"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

บรอดแบนด์สู่ชุมชน

บรอดแบนด์สู่ชุมชน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในโลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและการติดต่อระหว่างผู้คนทั่วทั้งมุมโลกเข้าหากันคืออินเทอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้นอินเทอร์เน็ตธรรมดาก็คงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นได้ แต่สิ่งที่จะตอบสนองได้คือ “บรอดแบนด์”

บรอดแบนด์ (Broadband) คือ เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากผ่านสื่อใช้สายและไร้สาย กรณีสื่อใช้สาย เช่น เคเบิลใยแก้วนำแสง สายเคเบิลทีวี สายโทรศัพท์ (DSL) หรือสื่อไร้สายอย่าง 3G 4G โดยความเร็วของการรับส่งข้อมูลอย่างน้อยที่สุดจะอยู่ที่ 256 kbps ไปจนถึงมากที่สุดถึง 100 ล้าน bps ขึ้นไป

ในอดีตก่อนที่จะมีบรอดแบนด์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้เพียงวิธีการเดียว คือการใช้โทรศัพท์เรียกเข้า (Dial-up) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 – 30 นาทีในการดาวน์โหลดเพลง 1 เพลงที่มีขนาดเพียง 3.5 MB และกว่า 28 ชั่วโมงเพื่อดาวน์โหลดภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นในระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังห้ามใช้สายโทรศัพท์บ้านอีกด้วย จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2543 จึงเริ่มมีการใช้บรอดแบนด์กันขึ้น แต่ราคายังอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะจ่ายได้ ปัจจุบันนี้การเข้าถึง บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ในสังคมเมืองกลายเป็นเรื่องทั่วๆ ไปและมีราคาไม่แพง อย่างไรก็ดีสำหรับในชุมชนที่ห่างออกไปนั้น บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ยังคงไม่ใช่เรื่องที่จะซื้อหากันได้ง่ายนัก

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้น อาทิ โครงการ Free Wi-Fi ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือกระทรวงไอซีที และศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนหรือ USO NET ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทั้งการวางนโยบายภาครัฐ รวมไปถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าด้วย

อย่างไรก็ดีเพื่อให้ชุมชนได้เข้าถึง บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการประธาน กสทช. ได้เปิดเผยว่า กสทช. มีแผนส่งเสริมให้เกิด บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ชุมชนขึ้น โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิธีดำเนินงานในชุมชนทั่วประเทศเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในชุมชน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตภายในชุมชนอย่างตรงจุด ตอบสนองการใช้งานของชุมชนตนเอง โดยชุมชนเป็นเจ้าของและสามารถบริหารจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยหน่วยงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือบุคลากรในพื้นที่ โดยไม่ต้องรอส่วนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่อีกต่อไป โดย กสทช. เล็งเห็นว่าบรอดแบนด์ในชุมชนจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาเหล่านั้นอย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นประโยชน์ด้านการศึกษา ตลอดจนการสร้างงานในชุมชน

การทำบรอดแบนด์ชุมชนเคยมีตัวอย่างมาแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากเดิมในปี ค.ศ. 2000 มีเพียงประชากรร้อยละ 3 เท่านั้นที่เข้าถึงการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่บ้าน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 ภาครัฐมีนโยบายให้ผลักดันชาวอเมริกาทุกคนให้เข้าถึงบริการบรอดแบนด์ให้ได้
โดยพยายามออกพระราชบัญญัติเพื่อไปแก้กฎหมายของบางรัฐที่ห้ามส่วนปกครองท้องถิ่นมีโครงข่ายบรอดแบนด์เป็นของตนเอง หรือในบางรัฐมีโครงข่ายได้ แต่ห้ามนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะไม่สามารถออกใช้บังคับได้เนื่องจากมีการคัดค้านจากกลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายรายใหญ่ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่ครัวเรือนชาวอเมริกันมีค่าบริการบรอดแบนด์โดยเฉลี่ยที่พอจะจ่ายได้ และเริ่มต้นการพัฒนาที่เข้มแข็งกับการเชื่อมต่อที่รวดเร็วควบคู่ไปกับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 2010 ประชากรชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 66 เข้าถึง บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ได้และในขณะเดียวกันทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบการใช้โทรศัพท์เรียกเข้า (Dial-up) ในปีดังกล่าวเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในปี 2556 เกี่ยวกับการเข้าถึงบรอดแบนด์ในอีก 33 ประเทศด้วยว่าความเร็วของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์มีผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัว ซึ่งจากรายงานที่จัดทำโดยบริษัท อีริคสันร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์สนั้นพบว่า การเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตจาก 4 mbps เป็น 8 mbps ทำให้ประชากรในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้สูงขึ้น 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ในขณะที่การเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตจาก 0.5 mbps เป็น
4 mbps ทำให้ประชากรในกลุ่มประเทศบราซิล อินเดีย และจีน มีรายได้สูงขึ้น 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน

ผลสรุปของรายงานการศึกษาทำให้เราเห็นว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์มีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ความเร็วของอินเตอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานสรุปว่าการเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตทุกๆ ร้อยละ 10 จะส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 1 เลยทีเดียว

เมื่อพิจารณาผลการศึกษาแล้วจะเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างผลักดันนโยบายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับทุกคน และทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับครัวเรือน การสร้างบรอดแบนด์ให้กับชุมชนนี้จึงนับเป็นความพยายามก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของ กสทช. ในการยกระดับประชาชนของประเทศ

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *