"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ธุรกิจให้เช่าเสาโทรคมนาคม

ธุรกิจให้เช่าเสาโทรคมนาคม

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลายท่านอาจจะได้ยินคำว่า “TowerCo” กันบ้างในช่วงนี้อันสืบเนื่องมาจากข่าวที่ว่า TOT มีความคิดที่จะนำทรัพย์สินที่ตนครอบครองอยู่ออกใช้สร้างรายได้เพราะ TOT นั้นเป็นองค์กรที่มีทรัพย์สินในมืออยู่มากโดยเฉพาะคลื่นความถี่และ เสาโทรคมนาคม ผู้เขียนนั้นได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาบ้างแล้วในฉบับก่อนๆ ในฉบับนี้เราจึงจะมาเจาะลึกถึงความเป็นมา รายละเอียดของการใช้โครงสร้างพื้นฐานหรือ เสาโทรคมนาคม ร่วมกันโดยเฉพาะธุรกิจให้เช่า เสาโทรคมนาคม หรือ TowerCo ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการแข่งขันในการให้บริการที่มีมากขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ต้องมีการลงทุนในโครงข่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากจึงทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในหลายๆ ประเทศคิดถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Infrastructure Sharing มากยิ่งขึ้นด้วยการจัดตั้งบริษัทที่เป็นเจ้าของ เสาโทรคมนาคม ขึ้นมาเป็นการเฉพาะแล้วนำบรรดา เสาโทรคมนาคม นั้นออกให้เช่าซึ่งมักจะเรียกชื่อโดยย่อกันว่า “TowerCo” การให้เช่า เสาโทรคมนาคม นี้ได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง จากในหลายๆโมเดลธุรกิจจากทั่วโลก เราจะเห็นรายชื่อ TowerCo จำนวนนับไม่ถ้วนซึ่ง TowerCo เหล่านี้ จะมีการติดตั้งเสาไว้แล้ว ผู้ประกอบการหรือโอเปอเรเตอร์เพียงแค่เข้าไปลงทะเบียนเช่าใช้เสาในบริเวณที่ตนเองต้องการ ซึ่งธุรกิจ TowerCo นั้น เปิดให้บริการเป็นออนไลน์แล้วในต่างประเทศ สำหรับการตั้งบริษัท TowerCo นั้น มีหลากหลายรูปแบบอาจเป็นโอเปอเรเตอร์ร่วมทุนกันตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาทำ TowerCo โดยเฉพาะหรือแม้แต่รูปแบบที่โอเปอเรเตอร์ที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่จะตั้งเสาเองก็มีเช่นเดียวกัน

หลักการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันนี้เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายในประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมแล้วโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะพบว่ามีบริษัทที่ให้บริการเช่า เสาโทรคมนาคม สำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนหลายราย เช่น The Mid-Atlantic Broadband Co-operative หรือ MBC ที่มีเสาครอบคลุมในเขตรัฐเวอร์จิเนีย MBC ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 ด้วยสาเหตุที่ต้องการลดปัญหาในช่วงที่เกิดวิกฤตทางสังคมและเศรษฐกิจอันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลก โดยในขณะที่หลายๆ อุตสาหกรรมต้องปิดตัวลงและผู้คนต่างสูญเสียงานที่ทำ แต่ MBC กลับเล็งเห็นถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในชนบทของรัฐเวอร์จิเนียที่ยังไม่มีการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคมและอัตราค่าบริการที่มีราคาสูง อีกทั้งผู้ให้บริการที่มีอยู่นั้นไม่มีแผนที่จะขยายการเข้าถึงบรอดแบนด์ให้แพร่หลายในภูมิภาค ด้วยเหตุดังกล่าว MBC จึงได้สร้างเสาโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อกับ fiber – backbone เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในการจัดหาทั้งเสียงและบริการบรอดแบนด์ลงไปยังพื้นที่ที่ยังขาดแคลน ปัจจุบัน MBC นับว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและยังคงมีเสาโทรคมนาคมให้เช่าอยู่ เช่นเดียวกับบริษัทให้เช่าเสาโทรคมนาคมจาก North Carolina ที่จากเดิมเป็นธุรกิจเล็กๆที่ตอนนี้ได้ขยายตัวไปครอบคลุมทั่วสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกกฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนากิจการโทรคมนาคมให้ก้าวไปพร้อมกับการมี 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz จำนวนหลายฉบับ หนึ่งในนั้นก็คือประกาศเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือหลักการ Infrastructure Sharing นั่นเอง ทั้งนี้ในประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมแล้ว การทำ Infrastructure Sharing ด้วย TowerCo เป็นสิ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกยกเว้นประเทศไทยเพราะถูกผูกขาดโดยสัญญาสัมปทาน แต่เมื่อสัญญาสัมปทานหมด สินทรัพย์โครงข่าย อาทิ เสาสัญญาณ หรือสายไฟเบอร์ต่างๆ จะตกเป็นของ ทีโอที และ กสท. ซึ่งจะนำไปสินทรัพย์ดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นแทนที่ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ต้องลงทุนอีกมหาศาล เพราะจะต้องสร้างเสาหรือ Tower เป็นของตนเองและการ Roll Out โครงข่ายจะเกิดขึ้นช้ามาก แต่ถ้ามี TowerCo อยู่แล้ว โอเปอเรเตอร์เพียงแค่นำอุปกรณ์ไปติดตั้งไว้บนเสา การ Roll Out Network จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบมีนัยสำคัญและต้นทุนจะลดต่ำลง 20-40%ได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี ที่สำคัญกว่านั้นคือโอเปอเรเตอร์ไม่ต้องกังวลต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแต่มุ่งเน้นในด้านความสามารถหลักของตัวเอง อาทิ การให้บริการ การทำแคมเปญการตลาด เป็นต้น อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลใจต่อการลงทุนด้านการบำรุงรักษาโครงข่ายอีกด้วย หากสามารถผลักดันให้ TowerCo เกิดขึ้นได้ ผลประโยชน์มากมายจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ อาทิ การลงทุนที่ไม่ซ้ำซ้อน สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีคุณค่า ธุรกิจจะเกิดการจัดสรรปันส่วนที่ชัดเจน เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมโดยไม่มีการผูกขาดส่วนใดส่วนหนึ่งและทุกคนต้องได้รับประโยชน์ทั่วถึง นอกจากนี้เมื่อมีการลงทุนน้อยผู้บริโภคย่อมจะได้รับบริการในราคาที่เป็นธรรมด้วย

นอกจากนี้ด้วยข้อด้อยของคลื่นความถี่ 2.1GHz ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมแคบ จึงทำให้ต้องมีการสร้างเสาและลงทุนมากซึ่งเสาแต่ละต้นมูลค่าในการลงทุนอยู่ประมาณ 3-4 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างและค่าที่ดินด้วย ถ้าจะต้องวางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจำเป็นต้องใช้เป็นหมื่นเสา คิดเป็นงบประมาณลงทุนถึง 3-4 หมื่นล้านบาทเฉพาะการลงทุนตั้งเสาเท่านั้น ดังนั้นหากมี TowerCo ใน 1 เสา ก็สามารถใช้ร่วมกันได้ในระหว่างหลายโอเปอเรเตอร์ หมดปัญหาข้อขัดแย้งกันในเรื่องพื้นที่ตั้งเสาเพราะมีบริษัทที่ทำ TowerCo บริหารจัดการให้ เพียงแค่โอเปอเรเตอร์ระบุว่า ต้องการพื้นที่ครอบคลุมจุดใด บริเวณใดเท่านั้น

ถึงแม้ว่าหลักการข้างต้นจะมีข้อดีอยู่มากมายในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการจัดตั้ง TowerCo ตามแนวคิดที่ TOT กำลังจะดำเนินการนั้นอาจติดขัดด้วยปัญหาก็ได้ในทางปฏิบัติหรือไม่เพราะการให้แต่ละโอปอเรเตอร์เข้ามาร่วมมือด้วยการใช้ร่วมกันนั้นอาจเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก ทั้งนี้เพราะโครงข่ายเช่นเสาที่แต่ละโอปอเรเตอร์ลงทุนไปนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวและเป็นความมั่นคงภายในของบริษัทนั้นๆจึงมีแนวโน้มที่แต่ละบริษัทจะลงทุนตั้งเสาของตนเอง อีกทั้งยังเลือกในพื้นที่ลงทุนซึ่งมีลูกค้าและมองเห็นกำไรที่คุ้มค่า ที่สำคัญคือองค์กรเหล่านั้นอาจมองว่าหากนำสินทรัพย์ที่มีมาแบ่งให้คนอื่นเช่าใช้แล้วความมั่นคงอาจจะสูญเสียได้ การจะส่งเสริมให้มีการสร้างโครงข่ายพื้นฐานร่วมกันเช่น เสาโทรคมนาคม จึงอาจไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีนักก็ได้เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายต่างก็คิดจะสร้างโครงข่ายเฉพาะของตนเองเท่านั้นเพราะไม่ได้มีกฎหมายออกมาห้ามแต่อย่างใด

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *