"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

E-Payment

E-Payment

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะได้ยินข่าวที่ทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT Telecom) เปิดเผยว่าบริษัทมีมีมติให้จัดตั้งธุรกิจร่วมค้าและการทำระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางออนไลน์อย่างครบวงจร หรือ เพย์เม้นท์ เกตเวย์ (Payment Gateway) โดยจะดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้โดยจะเจาะทั้งธุรกิจภาครัฐไปยังเอกชน (G2C) ธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจถึงกลุ่มผู้บริโภค (B2C) เนื่องจากยังไม่มีองค์กรภาครัฐให้บริการประเภทนี้ ธุรกิจนี้จะต้องทำร่วมกับหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความปลอดภัยและน่าเชื่อถือเป็นหลัก แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่มีอัตราเติบโตสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายดิจิตอล อีโคโนมีของรัฐบาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม CAT ยังตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากธุรกิจเพย์เม้นท์ประมาณ 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ซึ่งตลาดออนไลน์เพย์เม้นท์ปัจจุบันมีมูลค่าราวหมื่นล้านบาทต่อปี

จากข่าวดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Payment นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ แต่หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าระบบดังกล่าวคืออะไรและมีขั้นตอนการทำงานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับเราได้อย่างไร บทความฉบับนี้จะได้เผยแพร่ความรู้ในประเด็นนี้ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Payment System  คือ กระบวนการส่งมอบหรือโอนสื่อการชำระเงินเพื่อชำระราคาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในยุคปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยมอย่างมากโดยมีทั้งธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ให้บริการดังกล่าว ส่วน Payment Gateway นั้นคือบริการที่ให้ Website สามารถรับชำระค่าบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตได้ แต่เดิมแล้วบริการ Payment Gateway จะให้บริการผ่านทางธนาคารต่างๆ แต่เนื่องจากความยุ่งยากในการเดินเรื่องเอกสารกับทางธนาคาร ไม่ว่าจะการทำรอบบัญชี การวางวงเงินประกัน การต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนต่างๆ  ทำให้การเปิด Payment Gateway กับธนาคารมักจะเป็นที่ยุ่งยากสำหรับ Website ขนาดเล็กๆแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้มีการเปิด Payment Gateway แทนธนาคารดังกล่าวโดยการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แทนที่เราจะไปติดต่อกับทางธนาคารเอง ก็ให้ทำการติดต่อผ่าน Payment Gateway ของเว็บไซต์ตัวแทนนั้นๆ แทน สิ่งที่เราจะได้รับก็คือความสะดวก รวดเร็ว แต่ก็จะมีการหักค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าของธนาคารเล็กน้อย ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกว่าจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารหรือบริษัทที่เป็นคนกลางก็ได้

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ได้อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ.2551  และประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58  (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์)  โดยธุรกิจ e-Payment ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ประกอบด้วยธุรกิจ  8  ประเภท ได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money การให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิต การให้บริการเครือข่ายอีดีซี การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน การให้บริการหักบัญชี การให้บริการชำระดุล การให้บริการรับชำระเงินแทนและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือผ่านทางเครือข่าย

เนื่องจากการทำธุรกิจ E-payment หรือ Payment Gateway นี้มีมานานในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ธุรกิจการชำระเงินในระบบ E-payment มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อวัน การที่ธุรกรรมแบบดังกล่าวได้รับความนิยมมากก็เนื่องมาจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งประหยัดต้นทุนเพราะต้นทุนของ e-Payment มีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งถึงหนึ่งในสามของต้นทุนของการใช้เงินสด ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไอซ์แลนด์นั้น การใช้เงินสดมีต้นทุนสูงถึง US$2.57ต่อรายการ ในขณะที่ การใช้บัตรในการชำระเงินมีต้นทุนเพียง US$0.61 เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยนั้นแม้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเพิ่งได้รับความนิยมไม่นานมานี้แต่กลับมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะความเร็วของอินเตอร์เน็ตและโครงข่ายระบบที่ออกแบบมารองรับการใช้งาน ไม่เพียงแต่การทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในตลาด E-Commerce ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของคนไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดยมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อครั้ง และมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 15,000 บาท นอกจากนั้นยังสามารถคาดการณ์ได้ว่าในปีนี้หลังจากมีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบแล้วการเชื่อมโยงระบบ Payment Gateway กับการทำธุรกิจ E-Commerce ย่อมจะทำได้อย่างสะดวกและเต็มรูปแบบเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วนโยบายดังกล่าวยังจะช่วยขยายโอกาสและรองรับในการสร้างระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นกับปรับปรุงมาตรฐานให้ก้าวหน้าเทียบเท่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าเมื่อธุรกรรมการเงินมูลค่าสูงขึ้นเท่าใด ก็ต้องให้ความระมัดระวังเรื่องภัยคุกคามความปลอดภัยทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารย่อมเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกหลวง โดยอาจจะถูกกรอกข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินผ่านหน้าเว็บเลียนแบบธนาคาร (“Phishing”) ซึ่งขณะนี้มีการระบาดทางอีเมล์เป็นจำนวนมาก ผู้อ่านจึงต้องตื่นตัวและรู้ทันในเรื่องความปลอดภัยด้วย  โดยในกรณีใช้ผ่านแอพลิเคชั่นของธนาคารนั้น การโหลดหรือติดตั้งดังกล่าวก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าใช่แอพลิเคชั่นที่สร้างโดยธนาคารจริงๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เอง

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *