"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ศูนย์กลางโทรคมนาคม AEC

ศูนย์กลางโทรคมนาคม AEC

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

กิจการโทรคมนาคม (Telecommunications) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ความทันสมัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารทำได้โดยง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของกิจการ เป็นผลให้กิจการโทรคมนาคมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของทั้งประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยรวมไปถึงช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวอีกด้วย

ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมของอาเซียน จึงมีการดำเนินการหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมของอาเซียนในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม ICT ในด้านต่างๆ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้านแอนิเมชั่น ด้านเกม ด้านอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ ด้านการให้บริการโครงข่าย เป็นต้น ทั้งยังมีการรวบรวมข้อมูลสถานภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICT และภาพรวมของอุตสาหกรรม ICT การจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้าน ICT หรือ ICT Academy เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ให้มีศักยภาพและทักษะฝีมือสูงเพียงพอที่จะลงสนามแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาค รวมไปถึงการเตรียมวางกรอบมาตรฐานวิชาชีพ ICT เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้าน ICT ของภูมิภาคอาเซียนเมื่อเข้าสู่การเป็น AEC แล้ว นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านงานราชการก็ยังมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ที่ได้นำเทคโนโลยี Cloud Computing มาใช้ในระบบราชการไทย โดยการตั้ง Government Cloud Service ขึ้นตามนโยบายของกระทรวง ICT ซึ่ง Government Cloud Service นี้จะช่วยส่งเสริมระบบการทำงานของส่วนราชการให้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านภาคเอกชนในอุตสาหกรรม ICT ก็ตื่นตัวกับการเข้าสู่ AEC เช่นกัน บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ICT รวมไปถึงผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมต่างมีการเตรียมความพร้อมรับการเข้าสู่การเป็น AEC อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม Capacity เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปิด AEC มีการหาหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุนด้านโครงข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน และการเชื่อมโครงข่ายกับผู้ให้บริการในต่างประเทศอันเป็นวิธีการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดวิธีหนึ่ง ทั้งยังเป็นการปรับตัวให้เป็นไปตามนโยบายของอาเซียนที่ต้องการให้อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว มีการเปิดเสรีในหลายๆ ด้านรวมไปถึงด้านกิจการโทรคมนาคมด้วย การเปิดเสรีนี้จะทำให้ผู้ให้บริการทุกรายในอาเซียนแข่งขันอยู่ในสนามเดียวกัน ผู้ให้บริการจากประเทศอื่นในอาเซียนก็จะสามารถให้บริการในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ให้บริการไทยจึงอาจพิจารณาความเหมาะสมในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นรวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการชาวไทยเมื่อเดินทางไปในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยนั่นเอง ทั้งนี้อุตสาหกรรม ICT บรรจุไว้ในสาขาเร่งรัดของการเปิดเสรีภาคบริการ (Fast Track) คือสำหรับประเทศที่รับรองแล้วต้องไม่มีข้อจำกัดการให้บริการข้ามพรมแดน ทยอยให้ต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 70 และเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานด้านกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยได้ในปี ค.ศ. 2013

ทางด้านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยก็มีการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่เออีซี เช่นกัน เบื้องต้น กสทช. มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการปฏิบัติเพื่อรองรับการเปิดเออีซีผ่านการจัดทำแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) ซึ่งหนึ่งในหกยุทธศาสตร์ที่ กสทช. จัดทำขึ้นคือการเตรียมความพร้อมและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กสทช. ยังมีความพยายามที่จะแก้ประกาศหลายฉบับของ กทช. เดิม เพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบหรือลดความตึงของประกาศ (Deregulated) ให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถเติบโตได้ดีขึ้น อันเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการน้อยรายหากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่มีการพัฒนาด้านโทรคมนาคมสูงอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย การแข่งขันสูงในตลาดนี้จะช่วยให้คุณภาพการให้บริการดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ กสทช. ยังมีการทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ศึกษาหาข้อเสนอแนะในการวางทิศทางเมื่อเปิดเออีซีอีกด้วย

แต่เรื่องนี้จะไม่กล่าวถึงคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศสิงคโปร์นั้นไม่ได้ ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์เป็นสมาชิกอาเซียนที่มีการพัฒนาด้านกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารล้ำหน้าที่สุดในอาเซียน มีความเจริญด้านเทคโนโลยีต่างๆ และมีการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่ค่อนข้างสมบูรณ์เนื่องจากมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมมานานแล้ว อีกทั้งบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ICT รวมทั้งกิจการโทรคมนาคมระดับโลกต่างก็ใช้สิงคโปร์เป็นฐานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน บางบริษัทมีการตั้งสำนักงานระดับเอเชีย-แปซิฟิกในสิงคโปร์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม ICT ของสิงคโปร์อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีประเทศไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีตลาดโทรคมนาคมขนาดใหญ่กว่า ผู้บริโภคมากกว่าสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กมีประชากรน้อย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์ และประชาชนในประเทศยังมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะสามารถเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมของอาเซียนได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *