"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ประมูลคลื่นใดใช้ 4G?

ประมูลคลื่นใดใช้ 4G?

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เทคโนโลยีทางการสื่อสารและโทรคมนาคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญเทียบเท่ากับระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารนั่นก็คือ คลื่นความถี่ที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม แม้ประเทศไทยจะเริ่มใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมแบบ 3G มาได้ไม่นาน แต่คนไทยก็อาจได้ใช้เทคโนโลยีที่มีพัฒนาการและประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก ที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีรุ่นที่ 4 หรือ 4G Long Term Evolution (LTE) อย่างเต็มรูปแบบและเนื่องจากปีนี้จะมีการ ประมูลคลื่น ความถี่ซึ่งผู้ที่ประมูลได้สามารถนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ได้ บทความฉบับนี้จะได้มาติดตามความคืบหน้าว่าจะมีการ ประมูลคลื่น ความถี่ในย่านใด ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางและเป็นข่าวใหญ่อยู่ในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า คณะกรรมการอนุมัติแผนงานให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มต้นประมูล 4 จีทันที หลังจาก คสช. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม หรืออีก 5 เดือน โดยการประมูล 4จีจะให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งต้องนำมารายงานคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้ จึงให้ กสทช. พิจารณาว่ามีคลื่นไหนที่จะนำมาประมูลได้บ้าง ซึ่ง กสทช.สามารถนำคลื่นตั้งแต่ 900 MHz-2600 MHz มาจัดประมูลได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม ซึ่งที่ประชุม กสทช.มีมติให้นำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัท DPC ซึ่งจะหมดสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ออกประมูล 4G ด้วย โดยราคาเริ่มต้นการประมูลจะอยู่ที่ 11,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต แต่ต้องให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่ได้ว่าจ้างดำเนินการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่อีกครั้ง ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เดิมอยู่ในความครองครองของบริษัท ทรูมูฟ ซึ่งหมดสัญญาสัมปทานกับ CAT แล้วนั้น กสทช.เตรียมประมูลไว้แล้ว โดยจะประมูลใบอนุญาต 2 ใบ ราคาเริ่มต้นที่ 11,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการฯยังได้มีการเสนอให้ ประมูลคลื่น ย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz อยู่ในการครอบครองของ อสมท จำกัด (มหาชน) จึงอาจมีปัญหาเรื่องการขอคืนคลื่นดังกล่าว รวมไปถึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทาง อสมท. ด้วย เช่นเดียวกับการเสนอให้ ประมูลคลื่น ความถี่ย่าน 2300 MHz อันอยู่ในความครอบครองของ TOT อยู่ในปัจจุบันที่อาจเกิดปัญหาเดียวกัน ซึ่งการเรียกคืนความถี่ย่านดังกล่าวอาจต้องใช้วิธีการทางศาลซึ่งใช้ระยะเวลานาน ทาง กสทช. จึงมีความเห็นว่าอาจจะไม่สามารถเตรียมการ ประมูลคลื่น อื่นนอกจากคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz ได้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในแผนงานมาก่อน

ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่าการใช้คลื่นความถี่ 2600 MHz นั้นจะช่วยรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการที่มีมากขึ้นเพราะต่อไปมีจำนวนผู้ใช้ Data มากขึ้นเรื่อยๆ ความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน เพราะทั้ง 2 ย่านรวมกันมีแบนด์วิธ 45 MHz เท่านั้น ความถี่ย่าน 2600 MHz มีแบนด์วิธที่ว่างอยู่ และ อสมท. ไม่ได้ใช้งาน และมีแบนด์วิธมากถึง 128 MHz ดังนั้น จึงเป็นความถี่ที่เหมาะสม และเพียงพอสำหรับการเดินตามนโยบาย Digital Economy ของประเทศ แต่ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz อาจไม่เหมาะกับการเอามาประมูลทำบริการมือถือ 4G เพราะความถี่ย่านนี้ใช้งานด้านรับส่งข้อมูลเป็นหลักและมีประสิทธิภาพการใช้งานด้านเสียงต่ำ นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องที่รองรับได้มีน้อยกว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จึงมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแล้วพบว่า “การทำสัญญาสัมปทานของ อสมท บนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เกิดขึ้น ในปี 2554 หลังจากที่มี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นระบบใบอนุญาตโดย กสทช.เท่านั้น การกระทำของ อสมท. จึงขัดต่อกฎหมาย แต่ อสมท. ก็ใช้สิทธิยื่นข้อโต้แย้งมาที่ กสท. ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วมระหว่าง กสท.และ กทค.คาดจะรู้ผลใน 1-2 เดือน” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวในประเด็นนี้

สำหรับคุณสมบัติของแอลทีอี (LTE) หรือ 4G นั้นจะมีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps ซึ่งในยุค 4G นี้ถือว่าเป็นยุคที่ถูกพัฒนาก้าวมาอีกขั้น ตอบสนองการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายดีขึ้น สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิม และสามารถใช้โปรแกรมมัลติมีเดียได้อย่างเต็มที่ เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรมต่างๆ ในระดับความคมชัดสูง โหลดหนัง ฟังเพลง ได้โดยไม่สะดุด และยังสามารถอัปโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูลที่มีขนาดไฟล์ใหญ่โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน โดย 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ช่วยสนับสนุนให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเกิดการซื้อขายในรูปแบบใหม่ทางอินเตอร์เน็ต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยเติบโต ทั้งยังสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงการรองรับข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น

ในส่วนภาครัฐสิ่งที่ได้จากการประมูล 4G คือเงินรายได้ที่จะนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ทำให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าระดับสากล เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ หากโชคดีกว่านั้น ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการมีโอกาสในเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง (Access) เชื่อมต่อ (Connectivity) และทำให้การบริการหรือข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล (Digitization) กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมมีพลวัตเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

ในเรื่องของการจัด ประมูลคลื่น ความถี่ดังกล่าว ประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือการกำหนดราคาขั้นต่ำการประมูลใบอนุญาตที่เป็นสิ่งสำคัญเพราะการตั้งราคาที่เหมาะสมย่อมจะก่อให้เกิดผลดีกับรัฐเองและย่อมส่งผลดีมาถึงประชาชนด้วย จึงควรมีการตั้งราคาขั้นต่ำการประมูลที่เหมาะสมโดยไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป โดยมีผู้เสนอความเห็นในประเด็นนี้หลายราย เช่นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งประสงค์จะเข้าร่วมประมูลด้วยและเตรียมเสนอกรอบการประมูลในส่วนของ CAT เองต่อคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย CAT มองว่าการประมูล 4G นั้น ใบอนุญาตควรเริ่มต้นที่ใบละ 5,000 ล้านบาท เพราะยิ่งราคาแพงผลกระทบก็จะตกกับผู้บริโภคเนื่องจากราคาใบอนุญาตก็คือต้นทุนขาหนึ่งที่ต้องรวมไปกับการให้บริการและคิดค่าบริการในอนาคต นอกจากนี้ควรต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเพดานค่าบริการ เพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำว่าไม่ว่าเอกชนรายใดที่จะเข้ามาประมูล จะต้องทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการที่มีราคาถูกและมีคุณภาพดีตั้งแต่ก่อนจะประมูล นอกจากนี้สมควรที่จะวางมาตรการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมดของผู้ประกอบการแต่ละรายโดยอาจจะตรวจสอบสถานะของผู้เข้าร่วมประมูลและเปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่เข้าร่วม เพื่อป้องกันการผูกขาดและลดการกักตุนหรือถือครองคลื่นความถี่โดยไม่ได้ใช้งานให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งสร้างความโปร่งใสให้กับการประมูลและมีตัวเลือกสำหรับผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *