"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ค่าโทร ใน-นอกเครือข่ายต่างกัน??

ค่าโทร ใน-นอกเครือข่ายต่างกัน??

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างออกแพคเกจ ค่าโทร ในเครือข่ายเดียวกันถูกกว่าโทรนอกเครือข่าย ขณะที่ผู้ใช้บริการก็มักจะไม่ทราบว่าบรรดาเลขหมายที่โทรออกไปนั้นอยู่ภายในหรือนอกเครือข่าย บทความฉบับนี้จะได้วิเคราะห์ข้อกฎหมายกันว่า ค่าโทร ในเครือข่ายกับโทรนอกเครือข่ายนั้นจะต่างกันได้หรือไม่

การที่บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือกำหนดให้เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจาก ในการโทรข้ามโครงข่ายนั้นจะมีอัตราค่าเชื่อมต่อข้ามโครงข่ายหรือ Interconnection Charge หรือ ค่า IC ซึ่งเป็นการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้โครงข่ายฝ่ายรับได้รับผลประโยชน์จากการติดต่อสื่อสารในครั้งนั้นด้วย โดยทางโครงข่ายต้นทางจะเป็นผู้จ่ายค่า IC ให้กับโครงข่ายฝ่ายรับ ซึ่งจะส่งผลในทางอ้อมกับผู้ใช้บริการโครงข่ายเพราะต้นทุนค่าติดต่อสื่อสารจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าใช้บริการอาจจะต้องเพิ่มตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีประกาศ กทช. (ซึ่งก็คือ กสทช. ในปัจจุบัน) กำหนดให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการโทรใน-นอกเครือข่ายราคาเดียว โดยสาระหลักของคำสั่งดังกล่าวที่มีการออกในยุคของ กทช. ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 คือ ห้ามผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการจัดทำรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) โดยหากพบว่าผู้ประกอบกิจการรายใดฝ่าฝืน ให้สำนักงาน กสทช. กำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดต่อไป

ประกาศดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์หลายรายเช่น บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2555 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กสทช. ที่ห้ามเรียกเก็บเงินค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกันดังกล่าวข้างต้น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้นศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าคำสั่ง กสทช. กรณีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะเหตุว่าการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าบริการโทรคมนาคมในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) กับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) เป็นการขัดต่อมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และข้อ 17 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 19/2553 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 เรื่อง ห้ามเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน โดยข้ออ้างอื่นๆ ที่บริษัทดิจิตอลบรรยายในฟ้องนั้น ศาลเห็นว่าไม่อาจรับฟังได้

ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ในชั้นนี้จึงถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ผลของคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลว่าคำสั่งของ กทช. ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ และผู้ประกอบกิจการต้องอยู่ใต้บังคับ

นอกจากคดีความของบริษัทดังกล่าวข้างต้นที่ศาลปกครองได้ยกฟ้องไปแล้ว บริษัทผู้ประกอบการรายอื่นๆเช่น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็ได้ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศดังกล่าวเช่นกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องดังเช่นคดีก่อนหน้านี้ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวของ กทช. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนประเด็นผลกระทบ และความเสียหายต่างๆ จากการออกคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างนั้นไม่อาจรับฟังได้ โดยศาลชี้ชัดว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการ แต่ตรงกันข้ามกลับถือเป็นการสนับสนุนให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อหลักการกำกับดูแลค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นบริการสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในการแข่งขันและเข้าถึงบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพมากที่สุด

การที่ศาลปกครองกลางเห็นว่าคำสั่งของ กทช. หรือ กสทช. ฉบับดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นเพราะเมื่อผู้ประกอบการรายใดสามารถทำได้โดยอาจยอมมีกำไรที่ลดลงเพราะต้องทำให้ค่าบริการนอกโครงข่ายเท่ากับค่าบริการในโครงข่าย ย่อมได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการและมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่าคำสั่งดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคในเรื่องของการมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือต่างกัน และไม่ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภาระที่ต้องคอยตรวจสอบว่าเลขหมายปลายทางนั้นเป็นเลขหมายที่อยู่ในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือไม่เพราะไม่ว่าจะโทรในโครงข่ายเดียวกันหรือต่างกันก็ไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการก็ตาม แต่หากเรามาวิเคราะห์ถึงผลจากการปรับค่าบริการให้เท่ากันทั้งใน-นอกเครือข่ายดังกล่าวแล้วจะพบว่าคำสั่งดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ค่าบริการเฉลี่ยทั้งการโทรภายในเครือข่ายและนอกเครือข่ายนั้นสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเพราะผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับลดราคาค่าบริการโทรนอกเครือข่ายให้ลดลงเท่ากับค่าบริการโทรในเครือข่าย ทำให้ค่าบริการโดยรวมสูงขึ้น ผู้ใช้บริการจึงอาจจะต้องจ่ายค่าบริการในเครือข่ายที่สูงเกินควร ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำได้โดยการลดค่า IC ลงเพราะหากอัตราค่าไอซียังคงเดิม เมื่อมีการปรับกติกาให้คิดอัตราค่าบริการโทรใน-นอกเครือข่ายเป็นอัตราเดียว การกำหนดราคา ค่าโทร ภายในเครือข่ายต่ำๆ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องเป็นการกำหนดอัตรา ค่าโทร แบบเฉลี่ยระหว่างการโทรข้ามเครือข่ายกับภายในเครือข่าย

สำหรับการคิดค่า IC ในประเทศไทย กทช. ได้กำหนดให้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามที่คู่กรณีเจรจาตกลงซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ได้ใช้รูปแบบ CNPN (ให้คนโทรออกเป็นคนจ่าย) โดยกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในส่วนการรับสายเรียกเข้าในอัตราประมาณ 45 สตางค์ต่อนาที อันเป็นผลมาจากการปรับลดค่า IC ลงของ กสทช. และการประกาศใช้อัตราขั้นสูงค่าบริการโทรศัพท์มือถือห้ามเกินนาทีละ 99 สตางค์ ซึ่งทำให้ค่า IC หรือค่าเชื่อมโยงโครงข่ายนั้นมีอัตราถูกลง แสดงให้เห็นว่าค่า IC นั้นมีผลต่อค่าบริการมือถือโดยรวม ซึ่งหากในอนาคตมีการปรับแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมจะส่งผลให้ค่าบริการโทรศัพท์ถูกลงมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการในประเทศไทยต่อไป

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *