"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในสังคมยุคปัจจุบันเรามักจะติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกผ่านช่องทางออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตมากกว่าที่จะอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์อย่างในสมัยก่อนอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ผู้คนติดต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตและข่าวสารส่วนใหญ่ก็มักจะลงในอินเตอร์เน็ตด้วยเพื่อความรวดเร็วและการติดตามที่ทันเหตุการณ์ การแพร่กระจายของเนื้อหาข่าวที่รวดเร็วนี้ถึงแม้ว่า จะทำให้ผู้คนเสพข่าวและรู้ทันสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเสพข่าวออนไลน์รวมถึงการกระจายข่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือความสะดวกหรือง่ายดายของการลงข่าวและแชร์ข่าวนั้นต่อไปส่งผลให้ผู้แชร์ไม่ได้ตรวจสอบที่มา แหล่งข่าวและความน่าเชื่อถือของข่าวอย่างละเอียด จนบางครั้งอาจสร้างความเสียหายให้ผู้ที่เป็นข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ในกระบวนการของการป้องกันและนำเสนอแนวคิดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนรวมทั้งสื่อในการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้มีการจัดงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ ในหัวข้อ “เสพข่าวออนไลน์แบบผิดๆ ใครรับผิดชอบ” โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้ความเห็นในเรื่องการนำเสนอและบริโภคข่าวออนไลน์ ว่าปัจจุบันการสื่อสารผ่านออนไลน์ช่วยทลายการปิดกั้นและข้อจำกัดของการสื่อสารจากอำนาจรัฐและ ทุนนอกจากนี้สถานภาพของการเป็นแหล่งข่าวมีความแตกต่างจากเดิมที่ในอดีตชาวบ้านทั่วไปต้องรอนักข่าวนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ แต่ทุกวันนี้สามารถให้ข้อมูลความเห็นผ่านพื้นที่ออนไลน์ของตนได้ การนำเสนอมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น หลายครั้งสามารถนำเสนอจากจุดเกิดเหตุ ณ วินาทีเกิดเหตุได้ทันที แต่บางครั้งก็ล้ำเส้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เกิดการละเมิด สร้างความเสียหายในวงกว้าง อีกทั้งการฉับไวในการรายงานข่าว ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย หากไม่มีการตรวจสอบข่าว จึงจะเห็นได้ว่าการเสพข่าวออนไลน์อาจมีข้อเสียได้หากเราไม่ระมัดระวังและรอบคอบ

ปัญหาการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือแม้กระทั่งข้อมูลสำคัญนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลเช่นนี้ การที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนเราส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้งกัน หรือแม้กระทั่งการที่สื่อนำเสนอข่าวโดยเปิดเผยชื่อและใบหน้าของผู้เสียหาย เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อข่าวเหล่านั้นถูกแชร์กันต่อไปในโลกออนไลน์ก็ย่อมจะเป็นการยากที่จะแก้ไขความเสียหายได้ทัน ปัญหาจากการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์จึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในแง่ของสื่อมวลชนจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลในข่าว ระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาข่าวหรือไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมีการควบคุมโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเฝ้าระวังและให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากขึ้น อีกทั้งควรจะมีการออกกฎหมาย และกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาดังกล่าว ส่วนในด้านผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตซึ่งอาจเป็นผู้ที่รับผลกระทบนั้นควรสอบถามและตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของตนเองในบริการออนไลน์ที่ใช้ว่ามีการคุ้มครองที่มากพอหรือไม่ รวมทั้งแจ้งต่อผู้ให้บริการทราบถึงความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวในการใช้บริการเหล่านั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลระบบที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรทำความเข้าใจการทำงานของบริการออนไลน์ที่ใช้ว่าจัดเก็บและมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร สิ่งที่ควรตระหนักก็คือเมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว การลบทิ้งโดยสมบูรณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย ฯลฯ เป็นของเจ้าของข้อมูลนั้น การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวซึ่งอาจได้รับโทษตามกฎหมาย

ในเรื่องโทษและการควบคุมทางกฎหมายนั้นประเทศไทยยังไม่มี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงต้องพิจารณาข้อมูลว่าเป็นประเภทใด มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของรัฐ สามารถใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หากเป็นการลงข้อความเท็จ หมิ่นประมาทหรือตัดต่อภาพลงอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32, 33, 35, 36 ก็ได้รับรองสิทธิในความเป็นส่วนตัวในหลายด้าน แม้จะพิจารณากฎหมายที่มีบทบาทในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเหมือนดังเช่นประเทศสิงคโปร์ที่ได้ออก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ The Personal Data Protection Act (PDPA) ซึ่งได้ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 แต่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อไม่นานมานี้โดยกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยแต่ละองค์กรจะต้องจัดให้มีระบบรักษาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจะต้องไม่เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือทางกฎหมายอีกต่อไป นอกจากนี้องค์กรจะต้องมีบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล (data protection officer) เพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำหรับตัวบุคคลนั้นยังมีสิทธิเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มีการเก็บรวบรวมไปอีกด้วย ซึ่งในอนาคตประเทศไทยน่าที่จะมีร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ด้วยเหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์

แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองของสื่อมวลชนนั้นอาจจะมีความเห็นที่ต่างออกไป กล่าวคือเห็นว่าการใช้กฎหมายก็ไม่ควรจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารมากจนเกินไปถึงขนาดตัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งกฎหมายบางฉบับอาจจะตีความเนื้อหาครอบคลุมเกินไปจนทำให้ ผู้ลงข้อความ สื่อมวลชนรวมถึงสำนักพิมพ์มีโอกาสสูงที่จะถูกดำเนินคดีได้ตลอดเวลาทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นการร่วมพูดคุยสร้างความเข้าใจรวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความพอดีหรือความสมดุล และเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายสื่อมวลชน ฝ่ายผู้เสพข่าว และที่สำคัญคือฝ่ายผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่อง เจ้าของข้อมูล หรือบุคคลในข่าวด้วยว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *