"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในฉบับนี้เราจะมานำเสนอเสนอในมุมของแผนยุทธศาสตร์ของรัฐรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลหรือ Digital Economy อย่างเต็มรูปแบบโดยแนวคิดหลักของนโยบายคือต้องนำดิจิตอลเข้าไปเสริมศักยภาพการทำงานของทุกกระทรวงที่มีดิจิตอลเข้าไปเกี่ยวข้องตลอดจนต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลนั้นที่มีอยู่หลักๆนั้น มีอยู่หลายประการ

ประการแรกได้แก่การเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล โดยแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ หรือหากเรื่องใดไม่มีกำหนดไว้ก็เตรียมจะยกร่าง เช่น การสร้างเครือข่ายข้อมูลสุขภาพของประชาชนระหว่างโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านดิจิตอลจำนวนมากยังที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านลายมือชื่อดิจิตอล กฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย กฎหมายคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันเรายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะต้องทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ประการที่สองคือการให้เอกชนลดค่าบริการอินเตอร์เน็ตลงแต่ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตให้สูงขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการเพื่อที่จะสามารถให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงบริการได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในราคาที่อยู่ภายใต้การควบคุม

ประการที่สามคือการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ กระทรวงไอซีทีที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ยังมีโครงสร้างการแบ่งอำนาจที่ไม่ชัดเจน และรูปแบบการบริหารงานย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและกำหนดหน้าที่การกำกับดูแลในแต่ละส่วนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งแนวคิดในการเพิ่มกรมในกระทรวงเพื่อให้การทำงานของกระทรวงไอซีทีสอดรับในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วยกรมแรกคือกรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งต้องนำดิจิตอลช่วยอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ กรมที่สองคือกรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม ทำให้ดิจิตอลเข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความยากจน และกรมที่เกี่ยวกับไซเบอร์คอนเทนต์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ไอทีอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการควบคุมดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้จะมีการดึงบางหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้ามาอยู่กับไอซีที รวมไปถึงบางหน่วยงานที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาสู่นโยบายนี้ได้

ประการสุดท้ายคือการสร้างโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติเพื่อที่จะต้องมีบริการอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงทุกพื้นที่เพราะประเทศเรากำลังขนส่งข้อมูลจำนวนมากโดยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีเชื่อมต่อกันทุกพื้นที่ที่จำเป็นต้องเข้าถึงทุกตำบลทุกหมู่บ้าน โดยรัฐมีแผนที่จะนำไฟเบอร์ออพติกมาใช้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการขยายการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ 4G รวมทั้งพัฒนาระบบ 3G ให้มีความเสถียรมากขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะถูกนำมาใช้และการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึง

นอกจากการตอบรับนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว กระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลด้านการค้าที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการค้าทางออนไลน์หรือบนโลกของอินเตอร์เน็ตเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจยุคดิจิตอลนี้เป็นกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จึงได้มีการวางรากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลให้เป็นไปได้อย่างจริงจัง 3 ประการ ได้แก่ การพัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อรองรับการให้บริการอย่างครบวงจรเพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการและข้อมูล ข่าวสารจากกระทรวงฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายและลดการใช้กระดาษ การส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ดิจิตอล ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสาร และโทรคมนาคมดิจิตอล ตลอดจนการใช้ดิจิตอลรองรับภาคการผลิตกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้สื่อดิจิตอล ประการสุดท้ายได้แก่การส่งเสริมและผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลาดและศักยภาพของธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร โดยได้มีการเปิดตัวโมบาย แอพพลิเคชั่นของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว อันจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยให้มีความพร้อมต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ-ผู้นำเข้าจากต่างประเทศสำหรับการติดต่อกับนักธุรกิจไทยด้วย

อีกองค์กรหนึ่งที่ตอบรับนโยบายดิจิตอลดังกล่าวคือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยวางแผนนโยบายของกรมเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของธุรกิจเอสเอ็มอีในยุคดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจไอทีให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้ การนำไอทีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าโอทอปที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดิจิตอล (Digital Knowledge Society) เพื่อให้ดำเนินธุรกิจกิจโดยใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) เป็นต้น

การเริ่มต้นในการสร้างและขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลดังกล่าวของประเทศไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแม้จะช้าไปอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิตอลให้กับประเทศนั้น นอกจากจะอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ไอที และ ระบบสารสนเทศมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจแล้วควรจะรวมถึงการเปิดกว้างต่อความเปลี่ยนแปลง การให้โอกาสกับแนวคิดใหม่ๆ และการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นของประเทศเราเองด้วย

By : http://telecomjournalthailand.com/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *