"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

700 MHz ควรใช้ในกิจการใด ?

700 MHz ควรใช้ในกิจการใด ?

 

ท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามข่าวสารในแวดวงโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์คงทราบเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้อยู่บ้าง หากลองสังเกตจากในต่างประเทศจะพบว่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ถูกนำไปใช้ทั้งในกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อาทิ ประเทศแคนาดา อังกฤษ อเมริกา ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz สำหรับกิจการโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิตอล ในขณะที่ประเทศออสเตรเลีย บราซิล บรูไน อินโดนิเซีย สิงคโปร์และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ในกิจการโทรคมนาคมสำหรับทำ 4G หรือ LTE

สำหรับในประเทศไทยมี 2 แนวความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แนวความเห็นแรกคือคลื่นความถี่ 700 MHz ควรใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม แนวความคิดนี้อ้างอิงตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ในย่าน 698 – 806 MHz ซึ่งรวมถึงย่าน 700 MHz ใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม

ประกอบกับการที่มีรายงานการศึกษาโดยบริษัท Boston Consulting Group ในหัวข้อ Socio-Economic Benefit of Assigning the Digital Dividend to Mobile in Thailand ที่ได้เปรียบเทียบการนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้ในกิจการโทรทัศน์กับกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบในแง่ของเศรษฐศาสตร์ในปัจจัย 4 ประการ คือการเติบโตของ GDP การจ้างงานที่จะเกิดขึ้น ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นและค่าธรรมเนียมกับภาษีที่รัฐจะเก็บได้ โดยผลการเปรียบเทียบของ Boston Consulting Group เผยว่าหากนำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาใช้ในกิจการโทรคมนาคมจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเติบโตของ GDP มากกว่าการนำมาใช้ในกิจการโทรทัศน์เป็นจำนวน 14,800 ล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วงเวลา 7 ปี คือจากพ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2563 ตำแหน่งงานใหม่จะเกิดขึ้นจำนวน 55,000 ตำแหน่ง รวมถึงธุรกิจใหม่จำนวน 30,000 หน่วย ส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมภาษีที่รัฐจะเก็บได้นั้น กิจการโทรคมนาคมก็จะสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐได้มากกว่าเป็นจำนวน 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากรายงานผลการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังมีการรายงานว่าหากประเทศไทยนำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาใช้ในกิจการโทรทัศน์จะก่อให้เกิดการรบกวนกันของคลื่นและปัญหาในการประสานงานคลื่นความถี่กับประเทศเพื่อนบ้านที่นำคลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม อย่างเช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และพม่า ที่ได้ใช้คลื่นความถี่ 700 MHz ในการทำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในทางตรงกันข้ามหากกำหนดการใช้คลื่นความถี่อย่างสอดคล้องกันนอกจากจะขจัดปัญหาดังกล่าวไปได้แล้ว ยังส่งผลให้อุปกรณ์การสื่อสารไร้สายมีราคาถูกลง ช่วยให้ผู้ผลิตบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดที่กว้างขึ้น ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่มากขึ้น รวมไปถึงการที่นักท่องเที่ยวขาเข้าและขาออกของประเทศสามารถตรวจหาสัญญาณคลื่นความถี่เพื่อใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นอีกด้วย

การกำหนดว่าจะใช้คลื่นความถี่ 700 MHz สำหรับกิจการใดนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องของประเทศไทยแต่เพียงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการที่สมาคม GSMA หรือ The GSM Association ซึ่งเป็นองค์กรการค้าระดับโลกองค์กรหนึ่ง มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ให้บริการสื่อสารเคลื่อนที่ในระบบ GSM จำนวนมากกว่า 700 รายใน 218 ประเทศทั่วโลก โดยที่ในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารระบบ GSM จำนวนมากกว่า 190 รายเป็นสมาชิกหลัก ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าขอให้ กสทช. ทบทวนการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกับแผนย่านความถี่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific Telecommunity Band Plan ที่จะใช้คลื่นของย่านความถี่ 700 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคมในการทำโมบายบรอดแบนด์ อันเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งหากประเทศไทยจะนำเอาคลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้กับกิจการโทรทัศน์ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในแง่ของคลื่นสัญญาณที่จะรบกวนกัน

ส่วนแนวความเห็นที่สองที่จะนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้สำหรับกิจการโทรทัศน์นั้นอ้างอิงตามแผนความถี่ทีวีดิจิตอลที่กำหนดให้ช่วงความถี่ย่าน 510 – 790 MHz เป็นคลื่นความถี่สำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยแผนความถี่ทีวีดิจิตอลนี้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสําหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ซึ่งกำหนดชัดเจนแล้วว่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จะใช้ในกิจการโทรทัศน์ รวมถึงแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก็ไม่ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ไว้ใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมด้วยแต่อย่างใด ประกอบกับคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ถือว่าเป็นย่าน Low Band ที่มีข้อดีคือส่งสัญญาณได้ไกล ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่คลื่นความถี่ย่านนี้มีปริมาณความถี่ให้จัดสรรได้น้อย อาจไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณการเติบโตของข้อมูล (Data) ในระยะยาวได้หากนำไปใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ปัจจุบันแนวความคิดที่ว่าจะนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้ในกิจการโทรทัศน์นั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้จัดการใช้คลื่นความถี่ของประเทศไทยใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้ช่วงคลื่นความถี่ 510 – 790 MHz ใช้ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ แก้ไขเป็นช่วงความถี่ 470 – 698 MHz แทน โดยไม่รวมคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ไปไว้ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อีกต่อไป

การเสนอให้แก้ไขแผนความถี่ทีวีดิจิตอลจากที่กำหนดช่วงความถี่ 510 – 790 MHz ให้ขยับเป็น 470 – 698 MHz นั้นก็อาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากในปัจจุบันคลื่นความถี่ 470 MHz นั้นถูกใช้ในกิจการโทรคมนาคมและมีหน่วยงานที่ใช้คลื่นความถี่ย่านนี้อยู่ประมาณ 10 แห่ง เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กับทั้งยังไม่ตรงกับที่สมาคม GSMA เสนอว่าประเทศไทยควรใช้ย่านความถี่ 510 – 698 MHz สำหรับการประมูลช่องทีวีดิจิตอล และไม่ตรงกับที่ ITU กำหนดช่วงคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม คือ 698 – 806 MHz อีกด้วย ขณะนี้จึงควรติดตามดูกันต่อไปในการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม 2015 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 – 5 กรกฎาคมนี้ ประเทศไทยจะมีการประกาศการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างเป็นทางการออกมาหรือไม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *