"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

นับถอยหลังสู่ IPv6

นับถอยหลังสู่ IPv6

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากยอดการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจนส่งผลให้หมายเลขไอพีของอินเตอร์เน็ตเดิม Internet Protocol Version 4 (“IPv4”) จำนวนประมาณ 4,000 ล้านเลขหมายนั้นกำลังจะ หมดลง หากหมายเลขไอพีอินเตอร์เน็ตหมดลงสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติแผนที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (“กระทรวงไอซีที”) เตรียม Internet Protocol Version 6 (“IPv6”) ขึ้นมาใช้แทน IPv4 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหมายเลขไอพีอินเตอร์เน็ตในอนาคตด้วย ในคอลัมน์ฉบับนี้จะขอนำผู้อ่านไปรู้จักกับระบบ IPv6 และความพร้อมล่าสุดในการนำระบบ IPv6 มาใช้ในประเทศไทย

โดยทั่วไปกลไกสำคัญในการทำงานของอินเทอร์เน็ตก็คืออินเทอร์เน็ตโพรโตคอล ส่วนประกอบสำคัญของอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลได้แก่หมายเลขอินเทอร์เน็ตแอดเดรสหรือไอพีแอดเดรส (IP address) ที่ใช้ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เปรียบเสมือนการใช้งานโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารกันที่จะต้องมีเลขหมายโทรศัพท์เพื่อให้อ้างอิงผู้รับสายได้ฉันใด คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีหมายเลข IP Address ที่ไม่ซ้ำกับใครฉันนั้น ที่ผ่านมาเราใช้ IPv4 เป็นมาตรฐานในการส่งข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 แต่ด้วยการขยายตัวของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็มีได้มีรายงานวิจัยพบว่าจำนวนหมายเลข IP address ของ IPv4 กำลังจะถูกใช้หมดไปและไม่เพียงพอกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต

IPv6 จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้แทนที่ IPv4 โดย IPv6 ออกแบบมาเพื่อปรุงโครงสร้างของตัวโพรโตคอลให้รองรับหมายเลขแอดเดรสจำนวนมาก และปรับปรุงคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยรองรับระบบแอพพลิเคชั่น (application) ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลแพ็กเก็ต (packet) ให้ดีขึ้น อันจะทำให้ IP address เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมากขึ้นหลายเท่าสำหรับ IP address เดิมภายใต้ IPv4 addressนั้น มี 32 บิต ในขณะที่ IPv6 address มีถึง 128 บิต คาดการณ์กันว่าระบบนี้จะมีจำนวน IP address ถึง 340 ล้านล้านเลขหมายทีเดียว โดยระบบนี้จะสามารถตอบสนองต่อการขยายตัวและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นอินเตอร์เน็ตระบบนี้น่าจะสามารถพัฒนาเพื่อใช้เชื่อมต่อสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ 3G และ 4G ที่จะเปิดใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดีด้วย

จากประสิทธิภาพที่ดีของ ไอพีวี6 คณะรัฐมนตรีของไทยจึงได้ออกมติเห็นชอบให้กระทรวง ไอซีที เร่งดำเนินแผนงานเปลี่ยนงานเพื่อผลักดันเปลี่ยนระบบอินเตอร์เน็ตประเทศไทยให้ทันสมัยขึ้นจาก IPv4 มาเป็น ไอพีวี6 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา

และในวันถัดมากระทรวง ไอซีที ก็ได้วางแผนการพัฒนาระบบ ไอพีวี6 ให้สอดคล้องกับมติ คณะรัฐมนตรีที่ออกมา โดยไอซีทีจะวางแผนปฏิบัติการระยะสั้นที่ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2556 – 2558) ในแต่ละปีมีขั้นตอนดำเนินงานโดยปี 2556 จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและประสานงาน ไอพีวี6 เพื่อให้คำปรึกษา อบรม ทดสอบ ตรวจประเมินด้าน ไอพีวี6 ของประเทศ ในปี 2557 ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกรายจะต้องเปิดบริการโดยสามารถเชื่อมโยง ไอพีวี6 ได้ และในปี 2558 จะมีการติดตั้ง ระบบอินเตอร์เน็ต ไอพีวี6 ให้แก่หน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

นอกจากแผนปฏิบัติการระยะสั้นแล้ว ไอซีที ยังวางแผนจะสนับสนุนให้ ไอพีวี6 ประสบความสำเร็จในระยะยาวด้วยการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับเทคโนโลยี ทั้งนี้ไอซีทีจะจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ ไอพีวี6 ให้แก่ทั้งบุคลากรของภาครัฐและเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในระบบ ไอพีวี6 นอกจากนั้นไอซีทีจะรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆหันมาใช้ IPv6 กันมากขึ้นด้วย

ดังนั้นเราจึงควรติดตามดูการพัฒนาจาก IPv4 ไปสู่ IPv6 ซึ่งเป็นการพัฒนาอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดภายในรอบสามสิบปี นับตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้งาน ซึ่งหากทำสำเร็จภายในสามปีตามที่กระทรวงไอซีที วางแผนไว้ โอกาสที่คนไทยจะได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น 80% ที่ไอซีทีตั้งเป้าไว้คงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนั้นระบบติดต่อสื่อสารต่างๆที่เชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยก็จะพัฒนามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *