"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

กฎหมาย Digital Economy

กฎหมาย Digital Economy

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมและยกร่างกฎหมายใหม่รวม 13 ฉบับ เพื่อจัดตั้ง “กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”นั้น ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข่าวในเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลหรือ Digital Economy โดยทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออก พ.ร.บ. ดิจิตอล อีโคโนมี ถือเป็นกฎหมายฉบับหลักในการควบคุมอำนาจและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อผลักดันดิจิตอลอีโคโนมีทั้งหมด รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายการพัฒนาดิจิตอลอีโคโนมี   เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิคส์ (E-Government) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)   การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงการให้แรงสนับสนุนกับภาคเอกชน  เช่น กฎเกณฑ์ส่งเสริมของบีโอไอต่อดิจิตอลอีโคโนมี โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร      เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นเลขานุการ รวมไปถึงได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ  คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2525 และคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ดิจิตอล อีโคโนมี ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีแก้ไขกฎหมายจำนวน 13 ฉบับ เช่น พ.ร.บ. ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิดเพราะจะมีประโยชน์ต่อประชาชนในหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข หากแพทย์ทุกโรงพยาบาลสามารถดึงข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากข้อมูลกลางได้ก็จะทำให้การรักษาสะดวกและรวดเร็วขึ้น เป็นต้น รวมทั้งยังมีแผนที่จะยกร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ปรับปรุง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 ร่างแก้ไข พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 ยกร่างกฎกระทรวงเรื่องการแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเศรษฐกิจดิจิตอล และปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการแบ่งส่วนราชการกรมอุตุนิยมวิทยา โดยหลังจากที่มีการแก้กฎหมายดังกล่าวเสร็จ คาดว่าจะทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงตลาด ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเสนอให้มีการยกเลิก หรือให้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนหรือจัดเก็บในอัตราที่สูงเกินไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์หรือมาเลเซียก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศของเราไม่ได้มีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT อย่างบูรณาการในระดับชาติ ซึ่งได้ส่งผลให้ประเทศชาติได้ตกหล่นเป็นอันดับท้ายๆ ของเอเชียและกระทั่งของอาเซียนในมาตรวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันทางด้าน ICT

หากพิจารณาในแง่มุมการรองรับทางกฎหมายของต่างประเทศแล้วจะพบว่าได้มีการออกกฎหมายเพื่อปรับใช้กับการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิตอล เช่น ประเทศอังกฤษ ได้ออก Digital Economy Act B.E.2010 โดยมีสาระสำคัญคือควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ การจดทะเบียนผู้ใช้โดเมน ข้อบังคับของบริการทางโทรทัศน์และวิทยุ ข้อบังคับในการใช้สเปคตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น หรืออย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ซึ่งจะควบคุมในเรื่องของการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของลูกค้าทางออนไลน์  การปฏิบัติตามข้อบังคับในการโฆษณาออนไลน์ การจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น จะมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งคล้ายกันกับประเทศออสเตรเลียที่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ค.ศ. 1999 ที่ออกมาในช่วงแรกๆ เพื่อควบคุมและยอมรับนับถือธุรกรรมที่กระทำโดยอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีสภาพเสมอเหมือนกับธุรกรรมที่ทำลงบนกระดาษหรือ Hard Copy ซึ่งจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลของต่างประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจและเศรษฐกิจของต่างชาติที่ก้าวไกลไปมากที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาให้เท่าทันโดยเริ่มจากการปรับโครงสร้างพื้นฐานเสียก่อน

นอกจากนี้แล้วความร่วมมือในระดับประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันความก้าวหน้าในเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย เช่น การอนุวัติการ e-Communication Convention ของ UN ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศลงนามแล้ว เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ (ASEAN) เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ศรีลังกา อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเลบานอน หากประเทศไทยได้มีการร่วมมือในระดับประเทศดังกล่าวย่อมจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าของไทยได้มากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจดิจิตอลถือเป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการและการเงินการธนาคารเติบโตต่อไป ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เศรษฐกิจเติบโตบนอยู่ฐานนี้ และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญมาก ถึงแม้ว่าในประเทศไทยอาจจะผลักดันเรื่องนี้อาจจะช้ากว่าประเทศ อื่นๆ บ้าง แต่ก็ถือว่ายังไม่ช้าเกินไปที่จะเริ่มต้นทำอย่างจริงจังโดยเริ่มจากการวางโครงสร้างกฎหมายที่จะเข้ามารองรับการทำธุรกรรมในโลกยุคดิจิตอลนี้ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้สมบูรณ์และปรับใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจในปัจจุบันซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป

By : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *