"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ความเร็วอินเตอร์เน็ต

ความเร็วอินเตอร์เน็ต

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้อีกแล้วว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพประชากร การใช้งานอินเตอร์นั้นสามารถทำได้หลากหลาย เช่น อาจใช้เพื่อความบันเทิงในการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ หรือใช้ส่งข้อมูลจากเครื่องตัวเองไปที่เว็บไซต์ (อัพโหลด) หรือนำข้อมูลจากเว็บไซต์มาลงคอมพิวเตอร์ (ดาวน์โหลด) ทำให้อินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมจากทั่วทุกมุมโลก สำหรับในประเทศไทยของเราเริ่มใช้อินเตอร์เน็ตตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2530 โดยเป็นประเทศที่สามในอาเซียนที่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาการใช้อินเตอร์เน็ตได้เริ่มแพร่หลายตามจังหวัดใหญ่ๆ และในตัวเมืองของจังหวัดอื่นๆ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าในปี พ.ศ. 2553 ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 14.6 ล้านคน หรือประมาณ 21.2% ของประชากรทั้งหมด

อินเทอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยพื้นฐานระดับต้นๆ หากมองในแง่ของชีวิตประจำวัน ยิ่งปัจจุบัน Social Network ต่างๆ อาทิ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ กำลังเป็นที่นิยมมากในยุคนี้ ประชาชนส่วนมากมีความต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในระดับความเร็วสูงถึงสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามจากการทดสอบคุณภาพของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตล่าสุดยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพึงพอใจนัก ผลการทดสอบพบว่าความเร็วเฉลี่ยของอินเตอร์เน็ตประเทศไทย เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์โดยคิดยอดจากทั่วประเทศมาเป็นค่าเฉลี่ยออกมาแล้วผลปรากฏว่าความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยในไทยมีค่า 70.8% ความเร็วอัพโหลดมีค่า 14.6 % ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยความเร็วอินเตอร์เน็ตระดับโลก แม้ว่าไทยจะเป็นที่ 3 ของอาเซียน ดังนั้นการที่จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากจึงไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของอินเตอร์เน็ตจะดีมากขึ้นตามไปด้วย เราจะต้องมาดูปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่พัฒนาไปดีเท่าที่ควรจะเป็น

ปัญหาหลักที่พบคือขาดความเสถียรในการใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่างพื้นที่ กล่าวคือในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ของกรุงเทพมหานครนั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตมีความรวดเร็วมาก ตรงกันข้ามกับตามต่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่กลับไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แม้เราจะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz แล้วแต่ดูเหมือนแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยหลายๆแห่งยังถือว่าล่าช้าอยู่มาก

อย่างไรก็ดีปัญหาอินเตอร์เน็ตล่าช้านั้นไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทเพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็มีส่วนด้วยเช่นกันเนื่องจากเรามีคนใช้อินเตอร์เน็ทกันเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ใช้งานส่วนมากไม่รู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ทอย่างถูกต้องทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ทไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นตัวอุปกรณ์ที่ใช้เล่นอินเตอร์เน็ตกันอยู่ในปัจจุบันอาจมีมาตรฐานที่ไม่ดีพอ คอมพิวเตอร์บางเครื่องอาจมีความช้าเกินในการเข้าหน้าเว็บไซต์หรือติดไวรัสทำให้ทำงานช้าลง สายโทรศัพท์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็อาจเป็นสายแบบเก่าทำให้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้ดีเท่าที่ควร

เมื่อมองถึงปัญหาต่างๆ ดังกล่าวรัฐจึงต้องพยายามแก้ไข ทั้งนี้ในปัจจุบันความต้องการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(“ไอซีที”) ได้วางนโยบายบางส่วนเช่นการเตรียมออกนโยบายพัฒนาอินเตอร์เน็ทในระยะยาวด้วยการนำ Internet Protocol Version 6 (“IPv6”) ขึ้นมาใช้แทน Internet Protocol Version 4 หรือ IPv4 เพราะเทคโนโลยีใหม่กว่าจะสามารถเชื่อมต่อกับ 3G หรือ 4G ได้ดีขึ้นและความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตน่าจะมีมากขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากจะแก้ปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ทที่ขัดข้องในปัจจุบันอย่างเร่งด่วนนั้น อาจควรมีการตรวจสอบผู้ให้บริการว่าการให้บริการนั้นสามารถทำได้ตามที่โฆษณาไว้กับผู้บริโภคหรือไม่หรือมีเหตุขัดข้องตรงไหน หากมีจะได้ช่วยกันตรวจสอบและแก้ไข และควรให้ความสำคัญกับตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ทว่าได้ใช้งานอินเตอร์เน็ทอย่างถูกวิธีหรือไม่ เช่น อาจจัดให้มีการอบรมทักษะการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้องโดยอาจเริ่มที่หน่วยงานของรัฐแล้วกระจายไปยังภาคเอกชน

เนื่องจากความสมบูรณ์ของการให้บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะประเทศใดๆในโลกก็ตามล้วนแต่มีจุดบกพร่องอยู่ แต่หากว่าเราสามารถที่จะช่วยกันตรวจสอบและแก้ไขแล้ว มาตรฐานอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดของประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

ทดลองประมูลทีวีดิจิตอล

ทดลองประมูลทีวีดิจิตอล

www.lawyer-thailand.com

ในคอลัมน์นี้เราจะมาตามติดความเคลื่อนไหวในการประมูลทีวีดิจิตอลที่มีประเด็นน่าสนใจและเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดให้มีการ
ทดลองประมูลคลื่นความถี่หรือ Pre-Mock Auction เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทช่องบริการธุรกิจทั้ง 24 ช่องขึ้น

ขั้นตอนในการทดลองมีการกำหนดเหมือนสถาณการณ์จริง เช่น การกำหนดวงเงินให้กับผู้เข้าร่วมประมูล กำหนดเวลาที่ใช้ รวมถึงกฎเกณฑ์ในการประมูลต่างๆ ยกเว้นแต่เพียงระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการทดลองประมูลในครั้งนี้เป็นโปรแกรมที่มีการจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับการทดสอบหรือทดลองเท่านั้น แต่จะไม่นำไปใช้ในการประมูลจริง โดยในระหว่างการทดสอบประมูลได้เกิดเหตุซอฟต์แวร์ล่มแต่ก็สามารถกู้ระบบกลับมาได้ในเวลาต่อมา ซึ่งในฐานะของประชาชนผู้บริโภคทำให้เห็นว่าการทดลองประมูลในครั้งนี้มีประโยชน์หลายประการ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้รับรู้กับเข้าใจกฎเกณฑ์การประมูลรวมถึงได้ลองปฏิบัติจริงแล้ว ยังทำให้ทราบถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับระบบซอฟแวร์ก่อนการประมูลจริงอีกด้วย ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กสท. ได้ชี้แจงว่าระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์จริงที่จะใช้ในการประมูลนั้นจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาจากผลที่ได้จากการทดลองและคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในช่วงเดือนสิงหาคมก่อนการประมูลในเดือนกันยายนปีนี้

ทั้งนี้การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจทั้ง 24 ช่องที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทช่องใบอนุญาตตามสูตร 3-7-7-7 ได้แก่ ช่องรายการเด็กจำนวน 3 ช่อง ช่องรายการข่าวจำนวน 7 ช่อง ช่องรายการทั่วไประบบความคมชัดมาตรฐาน (SD) จำนวน 7 ช่องและช่องรายการทั่วไปออกอากาศในระบบความคมชัดสูง (HD) จำนวน 7 ช่อง รวมไปถึงการกำหนดเพดานการถือครองช่องรายการของผู้เข้าประมูลทีวีดิจิตอล 1 ราย สามารถถือครองช่องรายการสูงสุดได้ไม่เกิน 3 ช่องรายการภายใต้เงื่อนไขที่ว่าห้ามผู้ประกอบการ 1 รายถือครองช่องรายการประเภท HD ควบกับช่องรายการข่าว ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ข้อกำหนดเรื่องเพดานและเงื่อนไขการประมูลดังกล่าวจะยังคงได้รับการโต้แย้งจากผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่ต้องการให้มีการจำกัดเพดานจำนวนใบอนุญาตรวมถึงการห้ามถือครองช่องรายการข่าวคู่กับช่องรายการ HD แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผู้ประกอบการยังต้องเคารพและปฏิบัติตามอยู่

การจัดทดลองประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องที่ผ่านมาทำให้เราพอจะมองเห็นภาพแล้วว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่จะเข้าร่วมการประมูลในเดือนกันยายนนี้ ทั้งรายใหญ่และรายเก่าที่เคยประกาศตัวอย่างชัดเจนมาก่อนหน้าว่าประสงค์ที่จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลก็ได้มาแสดงตัวในการทดลองการประมูลกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 หรือผู้ประกอบการที่เราเห็นหน้าคร่าตากันผ่าน Pay TV อย่าง บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่นับว่าเป็นรายใหม่ในวงการโทรทัศน์เข้ามาให้ความสนใจและเผยโฉมว่าจะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย เช่น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด ในเครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมทั้งนายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์สด้วย รวมผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมทดลองประมูลช่องประเภทธุรกิจทั้ง 4 ประเภท 24 ช่องแล้วกว่า 40 ราย ซึ่งน่าจะทำให้การประมูลทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วๆ นี้มีความคึกคักอย่างยิ่ง

นอกจากนี้การประมูลทีวีดิจิตอลยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลที่ยังไม่มีการประกาศกำหนดออกมาในขณะนี้ ด้วยเหตุผลที่ กสทช. กล่าวว่าหากมีการกำหนดราคาค่าบริการโครงข่ายตั้งแต่เริ่มต้นอาจทำให้บรรดาผู้ให้บริการโครงข่ายที่ได้รับใบอนุญาตไม่สร้างและพัฒนาโครงข่ายเท่าที่ควร จึงต้องให้ฝ่ายผู้ให้บริการโครงข่ายเป็นผู้เสนอราคาและเสนอแผนในการขยายโครงข่ายต่อ กสท. ก่อน และ กสท. จะประกาศราคาค่าบริการก่อนการประมูล 30 วัน

ในขณะที่ทางฝ่ายผู้ประกอบการที่เข้าจะเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลมีความกังวลถึงราคาและความสามารถในการให้บริการของผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น คุณภาพของอุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรที่จะดูแล บรรดาผู้ประกอบการจึงต้องการให้ กสทช. เข้ามากำกับเรื่องการคิดค่าบริการเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบเพราะอาจส่งผลในระยะยาวทำให้การแพร่ภาพไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดีในส่วนของราคาค่าบริการหรือคุณภาพของอุปกรณ์รวมทั้งความครอบคลุมของโครงข่ายนั้นคงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เมื่อบรรดาผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 4 ใบอนุญาตจากทั้งหมด 6 ใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์
ไทยพีบีเอส กองทัพบกและกรมประชาสัมพันธ์นั้น ได้เดินหน้าร่วมมือกันทำความตกลงใช้อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันแล้ว อาทิ อุปกรณ์ส่งสัญญาณ ระบบเชื่อมต่อ เสาอากาศและสถานีฐาน ทั้งนี้เพื่อทำการรวบรวมช่องสัญญาณบนโครงข่ายในระบบโทรทัศน์ทั้งหมดไว้ในที่เดียวกันและส่งสัญญาณพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมากเพราะการลงทุนวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลในปีแรกนั้นหากต่างฝ่ายต่างทำแล้ว ผู้ให้บริการรายหนึ่งจะต้องเสียเงินไปกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงค่าที่ดินในการตั้งสถานีฐานไม่ต่ำกว่ารายละ 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในส่วนของราคาให้บริการโครงข่ายที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายนั้น เบื้องต้นบรรดาผู้ประกอบโครงข่ายทั้ง 4 รายได้ตกลงกันว่าผู้ให้บริการโครงข่ายทุกรายจะคิดราคาค่าใช้บริการในอัตราราคาเดียวกันทั้งหมด ส่วนราคาให้บริการที่แน่นอนจะหาข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้

กว่าจะถึงการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจในเดือนกันยายนนี้น่าจะมีข่าวคราวความคืบหน้ารวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ออกมาจากทั้งทางฝั่ง กสทช. และทางฝั่งบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องนับจากนี้วงการโทรทัศน์ของไทยน่าจะได้เห็นสีสันของการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ

พัฒนาอันดับ ICT

พัฒนาอันดับ ICT

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ด้วยความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลโดยตรงต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ องค์การ World Economic Forum หรือ WEF จึงได้จัดอันดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ Networked Readiness Index (NRI) ของประเทศสมาชิกต่างๆ จำนวน 144 ประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปีเพื่อชี้วัดว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าในปีนี้อันดับ NRI ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 74 ซึ่งปรับอันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากดับดับที่ 77 ของโลก

จากสถิติที่ผ่านมาเราจะพบว่าอันดับ NRI หรืออันดับความพร้อมด้าน ICT สำหรับการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีทิศทางที่ไม่ค่อยดีนัก เช่น ในปี 2006 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ปี 2007 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 37 ต่อมาปี 2008 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ถัดมาในปี 2009 และ 2010 ประเทศไทยอยู่คงที่ในอันดับที่ 47 ต่อมาในปี 2011 ประเทศไทยได้อันดับที่ 59 และปี 2012 ประเทศไทยตกไปอยู่ในอันดับที่ 77 ของโลกจากทั้งหมด 142 ประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมกันในปี 2015 อย่างสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

ทิศทางในการพัฒนาอันดับ NRI ของประเทศไทยดีขึ้นและมีความหวังสดใสมากขึ้นเมื่อในปี 2013 นี้ประเทศไทยได้อันดับที่ดีขึ้น คืออยู่ในอันดับที่ 74 ซึ่งแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอื่นอย่างอินโดนิเซียที่อยู่ในอันดับที่ 76 เวียดนามที่อยู่ในอับดับที่ 84 และกัมพูชาที่อยู่ในอันดับที่ 106
หลายท่านคงอยากทราบว่าอันดับ NRI นี้พิจารณาจากอะไรและบ่งชี้ถึงอะไรที่เกี่ยวกับประเทศไทย อันดับ NRI นั้นจะพิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Component) ประกอบไปด้วยสภาพแวดล้อมด้านตลาด ด้านกฎระเบียบกับการกำกับดูแล และด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน ความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ปัจจัยที่สองคือความพร้อมในการใช้งานด้าน ICT (Readiness Component) ซึ่งประกอบด้วยความพร้อมของประชาชนในการใช้ ICT เช่น อัตราค่าบริการทั้งโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงความเท่าทันเทคโนโลยีของผู้ใช้บริการ ความพร้อมของภาคธุรกิจในการใช้ ICT และความพร้อมของภาครัฐในการใช้ ICT ปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยด้านการใช้งาน ICT (Usage Component) ซึ่งประกอบด้วยการใช้งานของประชาชน เช่น จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต การใช้งานของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความสามารถในการคุ้มครองสิทธิบัตรและการใช้งาน ICT ของภาครัฐ เช่น ความสำเร็จในการนำ ICT มาใช้ในภาครัฐ บริการออนไลน์ของภาครัฐกับความทั่วถึงของหน่วยงานของรัฐที่นำ ICT มาใช้งาน

ข้อมูลข้างต้นของแต่ละประเทศที่ World Economic Forum จะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาอันดับ NRI นั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากสหภาพโทรคมนาคมสากล (International Telecommunication Union : ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) ในสัดส่วนร้อยละ 43 ของจำนวนข้อมูลทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 57 เป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ (Survey Data)

จากการที่ World Economic Forum เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ รวมถึงการเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมายาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ผลการจัดอันดับที่ออกมารวมถึงปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ในการจัดอันดับ NRI เป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดหรือปรับปรุงนโยบายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดอันดับ NRI มุ่งเน้นไปที่ความพร้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแต่ละประเทศซึ่งรวมถึงกิจการด้านโทรคมนาคมด้วย

สำหรับอันดับ NRI ของประเทศไทยในปี 2013 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ขยับดีขึ้นนั้นน่าจะเกิดจากความร่วมมือทำงานของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าจากการที่ประเทศไทยได้จัดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดยสำนักงาน กสทช. ที่ช่วยทำให้ประเทศไทยมี 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐานสากล ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าด้านการรับ – ส่งข้อมูล (Data) บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเพิ่มจำนวนประชาชนที่เข้าถึงบริการ 3G ให้มากขึ้น รวมไปถึงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมหรือ USO ที่เน้นกระจายการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตสู่ชุมชนในพื้นที่ชนบท และอีกหนึ่งส่วนสำคัญคือนโยบาย Smart Thailand ของกระทรวง ICT ที่เร่งผลักดันและส่งเสริมการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ การจัดหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) เพื่อให้ประชาชนใช้งานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในระดับตำบล โครงการ ICT Free Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการภาครัฐผ่านโครงข่าย Broadband ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวง ICT

การเข้าถึง ICT ของภาครัฐอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชี้วัดความพร้อมด้าน ICT ของประเทศนั้น กระทรวง ICT เปิดเผยว่าได้มีการดำเนินงานในส่วนของ Smart Government ซึ่งเป็นการส่งเสริมการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับดำเนินการร่วมกับกระทรวงต่างๆ ในการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. หน่วยงานในกำกับของกระทรวง ICT ได้เปิดบริการใหม่สำหรับหน่วยงานภาครัฐเรียกว่า “Government Software as a Service” หรือบริการออนไลน์ซอฟแวร์ภาครัฐ ที่จะเป็นทางเลือกให้กับภาครัฐได้มีโอกาสเลือกใช้ซอฟแวร์ที่ทำงานผ่านระบบ Government Cloud Service (G-Cloud) อันเป็นประโยชน์ในการรวมศูนย์กลางจัดการข้อมูลที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและทำให้หน่วยงานของรัฐมีทางเลือกในการจัดการระบบ IT มากขึ้น และที่สำคัญยังเป็นการลดต้นทุนงบประมาณในการจัดหาซอฟต์แวร์เพิ่มอีกด้วย บริการออนไลน์ซอฟแวร์ภาครัฐที่เปิดตัวแล้ว คือซอฟต์แวร์ด้านสารบรรณที่ให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนการทำงานจากที่เคยอยู่บนระบบซอฟต์แวร์ของแต่ละหน่วยงานย้ายมาทำงานบนระบบ G-Cloud ซึ่ง Smart Government จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันโครงการ Smart Thailand ของกระทรวง ICT ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมประชากรอย่างน้อยร้อยละ 80 ในปี พ.ศ. 2558 และร้อยละ 95 ในปี พ.ศ. 2563

ปัจจัยทั้งหมดในด้าน ICT และด้านโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน อัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ความสามารถในการคุ้มครองสิทธิบัตร รวมไปถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐกับความทั่วถึงของหน่วยงานของรัฐที่นำ ICT มาใช้งานล้วนแต่เป็นตัวชี้วัดความพร้อมในด้าน ICT ของประเทศทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันผลักดันความก้าวหน้าด้าน ICT ให้เกิดขึ้นและขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศสามารถกลับไปยืนอยู่ในตำแหน่งที่มีความพร้อมด้าน ICT ได้ในอันดับต้นๆ และทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

บริการเพื่อคนพิการ

บริการเพื่อคนพิการ

 

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

สังคมไทยในปัจจุบันมีคนพิการอยู่หลายประเภทซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นได้กับผู้ที่ไม่สามารถได้ยินหรือที่เราเรียกว่าคนตาบอดและคนหูหนวก หากผู้พิการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมก็จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากและไม่ต่างไปจากคนปกติธรรมดา ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามออกมาช่วยเหลือและให้การสนับสนุนในการมีส่วนร่วมของคนพิการและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่างเช่นการรับชมโทรทัศน์ที่จัดให้มีสำหรับบุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงเรื่อง “การส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ” ขึ้น

บริการที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการคำบรรยายเป็นเสียง หรือ Audio Description ที่จะมีเสียงบรรยายเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อบรรยายรายละเอียดที่สำคัญของภาพที่ผู้พิการทางการมองเห็นอาจไม่เข้าใจได้ด้วยบทบรรยายปกติ โดยจะเพิ่มการบรรยายด้วยเสียงในช่วงที่ไม่มีการสนทนา เช่น การแสดงออกเกี่ยวกับหน้า การเคลื่อนย้ายวัตถุ ลักษณะบรรยากาศล้อมรอบ บริการด้วยคำบรรยายเป็นเสียง หรือ Audio Description นี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

บริการประเภทที่สองคือบริการคำบรรยายเป็นอักษร หรือ Caption ซึ่งเป็นบริการสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โดยจะมีข้อความขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีเสียงบรรยายที่อาจเป็นการสนทนาหรือเสียงอื่นเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถเข้าใจเนื้อหานั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น คำบรรยายแทนเสียงนี้จะต้องมีความชัดเจนและไม่กีดขวางการมองเห็นภาพด้วย บริการคำบรรยายเป็นอักษรนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

บริการประเภทที่สามคือบริการภาษามือหรือ Sign Language เป็นบริการสำหรับผู้พิการทางการได้ยินเช่นกันโดยจะมีการใช้ภาษามือในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการสื่อสารด้วยเสียงที่อาจเป็นเสียงสนทนาและเสียงอื่นเพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าใจถึงเนื้อหาที่ต้องการสื่อนั้นๆ ได้มากขึ้น บริการภาษามือนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

ผู้ประกอบการที่มีบริการดังกล่าวแล้วได้แก่ ช่องรายการ TNN 2 ของทรู วิชั่นส์ ที่เปิดให้มีบริการภาษามือเต็มจอแล้วตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556 เป็นต้นมาในรายการ “Deaf Channel” โดยจะออกอากาศประจำทุกวันเสาร์ นอกจากนี้ยังมีช่องไทยพีบีเอสที่จัดให้มีล่ามแปลภาษามือสำหรับคนพิการขึ้นบนจอโทรทัศน์ในช่วงข่าวภาคหลักของทางสถานีควบคู่ไปด้วยในการรายงานข่าว สำหรับในช่องรายการอื่นๆ จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้จากผลการสำรวจของ กสทช. พบว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ใกล้ตัวคนพิการและคนพิการสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ดังนั้นคนพิการจึงมีความคาดหวังต่อสื่อโทรทัศน์ในหลายแง่มุม อาทิ ด้านเนื้อหาที่เกี่ยวกับคนพิการเพื่อให้คนพิการได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง ในขณะเดียวกัน สังคมก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคนพิการและนำไปสู่ความคิดในเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอีกทางหนึ่งด้วย หรือในด้านรูปแบบ คนพิการต้องการเรียนรู้ในการดูสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบเดียวกับที่คนทั่วไปดูโดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่แตกต่างไปเฉพาะคนพิการ เพียงแต่อาจปรับรูปแบบสื่อโทรทัศน์บางรายการเป็นครั้งคราวเพื่อสนับสนุนให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในรายการได้

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมุ่งให้เกิดการพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านโทรทัศน์ รวมทั้งส่งเสริมให้คนพิการมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารเพื่อการดำรงชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ทั้งนี้ในการผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับคนพิการก็ควรมีคนพิการเป็นผู้ร่วมผลิตสื่อด้วยเพราะคนพิการจะสามารถให้ข้อมูลเรื่องคนพิการที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตสื่อได้และสื่อที่ออกมานั้นก็น่าจะเข้าถึงกลุ่มคนพิการมากขึ้นด้วย

ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ดาวโหลดเอกสาร

 

เปิดเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล

เปิดเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล

 

 www.lawyer-thailand.com

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กสทช. ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 และ กสทช. จะเตรียมจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าวเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรมเดอะสุโกศล หลังจากนั้น กสทช. จะดำเนินการนำความคิดเห็นที่ได้รับมาประมวลเพื่อสรุปและพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศฯ ให้มีความเหมาะสมก่อนจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่กำลังจะเกิดมีขึ้นนี้คาดว่าจะมีประเด็นที่เป็นที่พูดถึงกันมากบนเวทีรับฟังความคิดเห็นอันจะเห็นได้จากการเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงหรือโต้แย้งกันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คือการกำหนดคลื่นความถี่ตามแผนความถี่วิทยุที่กำหนดให้คลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz นั้นจะใช้ในกิจการโทรทัศน์ซึ่งมีความแตกต่างจากที่สหภาพโทรคมนาคม หรือ ITU กำหนดให้คลื่นความถี่ในช่วง 698 – 806 MHz ใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม รวมไปถึงการที่สมาคม GSMA หรือ The GSM Association ซึ่งเป็นสมาคมที่มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ให้บริการสื่อสารเคลื่อนที่ในระบบ GSM กว่า 700 รายได้ร่อนหนังสือถึง กสทช. ให้พิจารณาทบทวนการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นแนวทางเดียวกับแผนย่านความถี่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific Telecommunity Band Plan ที่กำหนดให้คลื่นความถี่ 700 MHz ใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นแม้จะได้รับการยืนยันจาก กสทช. ว่าอย่างไรเสียก็จะไม่กระทบต่อการประมูลช่องทีวีดิจิตอลของไทยที่ถูกกำหนดไว้ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ แต่ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง กสท. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. บอร์ดเล็กที่กำกับดูแลด้านโทรคมนาคม เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการจัดการคลื่นความถี่ใหม่ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้นประเด็นนี้จึงยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองของผู้เกี่ยวข้องและคาดว่าจะต้องมีการหยิกยกขึ้นมาพูดในเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างแน่นอน

ประเด็นต่อมาที่คาดว่าจะมีการพูดถึงกันในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้คือประเด็นราคาตั้งต้นในการประมูลช่องหมวดหมู่รายการเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่จะประมูลกันจำนวน 3 ใบอนุญาต แบบระบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) ที่ กสทช. กำหนดให้มีราคาตั้งต้นอยู่ที่ 140 ล้านบาท ซึ่งมีกระแสโต้แย้งว่าราคาตั้งต้นดังกล่าวเป็นราคาที่สูงเกินไปเนื่องจากเนื้อหาในช่องรายการเด็กนั้นจะต้องเน้นการนำเสนอรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาในวิทยาการสาขาต่างๆ รวมถึงรายการสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นจำนวนของผู้รับชมจะไม่สูงหากเทียบกับช่องรายการประเภทอื่นๆ อันจะกระทบต่อการอยู่รอดของช่องรายการเด็กจากรายได้ค่าโฆษณา เนื่องจากบรรดาช่องรายการเด็กที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันต่างไม่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยรายได้เฉลี่ยจากช่องรายการอื่นเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่ต้นทุนต่างๆ อันประกอบด้วยจำนวนเงินค่าประมูล จำนวนเงินที่จ่ายให้ผู้ให้บริการโครงข่าย ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตรายการหรือลิขสิทธิ์รายการต่างๆ ที่นำมาเผยแพร่ กลับไม่ต่างจากช่องรายการประเภทอื่นมากนัก อีกทั้งรายได้จากค่าโฆษณามีจำนวนน้อยมาก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องหลักประกันการประมูลที่ร่างประกาศฯ กำหนดว่าการวางหลักประกันการประมูลนั้นจะต้องเป็นเงินสดหรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายเท่านั้น โดยมีผู้โต้แย้งในช่วงที่ผ่านมาว่าการกำหนดเช่นนั้นขัดกับหลักการที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมประมูล เนื่องจากอาจติดขัดในการหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน จึงเคยมีการเสนอก่อนหน้านี้ว่าควรเพิ่มช่องทางการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 หรือ Bank Guarantee เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกันด้วย จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คาดว่าบรรดาผู้ประกอบการน่าจะหยิบยกขึ้นมาในการประชุมรับฟังความคิดเห็นด้วย

กับทั้งยังคาดว่าน่าจะมีประเด็นที่มีผู้ไม่เห็นด้วยที่ร่างประกาศฯ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิเสนอราคากี่ครั้งก็ได้ภายในกำหนดเวลาการประมูลของแต่ละหมวดหมู่คือ 60 นาที ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นต่างแสดงความคิดเห็นว่าการกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อการประมูลเพราะผู้ที่เข้าร่วมประมูลล้วนแต่เป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจ ผู้ที่ทำธุรกิจย่อมรู้กำลังตนเองว่าจะสามารถประมูลในราคาที่สูงได้เพียงใด การกำหนดเวลา 60 นาทีจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งยังขัดกับหลักการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันนั้น จึงไม่ควรกำหนดระยะเวลาตายตัวว่าจะจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ควรจะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่สมควร ดังนั้นจึงมีการโต้แย้งในเรื่องนี้ก่อนหน้านี้แล้ว และมีการเสนอให้กำหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ไม่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นอีกภายในระยะเวลาที่เหมาะสมนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูลด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงบางประเด็นที่ผู้เขียนคาดการณ์ว่าน่าจะมีการพูดถึงในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ซึ่งเชื่อแน่ว่าในการรับฟังความคิดเห็นจริง จะมีประเด็นมากกว่านี้อีก ผู้อ่านที่สนใจยังสามารถเข้าไปดาวน์โหลดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ของ กสทช. และสามารถแสดงความจำนงในการเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้