"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล

อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล

www.lawyer-thailand.com

การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจทั้ง 24 ช่องของประเทศไทยโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีความคึกคักและน่าติดตามมากขึ้นทุกขณะเมื่ออุตสาหกรรมต่างๆ เผยกลยุทธ์รับโอกาสในการสร้างรายได้จากการปรับเปลี่ยนสู่ยุคทีวีดิจิตอล

การปรับระบบรับและส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไปสู่ระบบดิจิตอลนั้น กสทช. ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ประเภท คือ ใบอนุญาตโครงข่าย หรือ Multiplexer (MUX) ใบอนุญาตสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเสาส่งสัญญาณ ใบอนุญาตช่องรายการ 48 ช่อง และใบอนุญาตบริการประยุกต์ ระบบทีวีดิจิตอลกำลังจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนเงินมหาศาล นายอนุพนธ์ เตจ๊ะวันโน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านทีวีดิจิตอล บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในทีมงานที่เคยร่วมเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลในประเทศออสเตรเลียได้ทำการประเมินเบื้องต้นว่าการเปลี่ยนผ่านระบบในประเทศไทยครั้งนี้จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 1 – 3 แสนล้านบาทด้วยจำนวนผู้เล่นหลายภาคส่วนทั้งคอนเทนท์โพรวายเดอร์ เน็ตเวิร์คโปรวายเดอร์ และบรอดแคสเตอร์รวมทั้งสิ้นกว่า 100 ราย

ที่กล่าวว่าจะมีเงินสะพัดกว่าแสนล้านนั้นประกอบด้วยหลายกลุ่ม อาทิ การลงทุนโครงข่าย หรือ MUX ที่ กสทช. กำหนดให้มีใบอนุญาตรวม 6 ใบอนุญาต 6 โครงข่ายซึ่งแต่ละโครงข่ายจะลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท หากรวม 6 ใบอนุญาตก็จะเป็นเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจขอใบอนุญาตด้านโครงข่ายนี้ เช่น อสมท. ไทยพีบีเอส กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 เป็นต้น

ด้านกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนท์โพรวายเดอร์ก็มองการลงทุนทีวีดิจิตอลเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมประเภทนี้เช่นกันโดยจะเห็นได้จากการออกมาประกาศแผนธุรกิจและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะก้าวสู่การเป็น Multi Content Media Network เช่นเดียวกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตรายการในกลุ่มวาไรตี้ของบริษัทในเครือมาร่วมดำเนินการทั้งเอ็กแซ็กท์ กลุ่ม A-Time และ GTH เป็นต้น

ในอดีตคอนเทนท์ โพรวายเดอร์ อาจเข้าสู่ตลาดได้ยากเนื่องจากแพลตฟอร์มมีอยู่อย่างจำกัดแค่ฟรีทีวีไม่กี่ช่อง แต่ในปัจจุบันที่มีทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และกำลังจะมีทีวีดิจิตอลด้วยอีก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสเข้ามาเป็นคอนเทนท์โพรวายเดอร์ได้มากขึ้น ประกอบกับความต้องการรับชมประเภทรายการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันมากขึ้น ทำให้โอกาสของคอนเทนท์ โพรวายเดอร์เหล่านี้มีมากขึ้นโดยส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่ามีผลมาจากการเกิดทีวีดิจิตอลนั่นเอง

กลุ่มต่อมาที่ต้องเรียกได้ว่าเป็นที่จับตามองที่สุดคือช่องรายการธุรกิจจำนวน 24 ช่องที่ กสทช. จะจัดประมูลในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนปีนี้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ไพฑูรย์ ไกรพรศักดิ์ หัวหน้าทีมวิจัยประเมินมูลค่าคลื่นความถี่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคาดรายได้จากการประมูล 24 ช่องอยู่ที่ราว 20,700 ล้านบาท

นอกจากนี้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังมาจากการวิธีในการรับชมที่แบ่งออกเป็น 2 ช่องทางคือการติดตั้งกล่องรับสัญญาณหรือที่บางคนเรียกว่า Set top box โดยวิธีนี้สามารถที่จะติดตั้งกับจอโทรทัศน์เครื่องเดิมที่มีอยู่ได้ทันที ปัจจุบันกล่องรับสัญญาณรุ่น HD ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาทต่อกล่อง และด้วยจำนวน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศจะทำให้เกิดเม็ดเงินถึง 5.5 หมื่นล้านบาท อีกช่องทางหนึ่งคือการซื้อโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่ออกแบบมาให้สามารถรับสัญญาณดิจิตอลได้ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดและลูกเล่นต่างๆ ที่มากับเครื่องโทรทัศน์นั้นๆ แต่ทั้งการซื้อกล่องรับสัญญาณและการซื้อทีวีใหม่นั้น กสทช. มีแผนงานที่จะแจกคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทั้ง 22 ครัวเรือนเพื่อนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อด้วย

การเปิดประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแต่ในกิจการวิทยุโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยเนื่องจากกำลังจะเกิดการหลอมรวมของอุตสาหกรรมทั้ง 2 ส่วน อันมีที่มาจากการเปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการบนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ของทางฝั่งโทรคมนาคมจากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่มีแนวโน้มว่าจะนำ 3G มาผนวกเข้ากับธุรกิจด้านทีวีดิจิตอล

โดยที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มบริษัท อินทัช กรุ๊ป ที่มีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นบริษัทในเครือนั้น นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร อินทัช กรุ๊ปกล่าวถึงสาเหตุที่อินทัชต้องการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลเพื่อต่อยอดธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บริษัทลูกของ AIS ด้วย ซึ่งภาพธุรกิจเบื้องต้นของอินทัช คือเมื่ออินทัชมีช่องรายการทีวีก็จะส่งสัญญาณทีวีผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับและส่งสัญญาณในระบบทีวีดิจิตอลในครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ไทยในรอบ 50 ปีและจะเป็นการประมูลใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ครั้งแรกของ กสทช. จึงไม่น่าแปลกใจที่กำลังจะสร้างเม็ดเงินที่สะพัดกว่าแสนล้านบาท ประกอบกับใบอนุญาตช่องรายการที่มีระยะเวลา 15 ปีจึงนับเป็นโอกาสอันดีในการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมไปถึงเป็นโอกาสอันดีของผู้เล่นรายเดิมในการขยายฐานผู้ชมและพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาที่จะต้องมีความหลากหลายและตอบโจทก์ความต้องการของผู้บริโภคที่อาจมีความแตกต่างหรือมีความต้องการในลักษณะเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *