปแล้ว โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS จะเริ่มปรับราคาการให้บริการ 3G ทุกรายการตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคมเป็นต้นไป บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือ TRUEMOVE จะเริ่มปรับอัตราค่าบริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป ส่วนบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ DTAC คาดว่าจะปรับราคาลดลงในเดือนมิถุนายนเช่นกัน ทั้งนี้การลดค่าบริการ 3G ของผู้ประกอบการทั้ง 3 รายนั้นจะครอบคลุมทั้งแพ็คเกจการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมและ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz ด้วย จึงนับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ

ส่วนการออกประกาศกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสำหรับบริการ 3G นั้นน่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 14-16 เดือนหลังจากการเปิดให้บริการ เนื่องจาก กสทช. ต้องเก็บข้อมูลต้นทุนค่าบริการภายหลังการเปิดให้บริการจริงก่อนจึงจะสามารถคำนวณและกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าบริการอาจมีการปรับลดลงเร็วกว่าที่กำหนด เนื่องจากตัวแปรสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงนั้น คืออัตราค่าตอบแทนในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือ Interconnection Charge (IC) แต่หากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายสามารถเจรจาลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันได้ให้มีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าเชื่อมต่อชั่วคราวที่ กสทช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ใช้อยู่ในขณะนี้สำหรับ 3G ที่นาทีละ 45 สตางค์กับ 2G ซึ่งอัตราค่าเชื่อมต่ออยู่ที่นาทีละ 1.70 บาท จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายแล้วอัตราค่าบริการ 3G อาจลดลงมากกว่า 15 % ด้วย

อย่างไรก็ดีเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ยังไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะสามารถใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz ได้ในทันที แต่หากลูกค้าที่ใช้บริการอยู่กับทั้ง 3 ค่ายนั้นต้องการรับบริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ใหม่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 วิธีนี้ คือเลือกโอนย้ายบริการจากคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่เดิมไปยังคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz ด้วยเลขหมายเดิม หรือที่เรียกว่า “การย้ายค่ายเบอร์เดิม” ภายใต้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability : MNP)

เนื่องจากบรรดาบริษัทผู้ให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในปัจจุบันนั้นแม้จะเป็นบริษัทลูกของบรรดาบริษัทผู้ให้บริการรายเดิมแต่ก็ถือว่าเป็นอีกบริษัทหนึ่งหรืออีกนิติบุคคลหนึ่ง ดังนั้นหากผู้ใช้บริการต้องการนำเลขหมายเดิมไปใช้บนเครือข่าย 3G ก็ต้องทำเรื่องขอใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. จึงได้มีมติให้ระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ขยายประสิทธิภาพให้สามารถรองรับบริการได้ถึง 40,000 เลขหมายต่อวันแล้ว นอกจากนี้ กสทช. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกำหนดค่าธรรมเนียมในการย้ายค่ายเบอร์เดิมให้ลดลงจากเดิม 99 บาทต่อครั้ง เหลือ 39 บาทต่อครั้งเป็นเวลา 2 เดือนและยังจะให้ลดอีกในภายหลังเหลือเพียง 29 บาทต่อครั้ง อีกทั้งยังระบุเงื่อนไขการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินไปใช้บริการ 3G ว่าจะต้องมีการยืนยันตัวบุคคลโดยใช้ข้อมูลบัตรประชาชนทุกครั้งเพื่อเป็นมาตรการป้องปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อีกด้วย

สำหรับอีกวิธีหนึ่งในการใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz คือผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับ Sim Card ใหม่ที่สามารถเปิดใช้งานได้ทันทีภายใต้เลขหมายใหม่นั่นเอง

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร