"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงผู้ใช้มือถือต้องเผชิญกับไวรัสมือถือที่ก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้เป็นวงกว้าง ผู้ก่อกวนได้ส่งไวรัสประเภทนี้มากับข้อความเอสเอ็มเอสแล้วเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ ซึ่งเรียกกันว่า “ไวรัสเอสเอ็มเอส” ไวรัสประเภทนี้ทำงานโดยการส่งข้อความเข้าเครื่องผู้รับให้ทราบถึงการจ้างจัดส่งเอกสารอันเป็นแผนการหลอกลวง และมีลิงค์เชื่อมโยงเช่นhttp://goo.gl/NPD8sd เพื่อให้กดเข้าไปดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น โดยแอพไวรัสนี้จะสามารถเข้าถึงรายชื่อและเลขหมายในเครื่องของผู้ใช้ได้ เมื่อผู้ที่ได้รับเอสเอ็มเอสกดเข้าไปในลิงค์ที่ส่งมาก็จะติดไวรัสทันที นอกจากนั้นเจ้าไวรัสร้ายประเภทนี้ยังสามารถส่งข้อความต่อไปยังเครื่องผู้รับอื่นๆที่มีรายชื่ออยู่ในเครื่องนั้น โดยที่ผู้รับจะต้องเสียค่าบริการในการส่งเอสเอ็มเอสนั้นทั้งหมด และยังต้องนำโทรศัพท์มือถือไปล้างข้อมูลทิ้งทั้งหมดจึงจะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

ไวรัสเอสเอ็มเอสนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนระบาดมายังประเทศมาเลเซียและเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายของผู้ที่คิดไวรัสนี้ก็เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอาเงินในบัญชีที่ถูกหักไปของเหยื่อโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ไวรัสประเภทนี้จะระบาดอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบแอนดรอยด์เท่านั้นเนื่องจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สามารถให้ผู้ใช้ดาวโหลดแอพลิเคชั่นจากภายนอก Play Store ได้ แต่ในระบบ ios ของไอโฟนนั้นผู้ใช้ไม่สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นภายนอก App Store ได้

เรื่องเกี่ยวกับ ไวรัสเอสเอ็มเอส ประเภทนี้มีผู้เสียหายหลายราย แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตทำให้ประชาชนผู้ใช้มือถือต้องหันมาระวังตัวกันมากขึ้นก็สืบเนื่องมาจาก พ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผู้กำกับสน.โชคชัยได้รับเอสเอ็มเอสจากเบอร์โทรศัพท์มือถือหมายเลขหนึ่ง แจ้งข้อความว่า “ผกก.ธนวัตร แจ้งให้ทราบการจัดส่งของคุณ” ส่งเข้ามาในโทรศัพท์ เมื่อเข้าลิงค์ดังกล่าวเพื่อไปดูว่ามีข้อมูลอะไรหรือไม่ แต่เปิดไม่ได้ จึงส่งต่อเอสเอ็มเอสเข้าไปยังโทรศัพท์แอนดรอยด์ของตนเองอีกเครื่องหนึ่งเพื่อเปิดดูข้อมูล แต่พอเปิดเข้าไปดูก็ไม่พบข้อมูลใดๆ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีคนโทรมาสอบถามหลายสาย เกี่ยวกับข้อความที่ได้รับจากเบอร์มือถือของตนจำนวนหลายครั้ง จึงรีบไปที่ศูนย์บริการมือถือซึ่งเป็นต้นเครือข่ายเพื่อให้ระงับข้อความ ก่อนจะส่งเครื่องไปทำการล้างไวรัส

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นพบว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจาก ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 19,056 ราย โดยผู้เสียหายได้ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นนามสกุล .apk มาจากลิงค์ที่ส่งมาในข้อความเอสเอ็มเอสแล้วหลงเชื่อว่าเป็นเอสเอ็มเอสที่มาจากคนใกล้ชิดจึงได้กดลิงค์ดูอย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นกลลวงสำคัญของมิจฉาชีพที่ใช้การเข้าถึงรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้หลงเชื่อว่าข้อความนั้นส่งมาจากคนรู้จักของตนจริงๆ

ไวรัสชนิดนี้อยู่ในรูปแบบของมัลแวร์ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อทำลายระบบของโทรศัพท์ Smartphone จนอาจนำไปสู่การแฮคข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าระบบต่างๆได้หรือแม้กระทั่งส่งอีเมล์หรือข้อความปลอมไปหาคนอื่นๆ มัลแวร์ประเภทไวรัสนี้สามารถเข้าสู่อุปกรณ์ Smartphone หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยหลายวิธีเช่นการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นหรือการเข้าเว็บไซต์ที่ติดไวรัส เป็นต้น

เพื่อจัดการ ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวและป้องกันไม่ให้มีผู้หลงเชื่อดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสนั้นอีกต่อไป ทาง กสทช. จึงได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยทางผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นได้ทำการปิดกั้นการดาวน์โหลดจากลิงค์ดังกล่าวรวมทั้งแนะนำวิธีการลบมัลแวร์ไวรัสที่ได้ติดตั้งไว้ในตัวเครื่อง และทางผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ออกแอพลิเคชั่นเพื่อช่วยลบแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสได้ทันที โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในทุกเครือข่าย นอกจากนี้ค่ายมือถือทุกค่ายยังจะไม่จัดเก็บค่าบริการสำหรับผู้ที่โดนไวรัสนี้ส่งเอสเอ็มเอสต่อไปยังเครื่องอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ทาง กสทช. ยังแนะนำให้ผู้ใช้งานหมั่นตรวจสอบค่าบริการ รวมทั้งไม่กดลิงค์ดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือไม่ชัดเจน ไม่ติดตั้งแอพลิเคชั่นจากที่มาที่ไม่รู้จักเพื่อป้องกันการติดไวรัสดังกล่าว รวมไปถึงมัลแวร์ตัวอื่นที่เหล่ามิจฉาชีพคอยสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือโดยอาศัยแอพลิเคชั่นปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ใช้อีกด้วย

การที่กลุ่มมิจฉาชีพกระทำการดังกล่าวนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการทำให้ระบบมือถือของผู้อื่นเสียหายนั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย หากผู้อ่านท่านใดพบเห็นผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน กสทช. หรือกระทรวงไอซีทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *