"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 1)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 1)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินข่าวมาพอสมควรเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับโดยหลังจากที่ร่างชุด กฎหมายดิจิทัล ทั้ง 10 ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมของ สนช. ต่อไปนั้นได้มีฝ่ายต่างๆออกมาแสดงความคิดเห็นโดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับกับไม่เห็นด้วย บทความนี้จึงจะได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นกันเป็นตอนๆ ไป

เมื่อเรามาวิเคราะห์ กฎหมายดิจิทัล ใหม่ทั้ง 10 ฉบับแล้วจะแยกกฎหมายออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิตอล กลุ่มคุ้มครองความมั่นคงทางไซเบอร์และกลุ่มที่แก้ไขโครงสร้างของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. โดยกฎหมายทั้ง 10 ฉบับประกอบด้วย 1) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญามากขึ้นรวมถึงการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ 2) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อลดปัญหาการกระทำความผิดทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดฐานกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในอนาคต 3) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการทำสงครามและโจมตีอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 4) ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองและบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่มีจำนวนมหาศาล โดยตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลให้กับประชาชน 5) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก เนื่องจากธุรกิจปัจจุบันและอนาคตเริ่มเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนเข้าไปช่วยดูแล 6) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานรูปแบบการสนับสนุน การให้ทุน ให้กู้ยืม แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง 7) ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากกิจการวิทยุโทรทัศน์และการสื่อสารดาวเทียมได้มีการพัฒนามาก และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิตอล ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจัดสรรคลื่นความถี่ต้องปรับปรุงบทบาท ภารกิจ การกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล 8) ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนดูแลการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 9) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้มีคณะกรรมการที่กำกับดูแลด้านดิจิตอลโดยตรง และ 10) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีมิติของภารกิจและความรับผิดชอบเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม

ร่างกฏหมายที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายที่มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านที่เป็นประเด็นมากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นร่างชุดกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ ฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวก็เน้นย้ำในจุดยืนที่ต้องการจะปูพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลและป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์มีเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่น การให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้เช่น มาตรา 35(3) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารในทุกๆทางได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และในประเด็นความห่วงใยเดียวกันนี้ยังมีมาตรา 10 ของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่ได้ขยายอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงบัญชี คอมพิวเตอร์ และระบบ โดยไม่ต้องขออำนาจศาล อีกทั้งเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ ได้ทันทีหากสงสัยว่ามีการกระทำความผิดโดยไม่มีหมายศาลอีกด้วย

หากมาพิจารณาหลักการและเหตุผลของแต่ละฝ่ายโดยละเอียดก็อาจเห็นว่าเป็นการมองต่างมุมที่ให้ความสำคัญในเรื่องที่แตกต่างกันเช่น เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายนี้คือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้องและทันสมัยรวมทั้งออกกฎหมายใหม่เพื่อมารองรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะมีการพัฒนาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีตและป้องกันปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์ที่นับแต่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคต อันจะทำให้ความเสี่ยงในการกระทำความผิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย จึงต้องการให้มีการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังและสามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ แต่เมื่อร่างกฎหมายฉบับข้างต้นออกมานั้น ฝ่ายที่คัดค้านกลับเห็นว่าไม่แน่ใจว่าเมื่อประกาศใช้จะเอื้อต่อการนำดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจริงเหมือนที่ตั้งเป้าหมายไว้แต่ต้นหรือไม่ แต่กลับสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจเนื่องจากการออกกฎหมายส่อปิดกั้นและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป ทำให้เสี่ยงต่อการที่นักลงทุนต่างชาติจะหวั่นเกรงจนไม่กล้าเข้ามาลงทุนหรือลดระดับความสนใจการลงทุนในประเทศไทย

ในขณะนี้ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์และยังไม่ได้บทสรุปกับเรื่องดังกล่าวเพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความคิดเห็นของตน ท่านผู้อ่านคงต้องใช้วิจารณญาณในการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของเหตุผลทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการออกกฎหมายใหม่นั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดหรือตรงประเด็นที่เคยเกิดปัญหาบ่อยๆกับไม่เป็นการเหวี่ยงแหครอบคลุมมากเกินไปเพราะการออกกฎหมายหนึ่งฉบับจะมีผลผูกพันระยะยาวและอาจไปกระทบกระเทือนสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนในส่วนอื่น จึงจะมองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งหรือเพื่อแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งคงไม่ได้ รวมทั้งอาจจะควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างรอบด้าน เพื่อไม่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองโดยการปราศจาการถ่วงดุลหรือการคานอำนาจ หรือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป อีกทั้งเพื่อจะได้เอื้อต่อการส่งเสริมและสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริงอีกด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *