"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการผลักดันความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้น นอกจากการขวนขวายใฝ่หาความรู้โดยปัจเจกบุคคลเองแล้ว รัฐย่อมเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเท่าเทียมหน่วยงานราชการที่สำคัญในการทำหน้าที่ผลักดันประชาชนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านไอที ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นต้น

ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้กำหนดนโยบายหรือแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไปแล้วจำนวน 2 ฉบับ แต่ละฉบับครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยฉบับที่ 2 มีผลใช้บังคับในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2556 ดังนั้นในปีนี้กระทรวงไอซีทีจึงได้มีการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 3 ขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไปในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2561 โดยบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เห็นภาพกับได้เข้าใจในระดับหนึ่งว่า ICT ของประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดและเราจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างไรได้บ้าง

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เป็นการดำเนินการตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะปี พ.ศ. 2554 – 2563 หรือ ICT 2020 ซึ่งเป็นกรอบใหญ่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยมุ่งสู่ Smart Thailand ในปี พ.ศ.2563 โดยกรอบ ICT 2020 นี้ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่วางไว้

แนวคิดสำคัญในการจัดทำแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 คือต่อยอดการพัฒนาจากแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาด้าน ICT ของประเทศไทย โดยยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งหลักการพัฒนาด้าน ICT แบบยั่งยืนนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ หลักธรรมาภิบาล (Governance) หลักความมั่นคงปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ (Cyber Security) หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน (Green ICT) หลักการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบและวิธีการด้าน ICT (Laws & Regulations Development) หลักการพัฒนาตามหลักเกณฑ์วุฒิภาวะด้าน ICT ที่เกี่ยวข้อง (Maturity Model) และหลักการพัฒนาที่ลงถึงระดับชุมชนและท้องถิ่น (Community & Region Based Development)

ในช่วงปีที่ผ่านมาแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบ Focus Group เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจํานวน 8 กลุ่มเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 การจัดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกมิติ โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่ม ประกอบไปด้วยกลุ่ม Government กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาสังคม กลุ่ม ICT Human Capital กลุ่ม Infrastructure กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กลุ่ม ICT กับสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ICT กับกลุ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และกลุ่ม ICT Industry ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นประธานนำการประชุม

ยุทธศาสตร์หลักที่ถูกกำหนดในแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ประกอบด้วยการพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ICT ของประเทศ (Participatory People) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มค่าและพอเพียง (Optimal Infrastructure) การพัฒนาระบบบริการของภาครัฐอย่างชาญฉลาด (Smart Government) การพัฒนาอุตสาหกรรม ICT และภาคธุรกิจที่รุ่งเรืองสดใส (Vibrant Industry & Business) โดยในแต่ละยุทธศาสตร์มีแนวคิดและแผนงานรองรับที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เข้าถึงและรู้เท่าทัน ICT เพื่อการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากบริการ ICT (Participatory People) ยุทธศาสตร์ที่ 1 นี้มีแผนงานหลักหรือโครงการเร่งด่วนในการศึกษามาตรฐานในการกําหนดวิชาชีพด้าน ICT เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากร ICT ระหว่างประเทศ ภายใต้ AEC/ASEAN และ APEC กับมุ่งส่งเสริมและยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนและศูนย์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันให้เป็นช่องทางและกลไกในการส่งเสริมทักษะแนวคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้าน ICT การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคบริการอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พอเพียง (Sufficient) และคุ้มค่า (Optimal Infrastructure) ยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การพัฒนาโครงข่ายหลักระหว่างประเทศ เพื่อสร้างแนวทางในการเป็นศูนย์กลางด้าน Logistics ของภูมิภาค ASEAN และ ASEAN บวกพันธมิตร รวมถึงการขยายจุดให้บริการและปรับปรุงคุณภาพ Free Wi-Fi ในที่สาธารณะโดยไม่คิดค่าบริการ ในพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และสถานที่อื่นๆ ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังมีแผนในการจัดทําชุดเครื่องมือมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (Standard Security Toolkit) สําหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถนําไปใช้ในการตรวจสอบและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศในหน่วยงานได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นให้มีความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคสากล (Smart Government) แผนงานหลักหรือโครงการหลักของยุทธศาสตร์นี้คือ การประเมินระดับวุฒิภาวะ (Maturity) ของ e-Service ในด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและหน่วยงานระดับกรมในทุกกระทรวง การจัดตั้งหรือปรับปรุงเว็บไซต์กลางของภาครัฐตามแนวทาง Open Government เช่น ภายใต้ชื่อ Government Knowledge Center (www.g4share.go.th) หรือ www.data.go.th สําหรับใช้เป็นช่องทางในการเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งบริการในลักษณะ App Store ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมด้วยเครื่องมือที่สามารถนําข้อมูลและบริการไปใช้ประโยชน์ได้สําหรับประชาชนและเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดในระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ICT เชิงสร้างสรรค์ และการใช้ ICT ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Vibrant Industry & Business) โดยยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การจัดตั้ง One Stop Service ในการให้บริการข้อมูล ข่าวสารรวมทั้งการจดทะเบียนเพื่ออํานวยความสะดวกในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ ICT ในประเทศไทย (Facilitation Desk for ICT Business Start-up Program) รวมตลอดจนการจัดตั้งกองทุน ICT เพื่อการพัฒนา ICT ในภาคธุรกิจและการส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะในภาคส่วนธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ยังมีโครงการ National Agriculture Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและการเข้าถึงข้อมูลที่จําเป็นในภาคการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มด้วย

เป้าหมายหลักที่กระทรวงไอซีทีคาดว่าจะได้รับจากการกำหนดยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ข้างต้นนั้นคือ การมีสัดส่วน ICT ต่อ GDP สูงขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคธุรกิจมีเครื่องมือ ICT เพื่อสร้างความพร้อมและการปรับตัวในการแข่งขันในเวทีสากล ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นสามารถประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการศึกษาเรียนรู้ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้ บริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐไร้ตะเข็บรอยต่อและเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน สังคม ชุมชน ท้องถิ่นเข้มแข็ง ปลอดภัยและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งอันดับประเทศไทยด้าน ICT สูงขึ้นในสถาบันการจัดอันดับสากล นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้ประชากรร้อยละ 80 ของประเทศสามารถเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2558 และร้อยละ 90 ภายในปี 2561 อีกทั้งประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีความรอบรู้ เข้าถึง และมีส่วนร่วมในการพัฒนากับใช้ประโยชน์จากระบบ ICT ได้อย่างเท่าทัน เพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และมีระดับความพร้อมด้าน ICT ใน Networked Readiness Inbox อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 30 ก่อให้เกิดการจ้างงานในสายวิชาชีพรูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ ICT ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้มีท่านเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นแม่งานในการจัดทำเพื่อให้เกิดความครบถ้วนและสมบูรณ์อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *