"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนจบ)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนจบ)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ต่อเนื่องจากประเด็นด้านการแก้กฎหมายกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลในฉบับก่อนหน้านี้ ในฉบับนี้จะเป็นตอนจบที่เราจะได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขร่าง “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม” ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจและเป็นข่าวมากโดยเฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่หลายๆ คนเฝ้าจับตามอง

จากข้อสังเกตของบางฝ่ายที่ได้เคยมีมาในอดีตว่าการแยกบอร์ดใหญ่ออกเป็นสองบอร์ดย่อยของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติปี พ.ศ.2553 นั้นเป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีการประสานงานกัน ในร่าง พรบ. ฉบับใหม่นี้จึงจะมีการแก้ไขให้รวมกันทำงานเป็นบอร์ดเดียวโดยหวังว่าจะทำให้มีการประสานงานกันและมีการทำงานที่มีความเป็นเอกภาพกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งน่าจะช่วยให้การกำกับดูแลการสื่อสารในยุค convergence ทำได้ดีขึ้น แต่ทาง กสทช.นั้นก็ได้มีความเห็นแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวว่าการที่คณะกรรมการ กสทช. ถูกรวมให้ทำงานเป็นชุดเดียวจำนวน 11 คนนั้น อาจจะเป็นจำนวนที่มากเกินไป จึงควรมีการทบทวนจำนวนองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. ให้เหมาะสมด้วย ในขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังโต้แย้งว่าการกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยแบ่งออกเป็นสองคณะอาจมีความจำเป็นอยู่ในบางกรณีโดยเฉพาะในส่วนของกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งนี้เพราะกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เคเบิล ดาวเทียมเพิ่งปรับเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายเข้าสู่กระบวนการรับใบอนุญาตภายใต้กติกาเดียวกัน ประกอบกับการพิจารณาออกใบอนุญาตของกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินรายใหม่ ดังนั้นการกำกับดูแลงานด้านวิทยุและโทรทัศน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎกติกาต่างๆซึ่งมีบทบาทค่อนข้างมาก จึงต้องมีการสร้างหลักประกันว่าการวางระบบอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ภายใต้ระบบอนุญาตและการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองต้องไม่สะดุด และองค์กรกำกับดูแลยังคงทำหน้าที่ในการกำกับให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเดินหน้าไปอย่างดีได้

นอกจากนี้แล้วร่าง พรบ.ฉบับใหม่ยังกำหนดให้ กสทช. ต้องทำงานภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันมีที่มาจากการคัดเลือกกำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Soft Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge โดยกำหนดที่มาของคณะกรรมการจากหลายๆสาขาซึ่งบางส่วนมีที่มาจากฝ่ายการเมือง รวมไปถึงการคัดเลือกกรรมการจากองค์กรเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เช่นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงอาจทำให้เกิดประเด็นเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. ที่ควรเป็นหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งอิสระ แต่กลับต้องรับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลบางคนซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องที่ต้องมีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียกัน นอกจากนี้แล้วการเลือกคณะกรรมการที่มาจากฝ่ายการเมืองอาจเอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย เนื่องจากไม่มีกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีผู้เสนอเห็นควรให้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความขัดแย้งในบทบาทอำนาจหน้าที่ดังกล่าวหรือเสียความเป็นอิสระกับความเป็นกลางของคณะกรรมการ กสทช.

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่มีผู้ออกมาให้ความเห็นอย่างมากน่าจะเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เรื่องการประมูลคลื่นความถี่โดยกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดว่าการจัดสรรความถี่กระจายเสียง-โทรทัศน์สำหรับประกอบกิจการทางธุรกิจและความถี่โทรคมนาคมนั้น ให้ใช้วิธี “คัดเลือกด้วยการประมูล” แต่ในกฎหมายใหม่ใช้คำว่า “คัดเลือก” โดยตัดคำว่า “ประมูล” ทิ้งไป โดยจะให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาแผนบริหารคลื่นความถี่ว่าคลื่นใดเป็นคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะและคลื่นใดเพื่อบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคลื่นเพื่อบริการเชิงพาณิชย์นั้นจะเป็นอำนาจของกสทช.ในการจัดสรร โดยการจัดสรรนี้ร่างกฎหมายใหม่ระบุให้ใช้การ “คัดเลือก” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นการประมูลก็ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีที่จะไม่ให้ประมูลคลื่นความถี่ แม้ว่าในต่างประเทศหลายประเทศนั้นจะใช้วิธีอื่นในการคัดเลือกเช่น ใช้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่แบบ Beauty Contest หรือวิธีการเปรียบเทียบข้อเสนอของผู้ประสงค์จะรับใบอนุญาต โดยตั้งราคากลางแล้วให้ผู้ประกอบการแข่งกันเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและผู้บริโภคสูงสุดมาประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาตก็ตาม

ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ต้องประมูลก็ได้อ้างว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งเคยใช้การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล ในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดสรรแบบ Beauty Contest เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลับมองว่าวิธีการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะอาจมีปัญหาด้านการทุจริตตามมาซึ่งต่างจากวิธีประมูลที่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน อีกทั้งภาครัฐยังนำเงินจากการประมูลไปใช้บริหารประเทศได้ นอกจากนั้นวิธีการคัดเลือกยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจว่าจะใช้วิธีการอื่นใดๆก็ได้ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย อันจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์อย่างมหาศาลและคลื่นความถี่อาจตกไปอยู่ในมือผู้ที่ไม่ได้มีศักยภาพสูงสุด

เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่นั้น หลังจากที่ คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไป 1 ปี เพื่อแก้ไขกฎระเบียบทั้งหลายให้โปร่งใสและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ขณะนี้ใกล้ครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ทาง กสทช. รวมไปถึงรัฐมนตรี ICT ได้ออกมาแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวว่าการประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะเดินหน้าประมูลแน่นอน โดยหาก คสช. และคณะกรรมการด้านเตรียมความพร้อมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นชอบให้เดินหน้าประมูลได้ก่อนครบกำหนด กสทช.ก็จะใช้เวลาเตรียมการ 3-4 เดือน ในเรื่องนี้ยังมีข้อพึงพิจารณาว่าหากมีการจัดประมูล 4G ก่อนกลุ่มร่างกฎหมายดิจิทัลบังคับใช้ก็จะต้องใช้วิธีการประมูลตามกฎหมายปัจจุบัน แต่หากร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมาก่อนก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตามที่กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ผลการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) และธนาคารโลก (World Bank) บ่งชี้ว่าการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทุก 10% ของประชากร จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโตขึ้น 1.38% ของจีดีพี ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจถึง 3.6% เพราะการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจถูกลง ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร นั่นเป็นเพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุค Internet of Things และ M to M (Machine to Machine) ให้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อ สั่งการกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านคน ขณะที่บางประเทศกำลังทดลองระบบ 5G ส่วนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็จับมือกันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อสร้าง “มาตรฐานร่วม 4G แห่งเอเชีย” ให้รับส่งข้อมูลได้ 100 เมกะบิตต่อวินาที ดังนั้นจะเป็นการดีสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะจัดให้มีการประมูลคลื่น 4G โดยเร็วเพื่อให้ก้าวทันประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เพราะในปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านความรวดเร็วและคุณภาพของสัญญาณมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ความช้าหรือเร็วในการเกิดขึ้นของบริการโทรคมนาคมบนเครือข่าย 4G จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *