"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ITU Telecom World 2013

ITU Telecom World 2013

www.lawyer-thailand.com

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก “ITU Telecom World 2013” ที่จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ITU มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศซึ่งเท่ากับจำนวนประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ โดยการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World นั้นจะมีการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเป็นประจำทุกปีโดยมักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของแต่ละปี อย่างเช่นในงาน ITU Telecom World 2011 : Open Networks Connected Minds ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่  5 – 9 ตุลาคม 2554และในปีต่อมางาน ITU Telecom World 2012 ซึ่งได้จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2555

สำหรับในปีนี้ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความพร้อมในการจัดงานระดับโลกอย่าง ITU Telecom World 2013 ด้วยประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์จัดประชุมและจัดแสดงสินค้ามาตรฐานระดับโลก มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมและการขนส่งอันทันสมัย เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าของภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการบิน มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และที่สำคัญคือมีศักยภาพด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ประเทศไทยจึงพร้อมจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ITU Telecom World 2013 ที่คาดว่าจะมีกว่า 20,000 คนจากทั่วโลก

งาน ITU Telecom World ในปีนี้จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “Embracing Change in a Digital World” อันเป็นการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิตอล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนทั่วไปให้มีการติดต่อสื่อสารกันผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศจำนวน 3 หน่วยงานเข้ามาร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการจัดงานประชุมระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการจัดงานดังกล่าว

ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่างานประชุม ITU Telecom World มีความสำคัญอย่างไร ITU Telecom World จะเป็นเสมือนเวทีหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของภาคอุตสาหกรรม ICT รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ITU Telecom World ยังเป็นงานระดับสากลที่จะมีบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาแสดงความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ ด้านการสื่อสารมากมายภายในงาน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้เป็นเวทีเจรจาทางธุรกิจ ตลอดจนการแบ่งปันความรู้ในระดับโลกอีกด้วย

ในแง่ของการสร้างรายได้ให้กับประเทศนั้น นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้รับเหมาจัดงานกว่า 400 ล้านบาทและรายได้ที่จะได้จากอุตสาหกรรม ICT อีกประมาณ 2,640 ล้านบาท รวมเป็น 3,040 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 200 ล้านบาท และภาษีนิติบุคคลประมาณ 320 ล้านบาท จะทำให้มีเงินเข้ารัฐได้กว่า 520 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงประโยชน์ที่จะได้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมและห้างสรรพสินค้าจากผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งคนไทยและต่างชาติกว่า 20,000 คน เพราะสมาชิกของ ITU มีมากถึง 193 ประเทศ และยังมีองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 700 องค์กรอีกด้วย

นอกจากงานประชุม ITU Telecom World 2013 แล้วประเทศไทยยังได้รับการคัดเลือกจาก ITU ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิก 2013 หรือ Connect Asia – Pacific Summit 2013 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงและสร้างความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือในระดับกระทรวง รวมถึงมีการจัดอภิปรายเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงสุดโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องหลัก ๆ จากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคด้วย ดังนั้น Connect Asia – Pacific Summit 2013 จึงถือเป็นเวทีสำหรับผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการประชุมหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเงินและทรัพยากรด้านเทคนิคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการลดช่องว่างการพัฒนาด้าน ICT ของภูมิภาคตลอดจนเป็นเวทีสำหรับผู้นำจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศในระดับโลกและภูมิภาคที่จะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายการพัฒนาของภูมิภาคร่วมกัน ซึ่งเป็นการตอกย้ำการมีบทบาทสำคัญของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับขององค์การระหว่างประเทศ

การได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิก 2013 ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะได้ใช้เป็นเวทีในการแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศ ตลอดจนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมในระดับสูง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดโอกาสการจับคู่ธุรกิจและการแบ่งปันความรู้ในระดับโลก กับเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรไทยกับการจัดงานในระดับโลก อีกทั้งสนับสนุนความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 อีกด้วย

 

ผู้จัดประมูลทีวีดิจิตอล

ผู้จัดประมูลทีวีดิจิตอล

www.lawyer-thailand.com

สถานการณ์ความคืบหน้าในการจัดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ภายหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 บอร์ด กสทช. ได้อนุมัติเรื่องการกำหนดราคาและหลักเกณฑ์การประมูลซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมากที่จะเข้าร่วมประมูลช่อง ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง บทความฉบับนี้เราจะขอนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประมูลทีวีดิจิตอล

ในการจัดประมูลครั้งนี้จะต้องมีผู้ทำหน้าที่จัดการประมูล ซึ่งที่ประชุม กสท. ได้ทำการพิจารณาเลือกผู้กำกับดูแลการประมูลทีวีดิจิตอลแล้ว โดยที่ประชุมเห็นชอบให้บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจในครั้งนี้ บอร์ด กสท. ได้ให้เหตุผลในการเลือกไว้ว่าสาเหตุที่เลือก CAT นั้นเนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าเป็นบริษัทโปร่งใส เพราะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ มีประสบการณ์ทางด้านอี – ออคชั่นมาแล้วกว่า 7 – 8 ปี หรือประมาณ 8 หมื่นครั้ง อย่างเช่นการประมูลการสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ ที่มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากมีมติเลือกแล้ว CAT มีหน้าที่จะต้องยืนยันกับ กสทช. ว่าไม่มีส่วนได้เสียใดๆ กับผู้เข้าประมูลในครั้งนี้ ถ้าหากทาง กสทช. พบว่า CAT มีส่วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่ง กสทช. ก็จะไม่เลือกบริษัทดังกล่าวมาเป็นผู้ดำเนินการแน่นอน เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

บริษัทที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องทำหน้าที่เป็นตลาดกลางในเรื่องของการประมูลในแง่ของอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ที่จะต้องปรับให้เข้ากับสิ่งที่ กสทช. กำหนดด้วย จากนั้นจึงดำเนินการประมูล ทั้งนี้ในการประมูลจะมีการดำเนินการถ่ายทอดสดในโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบปกติหรือฟรีทีวีด้วย เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส จึงคาดว่าจะมีการเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้ ส่วนงบการประมูลประคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 10 ล้านบาท

ในส่วนของการประมูลช่องรายการเด็กนั้น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา กสทช. เผยว่าจะวางหลักเกณฑ์การประมูลช่องเด็กเพิ่มเติม จากเดิมที่กำหนดช่องให้ประมูลไว้จำนวน 3 ช่องและกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นไว้ที่ 140 ล้านบาท โดยรายละเอียดเบื้องต้นจะนำช่องโทรทัศน์ของ ไทยพีบีเอส มาพัฒนาเป็นช่องสำหรับเด็กและครอบครัว พร้อมทั้งกำหนดให้มีการควบคุมโฆษณาที่ฉายในขณะนั้น นอกจากนั้นแล้วช่องรายการสำหรับเด็กควรแบ่งเป็นช่วงอายุตั้งแต่ 1-3 ปี 6 ปี 10 ปี และ 12 ปี เพื่อให้รายการโทรทัศน์มีความเหมาะสมกับวัยและวิจารณญาณของเด็กและเยาวชนที่ดูอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

หลักการดังกล่าวทำให้คาดว่าช่องรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอาจมีปัญหาเรื่องขาดรายได้ในการโฆษณา ซึ่งผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่าช่องทีวีเด็กไม่ควรนำมาประมูลแต่ควรจับช่องเด็กไปรวมกับรายการสาธารณะเพราะมีรายได้น้อยจากโฆษณาและเรตติ้งจากผู้ชมน้อยกว่ารายการโทรทัศน์ประเภทอื่น หากกำหนดให้มีการประมูลจะทำให้ต้นทุนของรายการโทรทัศน์เด็กสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้วัตถุประสงค์ของรายการสำหรับเด็กเปลี่ยนไป เช่น ผู้ประกอบการอาจนำภาพยนตร์การ์ตูนที่มีความรุนแรงและเป็นที่นิยมของเด็กมาฉายมากขึ้น แต่กลับไม่เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจต่อเด็ก ปัญหาเรื่องทีวีช่องของเด็กนั้นยังต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมพร้อมกำหนดแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ก่อนที่ กสทช. จะมีการจัดให้มีการประมูลทีวีดิจิตอลขึ้น

จากหลักการที่ดีของการจัดประมูลทำให้คาดการณ์ว่า การประมูลทีวีดิจิตอลในปลายปีที่จะถึงนี้จะมีการพลิกโฉมให้กับประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ของบ้านเรา ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่ามีจำนวนผู้ประมูลหลายรายได้ให้ความสนใจเข้าประมูลในหลายช่องรายการ ซึ่งข่าวที่ออกมาในตอนนี้นั้นเป็นเพียงกระแสเริ่มต้น ยังมีเวลาอีกพอสมควรก่อนจะเริ่มก่อนการประมูลที่ ในช่วงเวลาต่อไปนี้ จึงต้องรับฟังข่าวสารเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ค่าบริการ 3G ลดแล้ว

ค่าบริการ 3G ลดแล้ว

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลังจากที่มีกระแสพูดถึงค่าบริการ 3G ใหม่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดให้บริการดูเหมือนว่าจะไม่มีการปรับลดราคาลงดังที่มีการคาดหมายกันไว้ ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทสช. ต้องเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายอันได้แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือ TRUEMOVE และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือ DTAC มาหารือถึงแนวทางในการลดค่าบริการ 3G ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 15 ตามที่ได้มีการประกาศไว้ ซึ่งผลการหารือก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นที่น่าพอใจของบรรดาผู้ใช้บริการทั้งหลาย เมื่อผู้ประกอบการทั้ง 3 รายยอมลดค่าบริการลงตามที่ กสทช. กำหนด

สำหรับรายการส่งเสริมการขาย 3G เดิม (บนคลื่นความถี่อื่น) ที่ยกมาให้บริการต่อบนคลื่นความถี่ 2.1 GHz นั้นจะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในขณะที่รายการส่งเสริมการขายที่ออกใหม่สำหรับบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz นั้นมติที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กำหนดให้ใช้อัตราเฉลี่ยของวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ กสทช. ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเป็นฐานในการกำหนดอัตราค่าบริการใหม่ที่ต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15 โดยอัตราเฉลี่ยค่าบริการประเภทเสียงจากเดิมที่คำนวณได้คือ 97 สตางค์ต่อนาที ลดลงเหลือ 82 สตางค์ต่อนาที ค่าบริการข้อความสั้นหรือ SMS จากเดิมข้อความละ 1.56 บาท ลดลงเหลือ 1.33 บาทต่อข้อความ ค่าบริการ MMS จากเดิมข้อความละ 3.90 บาท ลดลงเหลือ 3.32 บาทต่อข้อความ และค่าบริการอินเทอร์เน็ตจากเดิม 33 สตางค์ต่อ 1 Mb ลดลงเหลือ 28 สตางค์ต่อ 1 Mb โดย กสทช. จะเริ่มตรวจสอบอย่างจริงจังในอีก 1 เดือนหลังจากวันที่ 27 พฤษภาคมที่ประกาศมาตรฐานราคากลางและรอบใบแจ้งหนี้เดือนแรกของคลื่นความถี่ 2.1 GHz ออกมาแล้ว

หากพิจารณาถึงค่าบริการ 3G ประเภทเสียง (Voice) ที่ถูกกำหนดให้ลดลงเหลือ 82 สตางค์ต่อนาทีนั้นจะพบว่าถูกกว่าที่ กสทช. เคยออกประกาศกำหนด เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ และหากเทียบกับค่าบริการในต่างประเทศแล้วจะพบว่าต่ำกว่าราคาค่าบริการในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น

นอกจากในประเด็นของค่าบริการแล้ว มาตรฐานความเร็วในการใช้งาน 3G ประเภทการรับ-ส่งข้อมูล (Data) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความคืบหน้าออกมาเช่นกัน ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการกรณีความเร็วของการใช้งานรับ-ส่งข้อมูลบน 3G ที่ลดลงเมื่อผู้ใช้บริการใช้ความเร็วสูงสุดครบตามที่ผู้ประกอบการกำหนด ระบบจะทำการลดความเร็วลงอัตโนมัติตามกฎที่ผู้ประกอบการตั้งขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกว่า Fair Usage Policy (FUP) ให้มาอยู่ที่ 64 – 128 Kbps ต่อวินาทีตามแต่ผู้ประกอบการจะกำหนด แต่ในการประชุมหารือเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา กสทช. ได้ให้ผู้ประกอบการยึดหลักปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกำหนดให้ความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลกรณี Download ต้องไม่ต่ำกว่า 345 kbps และไม่ต่ำกว่า 153 kbps สำหรับการ Upload ด้วย

โดยปกติค่าบริการของผู้ประกอบการมักจะแปรผันตามการแข่งขันของตลาด ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดสามารถมอบคุณภาพการบริการแก่ประชาชนผู้ใช้บริการที่ดีกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ผู้ให้บริการรายนั้นก็อาจจะคิดอัตราค่าบริการที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องเป็นไปตามอัตราค่าบริการที่ไม่สูงไปกว่าที่ กสทช. ประกาศกำหนด ภายใต้คุณภาพที่ได้มาตรฐานทั้งด้านเสียงและข้อมูล

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

 

7 รายการที่ต้องได้ดู

7 รายการที่ต้องได้ดู

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์สำคัญในการเผยแพร่ภาพการแข่งขันกีฬาโดยกำหนดประเภทของการแข่งขันที่คนไทยทุกคนจะต้องได้ดู

นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการโทรทัศน์ในช่องทางต่างๆ ทั้งตัวแทนฟรีทีวีและเคเบิลทีวีเกี่ยวกับร่างประกาศใหม่ของ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การแพร่ภาพรายการแข่งขันกีฬาที่สำคัญ

ในอดีตการถือครองลิขสิทธิ์กีฬาจะเป็นลักษณะการแข่งกันประมูลด้วยราคาลิขสิทธิ์มหาศาลที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์ด้วยมูลค่าสูงสุดติดอันดับแรกๆ ของโลกและเป็นการซื้อลิขสิทธิ์แบบผูกขาด แต่ในขณะนี้ กสทช. กำลังขอความเห็นเพื่อพิจารณาร่างประกาศลิขสิทธิ์กีฬาบางชนิดที่คนไทยต้องการดูซึ่งผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ควรแบ่งให้ฟรีทีวีและเคเบิลทีวีออกอากาศได้ด้วย เรียกว่า “ร่าง Non-Exclusive” หรือมาตรการแบ่งให้ โดยผู้ประกอบการไม่สามารถผูกขาดหรือกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้

การแบ่งจะต้องเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ผูกขาดไว้เพียงเจ้าเดียวเพราะจะเป็นการกีดกันทำให้ผู้ชมเสียประโยชน์ไม่สามารถรับชมได้ การแข่งขันกีฬาที่ กสทช. ได้มีการกำหนดเบื้องต้นว่าจะต้องมีการแบ่งลิขสิทธิ์ให้ฟรีทีวีและเคเบิลทีวีในขณะนี้ยังเป็นการกำหนดในเบื้องต้นเท่านั้น สามารถเพิ่มเติมหรือลดรายการจากที่กำหนดไว้แล้วได้

ชนิดกีฬาที่บังคับถ่ายทอดสด 7 รายการประกอบด้วย รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นส์คัพ รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพรอบสุดท้ายและรอบที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกหรือฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย การแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก รายการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับชิงแชมป์โลก รายการแข่งขันเทนนิส เดวิส คัพ

เหตุผลที่ กสทช. ออกร่างประกาศ Non-Exclusive นี้เพราะต้องการให้กีฬาบางรายการที่ประชาชนให้ความสนใจ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและรับชมได้อย่าวทั่วถึง กับทั้งยังเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง เพราะการแบ่งให้ถ่ายทอดสดนั้นสามารถต่อรองเรื่องส่วนแบ่งต้นทุนค่าลิขสิทธิ์กับผู้ประกอบการรายอื่นที่จะนำไปออกอากาศได้ อีกทั้งประเภทรายการกีฬาทั้ง 7 รายการล้วนเป็นประเภทที่มีผลต่อตลาดน้อย เนื่องจากนโยบาย กสทช. ไม่ประสงค์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกเรื่องการตลาดการแข่งขัน ดังนั้นในกรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ฟุตบอลโลก หรือรายการที่มีการแข่งขันกันสูง กสทช. จะไม่มีการนำร่างประกาศฉบับนี้เข้าไปบังคับใช้

ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ตัวแทนของฟรีทีวีและเคเบิลทีวีส่วนใหญ่เห็นด้วยและได้เสนอแนวความคิดเรื่องการประมูลกีฬาชนิดต่างๆ ว่าควรให้ผู้ประกอบการในแต่ละช่องทางได้พูดคุยกันมากกว่าการแข่งขันกัน เนื่องจากในปัจจุบันการประมูลมีตัวเลขค่อนข้างสูงและผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับคนไทย นอกจากนี้ยังเสนอให้ก่อตั้งหน่วยงานกลางของผู้ประกอบการเพื่อจัดซื้อลิขสิทธิ์กีฬาต่างประเทศ และก่อนที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์กีฬาใดควรที่จะมีการพูดคุยกับผู้ที่สนใจลิขสิทธิ์กีฬารายการเดียวกันและรวมเงินกันไปซื้อเพื่อป้องกันการซื้อลิขสิทธิ์ด้วยราคาที่แพงมหาศาลเหมือนที่เป็นมาซึ่งผลเสียจะอยู่กับผู้บริโภค ในขณะที่นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล ที่ปรึกษานายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยได้เสนอว่า กสทช. ควรออกประกาศบังคับให้ทุกชนิดกีฬา ไม่ใช่แค่เพียง 7 ประเภทรายการต้องแบ่งการออกอากาศ ห้ามถือครองลิขสิทธิ์ผูกขาดไว้แต่เพียง ผู้เดียว ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดมูลค่าเพิ่มจากการแข่งขันช่วงชิงเป็นผู้ชนะในการประมูลลิขสิทธิ์รายการใดรายการหนึ่งของผู้ประกอบการรายใหญ่อันจะเป็นการลดต้นทุนในการประมูลค่าลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง

ร่างประกาศฉบับนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ยังไม่มีผลบังคับใช้และมีโอกาสที่จะเพิ่มหรือลดประเภทรายการ หรือมีการเปลี่ยนแปลงประเภทรายการกีฬาได้ ผู้บริโภคจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด แต่อย่างน้อยที่สุดนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นการพัฒนาวงการโทรทัศน์ไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

บริการคงสิทธิเลขหมาย

บริการคงสิทธิเลขหมาย

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ Mobile Number Portability (MNP) คือการที่ลูกค้าผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งสามารถย้ายไปใช้บริการหรือย้ายไปเป็นลูกค้าของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกรายหนึ่งได้โดยที่ยังคงใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมของตน ไม่จำต้องเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ ทั้งนี้โดยผ่านศูนย์ระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลกลางของบริษัทที่เกิดจากการร่วมลงทุนกันของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง 5 ราย อันได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “บริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด” หรือเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing House)

ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด หรือ Clearing House ทำหน้าที่ดูแลการย้ายค่ายโดยคงเลขหมายเดิมของลูกค้าไว้ ศูนย์นี้จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกระบวนการโอนย้ายเลขหมายและอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการประสานงานระหว่างผู้ให้บริการรายเดิมกับผู้ให้บริการรายใหม่กับเป็นระบบฐานข้อมูลที่บันทึกรายละเอียดของเลขหมายโทรศัพท์ที่ได้มีการเปลี่ยนผู้ให้บริการด้วย ตามกำลังโดยเต็มนั้น Clearing House สามารถโอนย้ายเลขหมายได้สูงสุดถึงวันละ 1 – 3 แสนเลขหมายต่อวัน

แต่เดิมในอดีตไม่มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เพิ่งจะมีในสมัยของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ที่ได้กำหนดรับรองสิทธิของลูกค้าผู้ใช้บริการและกำหนดหน้าที่รวมถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ ของผู้ให้บริการไว้ในประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553) โดยประกาศเรื่องการคงสิทธิเลขหมายนี้ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวได้กำหนดสาระสำคัญให้การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นสิทธิโดยแท้ของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการจะกระทำการใดๆ อันเป็นการกีดกันขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวการโอนย้ายมิได้ หรือจะปฎิเสธคำขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการโดยหลักนั้นก็มิอาจกระทำได้ เว้นแต่ จะปรากฏว่าเลขหมายที่จะขอโอนย้ายนั้นได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติหรือเป็นกรณีของเลขหมายที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี เหล่านี้เป็นต้น ผู้ให้บริการจึงจะมีสิทธิในการปฏิเสธไม่ทำการโอนย้ายให้ได้

สำหรับขั้นตอนการขอโอนย้ายนั้นลูกค้าผู้ใช้บริการจะต้องยื่นคำขอโอนย้ายต่อผู้ให้บริการรายใหม่ที่ตนประสงค์จะทำการโอนย้ายไป ณ จุดที่ผู้ให้บริการรายใหม่กำหนด โดยมีกำหนดเวลาว่าการดำเนินการโอนย้ายต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ยื่นขอและสำหรับกรณีของค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมการโอนย้ายที่ผู้ใช้บริการจะต้องชำระนั้น ประกาศฯ กำหนดว่าให้เป็นอัตราที่คณะกรรมการ กสทช. กำหนดซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตราค่าธรรมเนียมที่ 99 บาท

มาตรการในการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังค่ายอื่นโดยคงเลขหมายเดิมนี้เป็นมาตรการที่ดีในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น กรณีที่สัญญาสัมปทานของผู้ให้บริการจำนวน 2 รายกำลังหมดอายุลง โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังคงใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมได้อยู่แม้ว่าจะเปลี่ยนบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว แต่การที่ Clearing House โอนย้ายเลขหมายได้เพียงวันละ 40,000 เลขหมายนั้นย่อมเป็นการยากที่จะโอนย้ายเลขหมายให้เสร็จเร็วทันวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายนปีนี้ได้ ในกรณีตามตัวอย่างนี้การโอนย้ายเลขหมายกว่า 17 ล้านเลขหมาย โดยโอนย้ายวันละ 40,000 เลขหมาย จะต้องใช้เวลาในการโอนย้ายเลขหมายทั้งหมดถึง 425 วัน ดังนั้นจึงมีการได้เสนอแนวทางให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กำหนดวิธีโอนย้ายค่ายจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ให้ลูกค้าสามารถโอนย้ายเลขหมายได้เต็มศักยภาพของ Clearing House เช่นที่จำนวน 300,000 เลขหมายต่อวัน

นอกจากนี้ยังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. เองก็ได้มีข้อเสนอ ให้ กสทช. พิจารณาและดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เผชิญกับปัญหาซิมดับเมื่อถึงวันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง เช่นข้อเสนอที่ให้ กสทช. ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานและบริการของบริษัททั้งสองที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ พร้อมทั้งแนะนำเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย โอนย้ายค่ายแก่ผู้บริโภค การเร่งให้ผู้ให้บริการร่วมมือกันในการเพิ่มขีดความสามารถของ Clearing House ในการโอนย้ายลูกค้าไปยังค่ายอื่น เนื่องจากการโอนย้ายค่ายแต่ยังคงใช้เบอร์เดิมนั้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะสามารถทำได้โดยหลัก

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร