"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

เศรษฐกิจเชิงดิจิตอล (Digital Economy)

เศรษฐกิจเชิงดิจิตอล (Digital Economy)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.57 ที่ผ่านมา นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เข้าพบปะกับ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงแนวทางทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากไอซีทีมองว่าต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของกระทรวงเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการทำงานในหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยจะมีการตั้งคณะร่วมกันระหว่างกระทรวงกับ กสทช. เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ การแก้กฎหมายที่ยังทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งยังได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลหรือ “Digital Economy” ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะการทำงานอย่างเดียวกันกับคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

หลายคนอาจสงสัยว่าเศรษฐกิจยุคดิจิตอลหรือ Digital Economy นั้นคืออะไร เศรษฐกิจเชิงดิจิตอล (Digital economy) หมายถึง การใช้ระบบเว็บเบสบนอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนิยามของเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เป็นคำที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาใช้ โดยเน้นให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจยุคใหม่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีไอทีอย่างมากมาย ตั้งแต่ระบบการให้บริการออนไลน์ การซื้อขายสินค้าและบริการ การศึกษาแบบทางไกล การโอนย้ายสื่อแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ดิจิตอล การให้บริการห้องสมุดดิจิตอล ตลอดจนระบบการพิมพ์หรือการจัดทำ เอกสาร ล้วนแล้วแต่เป็นดิจิตอลหมด เรามีกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ทีวีดิจิตอล ของเล่นดิจิตอล ระบบทุกอย่างที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบปนอยู่ด้วย ดังนั้นเศรษฐกิจดิจิตอลจึงเป็นระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง เครือข่ายคอมพิวเตอร์จะเชื่อมคนทุกคนในโลกให้อยู่บนเครือข่ายเดียวกัน สามารถติดต่อสื่อสาร พูดคุยกันผ่านทางเครือข่ายนี้ เป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีไอทีเป็นสำคัญนั่นเอง ในส่วนของประเทศไทยนั้นจากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พบว่าปัจจุบันคนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเกือบ 1 ใน 3 ของวัน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 7 ชั่วโมง กิจกรรมการใช้งานหลักคือการติดต่อสื่อสารและความบันเทิงรวมถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าสัดส่วนการใช้งานอาจไม่ได้สูงมาก แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคตข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคว่ามีความมั่นใจในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอันเนื่องจากการพัฒนาของเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น และจะทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นช่องทางหลักในการเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการในปัจจุบัน

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นมีแนวคิดมาจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าวางรากฐานเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกดิจิตอลที่ไร้พรมแดน ถือเป็นนโยบายใหม่ของประเทศไทยที่ออกมาเพื่อรองรับความก้าวหน้าทันสมัยของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจะต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ในประเทศไทยที่จะต้องให้ความร่วมมือช่วยเหลือและควบรวมกันเป็นหน่วยงานเดียว ดังนั้นเร็วนี้ๆ ทางกระทรวงไอซีทีจึงมีแผนปรับบทบาทการทำงานของกระทรวงครั้งใหญ่ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนงานต่างๆตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ด้วยเช่นกันเพื่อให้เข้ากับบทบาทใหม่ของกระทรวง และมีความเป็นไปได้ว่าจะเปลี่ยนชื่อกระทรวงจากกระทรวงไอซีทีไปเป็นกระทรวงดิจิตอล ทั้งนี้กระทรวงไอซีทียังอยู่ระหว่างการทาบทามศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ซึ่งขณะนี้ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาอยู่ใต้สังกัดกระทรวงไอซีทีด้วย

ความร่วมมือกันของสองหน่วยงานนั้นเป็นเรื่องที่ได้วางแผนกันมานานแล้ว โดยสมัย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรีที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่แห่งชาติ 3 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551   เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลทำให้แนวโน้มของโลกเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเปลี่ยนแนวคิดจากระบบรวมศูนย์มาเป็นแบบการกระจายให้บริการ เช่น การบริการของธนาคารผ่านเอทีเอ็ม การสร้างร้านค้ากระจายไปทุกหนทุกแห่ง โครงสร้างขององค์กรมีลักษณะติดต่อประสานรายได้สองทิศทาง ทั้งให้การจัดองค์กรมีขนาดกะทัดรัด และรูปแบบองค์กรจะแบนราบ หรือมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาน้อยลง แต่จะมีรูปแบบลักษณะเครือข่ายเพื่อการทำงานร่วมกัน การดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ จะตัดคนกลางหรือ กิจกรรมที่อยู่ตรงกลางออกไป ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ มีลักษณะจากปลายสู่ปลาย เช่น จากผู้ผลิตสู่ผู้ใช้โดยไม่ต้องมีคนกลาง ดังนั้นเศรษฐกิจดิจิตอลจึงเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องรีบปรับตัวและใช้ประโยชน์จากกลไกทางเทคโนโลยีให้ทัน ดังนั้นหากมีการผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ให้สำเร็จย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกลให้ทันประเทศอื่นมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าประชาชนจะมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

By http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *