"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

บูรณาการศูนย์ข้อมูล

บูรณาการศูนย์ข้อมูล

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างมาก ข้อมูลก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการได้ โดยในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่นั้นก็ใช้ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เข้ามาเป็นตัวจัดการ ซึ่งศูนย์ข้อมูลนี้ก็คือพื้นที่ที่ใช้จัดวางระบบประมวลผลกลางและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร โดยที่ผู้ใช้งานสามารถที่จะเชื่อมต่อระบบเครือข่ายจากภายนอกได้ ศูนย์ข้อมูลจะถูกออกแบบให้มีเสถียรภาพ ปลอดภัย พร้อมใช้งานและรองรับการขยายผลได้

ในประเทศไทยนั้นได้มีการนำศูนย์ข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ โดยจะมีการจัดทำศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ประเทศไทยได้มีแนวทางที่จะ บูรณาการศูนย์ข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้ใช้บริการ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ในการดำเนินการโดยให้หน่วยงานต่างๆของรัฐมาใช้ศูนย์ข้อมูลร่วมกัน และจัดให้มีการประมูลโดยภาคเอกชนที่จะเข้ามาจัดสร้างในส่วนของศูนย์ข้อมูลดังกล่าวโดยมีมูลค่าในการลงทุนสูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาท และเมื่อประเทศไทยมีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติก็จะนำไปสู่การมีเกทเวย์แห่งชาติด้วย โดยเกทเวย์ (Gateway) ก็คืออุปกรณ์ที่มีความสามารถสูงในการที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถเชื่อมต่อ LAN หลายๆ เครือข่าย และสามารถสื่อสารกับส่งต่อข้อมูลหากันได้โดยไม่มีขีดจำกัด โดยในประเทศไทยนั้นควรจะมีเกทเวย์อย่างน้อย 10 จุด เพื่อรองรับการขยายตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต และการมีเกทเวย์แห่งชาติยังจะส่งผลให้การส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว และยังส่งผลถึงเรื่องความรวดเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ทอีกด้วย

ในเรื่องของ การบูรณาการศูนย์ข้อมูล แห่งชาตินั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยความร่วมมือของทั้งฝ่ายภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยจะมีหน่วยงานกลางก็คือกระทรวง ICT หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่กำลังจะถูกยุบลงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและจะรับโอนถ่ายอำนาจหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมา กระทรวงใหม่นี้จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในส่วนของมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อที่จะรักษามาตรฐานของค่าใช้จ่ายและคุณภาพของศูนย์ข้อมูลที่หน่วยรัฐใช้ โดยศูนย์ข้อมูลทุกศูนย์จะต้องสามารถเชื่อมต่อหากันได้ด้วย ระบบดังกล่าวก็จะทำให้ข้อมูลตรงกันไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น โดยการ บูรณาการศูนย์ข้อมูล นี้ฝ่ายรัฐจะต้องเป็นตัวนำร่อง โดยฝ่ายรัฐสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการข้อมูล ซึ่งย่อมนำไปสู่การที่เอกชนนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการ บูรณาการศูนย์ข้อมูล นี้ยังนำไปสู่การรวมตัวกันครั้งใหญ่ของข้อมูลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพราะหากทุกหน่วยงานต้องการสร้างศูนย์ข้อมูลของตัวเองทั้งหมด ย่อมต้องใช้งบประมาณมากมายในการลงทุน และทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ดังนั้นการสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจึงเป็นทางออกที่ดีของการแก้ปัญหานี้

การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ยังนำไปสู่การที่ภาครัฐจะเข้าสู่การเป็น Digital Government โดยนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่าจะเป็นการยกระกับภาครัฐในหลายส่วน ได้แก่

ประการแรก การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ภาครัฐ กล่าวคือเมื่อมีการบูรณาการจัดการศูนย์ข้อมูลภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมนำไปสู่การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ประการที่สอง การบูรณาการข้อมูลบริหารสำหรับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี โดยจะเป็นการบูรณาการระบบการรายงานที่ใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงใช้ในการติดตามงานและเหตุการณ์เร่งด่วนต่างๆ และวิธีแก้ปัญหา

ประการสุดท้าย การบูรณาการการให้บริการประชาชน เช่นตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมุ่งแนวทางลดการใช้สำเนาเอกสารราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยการบูรณาการนั้นระบบบริการของราชการให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานราชการมีเป้าหมายนำร่อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมโยงเข้ากับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ รวมถึงการนำร่องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบางบริการของรัฐได้ด้วยตนเองผ่านตู้บริการเอนกประสงค์ของรัฐ

ทั้งสามประการข้างต้นนี้ก็เป็นการผลักดันการพัฒนาของ Digital government ภายใต้นโยบาย Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเห็นได้ว่า การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ที่จะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาลนี้ย่อมนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย การใช้ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของรัฐนั้นยังเป็นแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของเอกชนอีกอย่างหนึ่งด้วย

ในส่วนของต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำเอาศูนย์ข้อมูลหรือ Data center มาใช้อย่างแพร่หลาย เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และอังกฤษ โดยประเทศเหล่านี้ได้ทำการลดศูนย์ข้อมูลในประเทศลง จากปริมาณศูนย์มากๆ เหลือเพียงไม่กี่ศูนย์ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถลดงบประมาณได้จำนวนมหาศาลต่อปี รวมถึงลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในประเทศอีกด้วย

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการนำเอาศูนย์ข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในหลายทาง เช่นในทางด้านธุรกรรม โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีบริษัท Duns and Bradsteeet ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการในเรื่องของรายงานข้อมูลของบัตรเครดิตของผู้ถือ โดยอาศัยศูนย์ข้อมูลในการส่งถ่ายรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของผู้ถือบัตรได้อย่างสะดวกฉับไว

การบูรณาการศูนย์ข้อมูลนั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในหลายๆประการ เช่น กรณีของการบูรณาการศูนย์ข้อมูลย่อมนำไปสู่การพัฒนาในด้านของอินเตอร์เน็ท ซึ่งทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ทได้ง่านขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง รวมไปถึงกรณีประโยชน์จากโครงการ Smart Service ก็จะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายต่อภาครัฐและภาคประชาชนอย่างมาก เพราะจะมีการรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลเดียว กล่าวคือมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลราษฎร์และใช้ประโยชน์จากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในการที่จะเรียกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารมากมายในการทำธุรกรรมกับทางภาครัฐ แล้วข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกบันทึกลงแบบฟอร์มอัตโนมัติ จึงทำให้เป็นการลดการใช้ทรัพยากรรวมทั้งประหยัดเวลาอีกด้วย หรือจะเป็นการบริการผ่านจุดบริการตามศูนย์การค้าหรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีการส่งข้อมูลต่างๆอย่างทั่วถึง และสามารถทำธุรกรรมได้โดยทันที

นอกจากนี้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบางหน่วยก็มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือทับซ้อนกัน เช่น กรมการปกครอง กรมการต่างประเทศ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ล้วนมีข้อมูลที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับราษฎรนั่นเอง ซึ่งหากมีการใช้ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติและมีการรวบรวมข้อมูลไว้ที่เดียวกันแล้ว ย่อมทำให้สะดวกสบายต่อการเรียกข้อมูลไปใช้ได้ด้วย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการบูรณาการศูนย์ข้อมูลที่ได้ก่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาตินั้นส่งผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านทางบริหารประเทศ ด้านเทคโนโลยี และอีกหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย โดยเฉพาะในด้านกฎหมายซึ่งจะเป็นสิ่งที่ปูแนวทางในการขับเคลื่อนของการบูรณาการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *