"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

เศรษฐกิจดิจิตอลกระตุ้นการลงทุน

เศรษฐกิจดิจิตอลกระตุ้นการลงทุน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่านผู้อ่านคงพอได้ทราบข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกลุ่มกฎหมาย ดิจิตอล เนื่องจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 158 คน เห็นชอบหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 17 คน โดยมีระยะการดำเนินงานภายใน 30 วัน โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีส่วนราชการประกอบด้วยสำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ และให้ยกเลิก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติ ครม.ของสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และของข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้าง ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่กระทรวงไอซีทียังคงมีข้อจำกัดในขอบเขตของอำนาจอยู่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีและข้อจำกัดเรื่องเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ไม่เพียงพอ โดยในปีที่ผ่านมาจากข้อมูลของหอการค้า ได้ระบุว่าระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมีมูลค่าทางธุรกิจถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นอกจากนี้แล้วร่างกฎหมายดิจิตอลที่คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไปคือร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งได้รวมกฎหมาย 3 ฉบับไว้ในฉบับเดียวกัน คือกฎหมายการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายการส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิตอล และกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

ส่วนร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิตอล ฉบับอื่นๆ ยังไม่มีการบรรจุเป็นวาระให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งนี้ คาดว่าอาจจะต้องรอเสนอในที่ประชุมในคราวถัดไป ร่างกฎหมายอื่นๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และร่างกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการแยก พ.ร.บ.เป็น 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขของกรรมการกฤษฎีกา

จากการที่รัฐบาลได้เดินหน้าส่งเสริมนโยบาย เศรษฐกิจดิจิตอล และมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้นั้น ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้นทั้งจากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ทำการลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับนางซะนะเอะ ทาคาอิชิ รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ประกอบด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งทางญี่ปุ่นทั้งส่วนราชการและเอกชนมีความก้าวหน้าด้านนี้มาก จึงเสนอให้มีความร่วมมือพัฒนาอุปกรณ์ บุคลากร การเตรียมการช่วยเหลือประชาชนทั้งการเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติ และการกู้ภัยหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องความร่วมมือด้านกิจการไปรษณีย์เพื่อสนับสนุนการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ช โดยเฉพาะสินค้าผ่านแดนและระบบโลจิสติกส์ขณะเดียวกัน นางซะนะเอะได้นำภาคเอกชนจาก 55 บริษัท มีทั้งด้านไอซีทีและการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาประเทศไทยเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนไทย และมาดูแนวทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ด้านไอทีที่ประเทศไทยสนับสนุนให้เกิดขึ้นในอนาคตตามนโยบาย เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งนักธุรกิจที่ร่วมคณะมาครั้งนี้มีประธานบริษัท เอ็นอีซี ของญี่ปุ่นด้วยที่สนใจจะมาขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยสนใจลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งสินค้าไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม กสทช. ยังได้มีการเสนอความร่วมมือในการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแพร่สัญญาณภาพ และเสียงในระบบ 4K และ 8K ซึ่งได้มีการนำระบบนี้มาสาธิตแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหารายการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดให้ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น 11 รายที่ร่วมเดินทางมาในคณะในครั้งนี้มาออกบูทนำเสนอเทคโนโลยี 4K และรายการต่อผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ได้เลือกซื้อเนื้อหารายการที่น่าสนใจมานำเสนอเพื่อให้เกิดธุรกิจร่วมกันอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าด้านการดำเนินการผลักดันด้าน เศรษฐกิจดิจิตอล ในประเทศนั้น คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัลให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจแบบออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบและสร้างธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 300 ราย รวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านบริการใหม่และธุรกิจใหม่ที่ตลาดต้องการรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆทางด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ อันจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นเป็นอย่างมาก

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *