"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 2)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 2)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในฉบับที่แล้วเราได้นำเสนอถึงรายละเอียดของร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัลบางฉบับเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการแก้ไขและร่างกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในฉบับนี้เราจึงจะนำท่านผู้อ่านเจาะลึกกันต่อไปถึงร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับอื่นที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามถึงผลดี ผลเสียหรือผลกระทบข้างเคียงของร่างกฎหมายเหล่านี้

ร่างชุดกฎหมายที่ถูกพูดถึงในสังคมไม่แพ้ร่างชุดกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ได้แก่ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล และร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยแต่ละฉบับมีรายละเอียดที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะกล่าวพอเป็นสังเขปต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. … มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่วางนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ซึ่งเป็นแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิตอล โดยให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ 1.คณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ 2.คณะกรรมการเซอร์วิสอินฟราสตรัคเจอร์ 3.คณะกรรมการซอฟต์อินฟราสตรัคเจอร์ 4.คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ และ 5.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) พ.ศ. …จะกำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงไอซีที แบ่งเป็น 5 ส่วนราชการ คือ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยไม่ใช่เพียงแต่เปลี่ยนชื่อกระทรวงเท่านั้นแต่จะมีการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ โดยเริ่มต้นจากการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการทำงานให้เข้ากับยุคที่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การบริการ ฯลฯ ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานด้วย เช่น องค์การมหาชนคือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ที่ต้องเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ที่ต้องควบคุมสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงิน การออกกฎหมายข้อบังคับเพื่อแก้ไขการป้องกันการทุจริตทางคอมพิวเตอร์ เพื่อโลกดิจิตอลหนุนให้การค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) เติบโตขึ้น ความปลอดภัยและการสร้างความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสององค์การมหาชนรวมกันเป็นสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่ได้เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยตั้งขึ้นตามร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่จัดตั้งขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. เช่นคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นใหม่ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ตั้งใหม่เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA อีกด้วย

ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่น่าสนใจและเป็นที่กล่าวถึงอีกฉบับหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยรายละเอียดกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้มีการปรับแก้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่หลักใหญ่ใจความยังเหมือนเดิมคือเน้นการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่เป็นหลัก โดยประเด็นที่ปรับแก้คือเพิ่มเรื่องว่าแผนแม่บทของ กสทช. จะต้องสอดคล้องกับ “นโยบายและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของคณะกรรมการดิจิทัลฯ แห่งชาติ และตัดหน้าที่ “ประสานงาน” การบริหารคลื่นความถี่ทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งเปลี่ยนบทบาท “วินิจฉัยและแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่รบกวน” มาเป็นการ “ร่วมให้ข้อมูลกับรัฐบาล” แทน นอกจากนี้แล้วร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังยกเลิกการแยกสองบอร์ดย่อยคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) โดยกำหนดให้บอร์ดชุดใหญ่ (กสทช.) ทำหน้าที่แทนทั้งหมดโดยผู้เสนอร่างกฎหมายอาจเห็นว่าการรวมเพื่อให้มีบอร์ดใหญ่เพียงบอร์ดเดียวน่าจะช่วยให้การกำกับดูแลการสื่อสารในยุค convergence ทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและการประมูล จากเดิมให้ส่งเข้ากองทุน กสทช. ทั้งหมด 100% เปลี่ยนเป็นให้ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัล 50% และอีก 50% ส่งเป็นรายได้แผ่นดินอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วโครงสร้างอื่นๆก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการยกเลิกองค์กรเดิมแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยมีจุดประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยกเลิก “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” แล้วตั้งเป็น “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” แทน โดยมีรายละเอียดตามร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. ซึ่งกองทุนเดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อ “อุดหนุน” ด้านการเข้าถึงบริการ และการพัฒนา-การวิจัย แต่กองทุนใหม่จะเพิ่มเรื่อง “การให้กู้ยืมเงิน” แก่ “หน่วยงานของรัฐและเอกชน” ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพิ่มมาด้วย

ในส่วนขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเฉพาะได้แก่ คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ) โดยโอนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่เดิมอยู่กับ สพธอ. และจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เราจึงต้องมาดูกันต่อไปว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเหมาะสมต่อภาคธุรกิจและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไรกับจะมีการแก้ไขในชั้น สนช. หรือไม่อย่างไร และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายในครั้งนี้จะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไปในทิศทางใด ซึ่งทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้อ่านทุกท่านควรจะติดตามความคืบหน้าเพราะการออกร่างกลุ่มกฎหมายในครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านที่เป็นประโยชน์ต่อเราทั้งในทางตรงและในทางอ้อมด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *