"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

รับฟังความเห็นประกาศ 4G

รับฟังความเห็นประกาศ 4G

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือร่างประกาศ 4G ขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในบทความฉบับนี้เราจะได้เล่าถึงบรรยากาศในงานและที่สำคัญคือจะได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะรวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ว่ามีอย่างไรบ้าง

เจาะข้อมูลบัญชี LINE

เจาะข้อมูลบัญชี LINE

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

จากจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นแชท “LINE” ที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2554 แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในระยะเพียงประมาณ 3 ปี จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านราย และมีจำนวนการใช้งานทั่วโลกสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านครั้งต่อวัน ทำให้ LINE กลายเป็นแอพพลิเคชั่นยอดนิยมในโลกโซเชี่ยลอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งผู้บริหาร LINE เชื่อว่าจำนวนผู้ใช้ LINE ทั่วโลกจะเติบโตถึงระดับ 500 ล้านคนได้ในปลายปีนี้

สำหรับประเทศไทยจากสถิติพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน LINE สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น 2 ปีติดต่อกันแล้ว โดยในปีพ.ศ. 2556 Edge Asia บริษัทดิจิตอลเอเจนซี่รายใหญ่ของประเทศไทยที่ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของแอพพลิเคชั่นแชท LINE ได้เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2556 LINE มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 240 ล้านคน ประเทศที่ใช้มากที่สุดอันดับหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่น จำนวน 47 ล้านคน รองลงมาคือประเทศไทย จำนวน 18 ล้านคน ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 นี้ LINE เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเดิม 240 ล้านคนเป็นกว่า 400 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 20 และยังคงครองสถิติประเทศที่มีผู้ใช้งาน LINE สูงสุดเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิต โซเชียล อิงค์ ยังได้สำรวจและรวบรวมพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 688 คนที่มีบัญชีผู้ใช้ LINE อย่างเป็นทางการ หรือ Official Account พบว่าคนไทยร้อยละ 87 ใช้ LINE สำหรับการแชทหรือการสนทนา ในขณะที่ร้อยละ 47 ใช้ LINE Camera และร้อยละ 45 ใช้ LINE สำหรับการเล่นเกมส์

จากจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยถึงอันดับ 2 ของโลกจึงทำให้ LINE เล็งเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ LINE ในประเทศไทยและเห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของ LINE โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา LINE ได้มาเปิดสำนักงานในประเทศไทยขึ้น (Line Thailand) โดยมีนาย Jin-Woo Lee ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการประจำ LINE Thailand และให้ความเห็นถึงการเติบโตของ Line ในประเทศไทยที่ว่าเกิดขึ้นบน 4 ปัจจัย ได้แก่ การร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น ความสามารถและบริการที่ LINE พัฒนาให้รองรับภาษาไทยเต็มที่ การให้บริการคอนเทนท์ท้องถิ่นที่ใกล้ตัวคนไทย รวมถึงการเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทยพร้อมพนักงานไทย

หันมาดูสถิติการใช้งาน LINE ของทั่วโลก โดยเฉลี่ยขณะนี้พบว่ามีการส่งข้อความผ่าน LINE เฉลี่ยสูงถึงประมาณหนึ่งหมื่นล้านครั้งต่อวัน มีการส่งสติ๊กเกอร์เฉลี่ยสูงถึงประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันล้านครั้งต่อวัน มีการใช้ LINE CALL เฉลี่ยสูงถึงประมาณ 12 ล้านครั้งต่อวันและมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 1.6 ล้านคนต่อวัน

จากการที่ LINE เป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการใช้งานที่ง่ายและสามารถใช้ได้ร่วมกับระบบปฏิบัติการทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Android, iPhone, iPad หรือแม้แต่บนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop PC) ซึ่ง LINE ได้สร้างสถิติมีผู้ใช้เกิน 100 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 18 เดือน และ 200 ล้านคนในอีก 6 เดือนหลังจากนั้น โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น แต่ล่าสุดบริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น LINE ได้ออกแถลงการณ์เตือนให้ผู้ใช้บริการทั่วโลกโดยเฉพาะในญี่ปุ่นทำการเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีผู้ใช้ของตัวเองหลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพบการโจรกรรมข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ของ LINE แล้วอย่างน้อย 303 บัญชีในช่วงเพียง
แค่ 1 เดือน คือในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2557 โดยในจำนวน 303 รายนี้มี 3 รายที่ถูกขโมยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินในวงการธุรกิจซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาล โดยในขณะนี้บริษัท ไลน์ คอปอร์เรชั่น จำกัด กำลังร่วมมือกับตำรวจเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวและขอแนะนำให้ผู้ใช้เปลี่ยนรหัสผ่าน หรือ Password เพื่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย

สำหรับสาเหตุที่บัญชีผู้ใช้งาน LINE ถูก เจาะข้อมูล หรือโจรกรรมข้อมูลนั้น โฆษก LINE ออกมากล่าวว่าอาจเกิดมาจากรหัสผ่านที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอื่นๆ เกิดการรั่วไหล ซึ่งบัญชีผู้ใช้งาน (Account) ที่ถูกแฮคขณะนี้ยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด โดยโฆษก LINE ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดถึงวิธีการที่พวกคนร้ายใช้ในการ เจาะข้อมูล LINE แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้เคยมีบทความที่วิเคราะห์ถึงการ เจาะข้อมูล LINE ไว้อย่างน่าสนใจว่าโดยปกติแล้ว LINE มีความปลอดภัยที่สูงมากเพราะเป็นการสนทนา (Chat) แบบส่วนตัว (Private) หรือแบบกลุ่ม (Group) ที่จำกัดอยู่ระหว่างกลุ่มบุคคลเท่านั้น คนอื่นจะไม่สามารถเข้าไปดูข้อความส่วนตัวที่เราคุยอยู่กับคนอื่นได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ ก็ตาม นอกจากว่าจะเปิดดูผ่านอุปกรณ์ที่คุณใช้ในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือผ่านคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง LINE ลงไป ซึ่งการใช้ LINE ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นช่องโหว่สำคัญที่จะทำให้ถูก เจาะข้อมูล ได้ โดยผู้ที่ล่วงรู้ข้อมูลของคุณจะสามารถใช้ Email และรหัสผ่านที่ใช้ในการลงทะเบียนกับ LINE ไปเปิดดูข้อความ LINE ในคอมพิวเตอร์ได้พร้อมๆ กับที่เราใช้งาน LINE บนสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว ซึ่ง LINE ในคอมพิวเตอร์นี้สามารถดูประวัติการสนทนาได้ทั้งหมด แม้ว่าเจ้าของจะลบประวัติการสนทนาออกจากสมาร์ทโฟนไปแล้วก็ตาม เหล่าคนร้ายก็ยังสามารถย้อนหลังไปดูข้อความเก่าได้ทั้งหมดบน LINE ในคอมพิวเตอร์

เมื่อทราบเช่นนี้การป้องกันไม่ให้ LINE ของเราถูก เจาะข้อมูล ได้ดูน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยวิธีป้องกันอย่างง่ายๆ มีอยู่หลายวิธี อาทิ เมื่อสมัคร LINE แล้ว ต้องลงทะเบียน Email ของคุณไว้พร้อมตั้งรหัสผ่านที่ไม่มีใครรู้หรือคาดเดาได้ยาก และที่สำคัญอย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุกแอพพลิเคชั่น อาทิ อย่าใช้รหัสผ่าน LINE ที่เหมือนกับรหัสผ่าน Facebook หรือ Twitter ทั้งนี้เพื่อป้องกันกรณีที่คุณอาจถูก เจาะข้อมูล จากแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งแล้วจะถูกเชื่อมโยงไปยังข้อมูลสำคัญอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้อย่าปล่อยให้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ทของคุณตกไปอยู่ในมือของคนอื่นไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ก็ตาม และที่สำคัญอย่าลืมตั้งรหัสผ่าน Lock หน้าจอมือถือไว้เพื่อไม่ให้คนอื่นเปิดใช้งานได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และหากคุณรู้ตัวว่าคุณถูก เจาะข้อมูล ให้ทำการถอนการติดตั้ง LINE โดยทันทีและลงทะเบียน LINE ใหม่เท่านี้ก็จะสามารถป้องกันการถูก เจาะข้อมูล LINE ได้

Source : http://telecomjournalthailand.com/

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการผลักดันความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้น นอกจากการขวนขวายใฝ่หาความรู้โดยปัจเจกบุคคลเองแล้ว รัฐย่อมเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเท่าเทียมหน่วยงานราชการที่สำคัญในการทำหน้าที่ผลักดันประชาชนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านไอที ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นต้น

ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้กำหนดนโยบายหรือแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไปแล้วจำนวน 2 ฉบับ แต่ละฉบับครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยฉบับที่ 2 มีผลใช้บังคับในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2556 ดังนั้นในปีนี้กระทรวงไอซีทีจึงได้มีการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 3 ขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไปในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2561 โดยบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เห็นภาพกับได้เข้าใจในระดับหนึ่งว่า ICT ของประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดและเราจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างไรได้บ้าง

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เป็นการดำเนินการตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะปี พ.ศ. 2554 – 2563 หรือ ICT 2020 ซึ่งเป็นกรอบใหญ่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยมุ่งสู่ Smart Thailand ในปี พ.ศ.2563 โดยกรอบ ICT 2020 นี้ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่วางไว้

แนวคิดสำคัญในการจัดทำแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 คือต่อยอดการพัฒนาจากแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาด้าน ICT ของประเทศไทย โดยยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งหลักการพัฒนาด้าน ICT แบบยั่งยืนนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ หลักธรรมาภิบาล (Governance) หลักความมั่นคงปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ (Cyber Security) หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน (Green ICT) หลักการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบและวิธีการด้าน ICT (Laws & Regulations Development) หลักการพัฒนาตามหลักเกณฑ์วุฒิภาวะด้าน ICT ที่เกี่ยวข้อง (Maturity Model) และหลักการพัฒนาที่ลงถึงระดับชุมชนและท้องถิ่น (Community & Region Based Development)

ในช่วงปีที่ผ่านมาแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบ Focus Group เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจํานวน 8 กลุ่มเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 การจัดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกมิติ โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่ม ประกอบไปด้วยกลุ่ม Government กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาสังคม กลุ่ม ICT Human Capital กลุ่ม Infrastructure กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กลุ่ม ICT กับสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ICT กับกลุ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และกลุ่ม ICT Industry ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นประธานนำการประชุม

ยุทธศาสตร์หลักที่ถูกกำหนดในแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ประกอบด้วยการพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ICT ของประเทศ (Participatory People) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มค่าและพอเพียง (Optimal Infrastructure) การพัฒนาระบบบริการของภาครัฐอย่างชาญฉลาด (Smart Government) การพัฒนาอุตสาหกรรม ICT และภาคธุรกิจที่รุ่งเรืองสดใส (Vibrant Industry & Business) โดยในแต่ละยุทธศาสตร์มีแนวคิดและแผนงานรองรับที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เข้าถึงและรู้เท่าทัน ICT เพื่อการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากบริการ ICT (Participatory People) ยุทธศาสตร์ที่ 1 นี้มีแผนงานหลักหรือโครงการเร่งด่วนในการศึกษามาตรฐานในการกําหนดวิชาชีพด้าน ICT เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากร ICT ระหว่างประเทศ ภายใต้ AEC/ASEAN และ APEC กับมุ่งส่งเสริมและยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนและศูนย์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันให้เป็นช่องทางและกลไกในการส่งเสริมทักษะแนวคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้าน ICT การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคบริการอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พอเพียง (Sufficient) และคุ้มค่า (Optimal Infrastructure) ยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การพัฒนาโครงข่ายหลักระหว่างประเทศ เพื่อสร้างแนวทางในการเป็นศูนย์กลางด้าน Logistics ของภูมิภาค ASEAN และ ASEAN บวกพันธมิตร รวมถึงการขยายจุดให้บริการและปรับปรุงคุณภาพ Free Wi-Fi ในที่สาธารณะโดยไม่คิดค่าบริการ ในพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และสถานที่อื่นๆ ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังมีแผนในการจัดทําชุดเครื่องมือมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (Standard Security Toolkit) สําหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถนําไปใช้ในการตรวจสอบและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศในหน่วยงานได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นให้มีความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคสากล (Smart Government) แผนงานหลักหรือโครงการหลักของยุทธศาสตร์นี้คือ การประเมินระดับวุฒิภาวะ (Maturity) ของ e-Service ในด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและหน่วยงานระดับกรมในทุกกระทรวง การจัดตั้งหรือปรับปรุงเว็บไซต์กลางของภาครัฐตามแนวทาง Open Government เช่น ภายใต้ชื่อ Government Knowledge Center (www.g4share.go.th) หรือ www.data.go.th สําหรับใช้เป็นช่องทางในการเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งบริการในลักษณะ App Store ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมด้วยเครื่องมือที่สามารถนําข้อมูลและบริการไปใช้ประโยชน์ได้สําหรับประชาชนและเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดในระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ICT เชิงสร้างสรรค์ และการใช้ ICT ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Vibrant Industry & Business) โดยยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การจัดตั้ง One Stop Service ในการให้บริการข้อมูล ข่าวสารรวมทั้งการจดทะเบียนเพื่ออํานวยความสะดวกในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ ICT ในประเทศไทย (Facilitation Desk for ICT Business Start-up Program) รวมตลอดจนการจัดตั้งกองทุน ICT เพื่อการพัฒนา ICT ในภาคธุรกิจและการส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะในภาคส่วนธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ยังมีโครงการ National Agriculture Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและการเข้าถึงข้อมูลที่จําเป็นในภาคการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มด้วย

เป้าหมายหลักที่กระทรวงไอซีทีคาดว่าจะได้รับจากการกำหนดยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ข้างต้นนั้นคือ การมีสัดส่วน ICT ต่อ GDP สูงขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคธุรกิจมีเครื่องมือ ICT เพื่อสร้างความพร้อมและการปรับตัวในการแข่งขันในเวทีสากล ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นสามารถประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการศึกษาเรียนรู้ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้ บริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐไร้ตะเข็บรอยต่อและเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน สังคม ชุมชน ท้องถิ่นเข้มแข็ง ปลอดภัยและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งอันดับประเทศไทยด้าน ICT สูงขึ้นในสถาบันการจัดอันดับสากล นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้ประชากรร้อยละ 80 ของประเทศสามารถเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2558 และร้อยละ 90 ภายในปี 2561 อีกทั้งประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีความรอบรู้ เข้าถึง และมีส่วนร่วมในการพัฒนากับใช้ประโยชน์จากระบบ ICT ได้อย่างเท่าทัน เพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และมีระดับความพร้อมด้าน ICT ใน Networked Readiness Inbox อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 30 ก่อให้เกิดการจ้างงานในสายวิชาชีพรูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ ICT ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้มีท่านเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นแม่งานในการจัดทำเพื่อให้เกิดความครบถ้วนและสมบูรณ์อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

คุณภาพการโทร

คุณภาพการโทร

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลายท่านคงเคยประสบกับปัญหาการที่โทรศัพท์ติดยากหรือโทรแล้วสายหลุดกันมาบ้าง โดยมักเกิดขึ้นกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมอย่าง 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ไปสู่ 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz ที่บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างพยายามวางโครงข่ายระบบ 3G อย่างเต็มที่เพื่อการให้บริการแก่ประชาชนแบบครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดโดยมีคุณภาพเสียงที่ดี แต่ถึงกระนั้นในระยะเริ่มแรกหรือในจุดที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากก็ยังคงพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพเสียงอยู่พอสมควร

ที่ผ่านมาการควบคุมมาตรฐานคุณภาพบริการประเภทเสียง (Voice) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ซึ่งได้กำหนดคุณภาพของสัญญาณบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จ หรือ Successful Call Ratio ต่อจำนวนการเรียกทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 สำหรับ การโทร ภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกัน และไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 สำหรับการโทรข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการ ในกรณีสายหลุดนั้นประกาศฯ กำหนดให้มีอัตราส่วนของจำนวนสายหลุดต่อจำนวนการเรียกใช้ทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมงได้ไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับการโทรทั้งภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกัน และการโทรข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประกาศฯ ของ กสทช. ฉบับนี้กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอัตราส่วนของการสายหลุดได้ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งจากการที่ กสทช. ได้ดำเนินการส่งรถตรวจสอบคุณภาพสัญญาณบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ พบว่าอัตรา การโทร สำเร็จยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจสอบทางเทคนิคไม่สอดคล้องกับความพึงพอใจและความรู้สึกจริงของผู้ใช้บริการ อีกทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ปัจจุบันมีการใช้งานด้านการรับ-ส่งข้อมูล (Data) เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 300 – 400 ทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ กำหนดมาตรฐานคุณภาพเสียงดังกล่าว โดยที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง มาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงฉบับใหม่และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต่อไปแล้ว

สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับใหม่นี้อยู่ที่การปรับแก้ในส่วนค่าชี้วัดคุณภาพบริการที่ได้บังคับใช้อยู่แล้วตามประกาศเดิม เช่น อัตราส่วนการเรียกสำเร็จ หรือ Successful Call Ratio ทั้งกรณีที่เป็น การโทร ศัพท์ภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกันและกรณีที่เป็น การโทร ข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการจะต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนการเรียกทั้งหมด ซึ่งเป็นการแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดให้ การโทร ข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการนั้นต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 นอกจากนี้ยังเพิ่มช่วงเวลาในการตรวจวัดคุณภาพสัญญาณจากเดิมตรวจวัดช่วงเวลาเดียวคือ 20.00 – 21.00 น. เป็นช่วงระยะเวลา 10.00 – 13.00 น. และ 16.00 – 19.00 น. อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีการปรับค่าชี้วัดคุณภาพบริการในส่วนของอัตราข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการเรียกเก็บค่าบริการซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 และระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ หรือ Call Center โดยกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องสามารถติดต่อได้ภายใน 1 นาทีนับตั้งแต่เริ่มตอบรับจนถึงผู้ใช้บริการได้เริ่มสนทนากับพนักงานผู้ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาของผู้บริโภคที่ต้องใช้เวลาในการติดต่อ Call Center นานจนเกินไป

นอกจากนี้ร่างประกาศฉบับนี้ยังมีการเพิ่มค่าชี้วัดคุณภาพบริการอีก 5 ประการ ประการแรกคืออัตราส่วนของกรณีที่สายหลุดเมื่อโทรข้ามโครงข่าย (Off-Network) ประการที่สองคืออัตราส่วนร้อยละของจำนวนครั้งที่สถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมงใน 1 เดือนของสถานีฐานทั้งหมด (Network Unavailability) ประการที่สามคืออัตราส่วนร้อยละของจำนวนครั้งที่สถานีฐานที่หยุดทำงานสะสมเกินกว่า 24 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน (Worst Case BTS Outage in a Month) ประการที่สี่คืออัตราส่วนร้อยละของเวลารวมที่ทุกสถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ใน 1 เดือนของเวลาที่ต้องให้บริการทั้งหมด (Cumulative Outage Time in a Month) และประการที่ห้าคือคุณภาพของเสียง (Mean Opinion Score )

ทั้งนี้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งอาจมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดได้ แต่เชื่อแน่ว่าท้ายที่สุดแล้วร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลคุณภาพบริการโทรคมนาคมประเภทเสียงแก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ลดปัญหา การโทร ไม่ติด หรือสายหลุดให้น้อยที่สุด
Source : http://telecomjournalthailand.com/

ลงทะเบียนซิมการ์ด

ลงทะเบียนซิมการ์ด

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

การลงทะเบียนซิมการ์ดสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือพรีเพด (Pre-Paid) นั้นมีการรณรงค์และขอความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการตั้งแต่สมัยที่กิจการโทรคมนาคมยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกสบายของซิมการ์ดแบบพรีเพดที่ผู้ซื้อสามารถซื้อหาได้อย่างสะดวก เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้นโดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องแจ้งชื่อผู้ที่จะใช้ กลายเป็นปัญหาสำคัญจากการที่มีมิจฉาชีพนำซิมการ์ดเหล่านี้ไปใช้เป็นชนวนจุดระเบิดก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของหรือผู้ซื้อซิมการ์ดได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตดังกล่าวข้างต้นนั้น บางท่านอาจมองว่ายังเป็นปัญหาที่ไกลจากตัวเองมากเนื่องจากไม่ได้พำนักอาศัยอยู่ที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออาจมองในอีกด้านหนึ่งว่าการ ลงทะเบียนซิมการ์ด เป็นการยุ่งยาก ไม่สะดวกที่จะต้องดำเนินการลงทะเบียนเหมือนขั้นตอนปกติ แต่ทราบหรือไม่ว่าประโยชน์ที่ได้รับภายหลังจากการ ลงทะเบียนซิมการ์ด นั้นมีอยู่มากมาย เช่น การ ลงทะเบียนซิมการ์ด ที่ใช้งานอยู่เท่ากับเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกการใช้งานเลขหมายดังกล่าวแล้ว สามารถขอรับเงินที่คงเหลืออยู่ได้ ในขณะที่หากไม่มีการ ลงทะเบียนซิมการ์ด ไว้จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ เมื่อมีเงินคงเหลืออยู่ บริษัทผู้ให้บริการจะไม่สามารถคืนเงินนั้นให้กับผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้การลงทะเบียนซิมการ์ดยังเป็นการป้องกันการนำเอาเลขหมายโทรศัพท์ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายอย่างเช่นการข่มขู่ การต้มตุ๋นหลอกลวง การซื้อขายยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย การติดต่อหรือจ้างวานเพื่อก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย

ต่อมาในยุคปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกอบกับประเทศไทยมีปริมาณผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้นจนเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านเลขหมาย โดยในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 90 เป็นผู้ใช้บริการในระบบพรีเพด ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทะเบียนผู้ใช้งาน แม้ว่าที่ผ่านมา กสทช. ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้าหรือพรีเพด มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ อาทิ ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการ พร้อมสําเนาบัตรประจําตัวหรือเอกสารประจําตัวอื่น วันและเวลาที่เริ่มใช้บริการและวันยุติการใช้เลขหมาย เลขหมายที่ใช้บริการ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้จัดจําหน่ายแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากไม่มั่นใจในการลงทะเบียนเพราะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนไปกับผู้จำหน่ายซิมการ์ด ที่บางครั้งอาจจะเป็นศูนย์บริการหรือร้านตู้ที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป จึงทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าข้อมูลส่วนตัวอาจรั่วไหลได้ อีกประการหนึ่งผู้ประกอบการไม่อาจบังคับให้ผู้ใช้ซิมการ์ดเก่าอยู่ก่อนที่ประกาศจะใช้บังคับมาดำเนินการลงทะเบียนซิมการ์ดได้ จึงเป็นเหตุให้ที่ผ่านมาผู้ใช้งานในระบบพรีเพดส่วนใหญ่ยังไม่ได้ ลงทะเบียนซิมการ์ด

จากสาเหตุความกังวลด้านความปลอดภัยดังกล่าว ประกอบกับเพื่อให้เป็นการสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการยุ่งยากในการลงทะเบียนซิมพรีเพดลง และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้ใช้บริการจะเลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟนเสียเป็นส่วนใหญ่ กสทช. จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า “2 แชะ” ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นใจในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวให้กับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในการลงทะเบียนซิมการ์ด ทั้งซิมการ์ดเก่าและซิมการ์ดใหม่ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน

ชื่อแอพพลิเคชั่น “2 แชะ” นี้น่าจะมีที่มาจากความสะดวกและง่ายต่อการลงทะเบียน โดยคำว่า “แชะ” เปรียบเทียบคือการที่ผู้ใช้บริการถ่ายภาพที่ปกติจะมีเสียง “แชะ”
ออกมาในขณะที่ถ่ายภาพนั่นเอง สำหรับการดำเนินการลงทะเบียนซิมตามแอพพลิเคชั่นนี้ ขอให้ทราบเบื้องต้นก่อนว่าผู้ใช้บริการไม่ต้องเป็นผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้แต่อย่างใด แต่ผู้ที่จะใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ได้ต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วเท่านั้น โดยการทำงานของแอพพลิเคชั่นนี้ แชะที่ 1 คือการถ่ายภาพหมายเลขซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียน จากนั้นแชะที่ 2 คือการถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานแสดงตนอย่างอื่น อาทิ พาสปอร์ตหรือบัตรต่างด้าวของผู้ใช้บริการชาวต่างชาติก็ได้ เท่านี้ก็เป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียนซิมการ์ด โดยข้อมูลของผู้ใช้บริการจะถูกส่งตรงไปเก็บไว้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช. สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ และการถ่ายภาพผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะนี้ กสทช. ยืนยันว่าจะไม่มีการบันทึกภาพและข้อมูลใดๆ ของผู้ลงทะเบียนไว้ในเครื่องแต่อย่างใด จึงสามารถมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล

แอพพลิเคชั่น 2 แชะ นี้ได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีจุดให้บริการลงทะเบียนของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ 50,000 จุด ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากพอสมควรโดยมียอดลงทะเบียนซิมการ์ดทั่วประเทศประมาณ 43,000 เลขหมาย นอกจากนั้น กสทช. ยังมีแผนจะเปิดให้บริการตามธนาคาร ห้างสรรพสินค้า อาทิ Big C หรือ Tesco Lotus และร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ก่อนวันที่ 30 กันยายนนี้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนยิ่งขึ้น

การลงทะเบียนซิมการ์ดทั้งเก่าและใหม่ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดนั้น นอกจากจะสามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะตามที่กล่าวข้างต้นได้แล้ว ยังสามารถลงทะเบียนแบบเดิมโดยการแจ้งลงทะเบียนซิมการ์ดกับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าที่ศูนย์ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่เช่นเดิม ไม่จำกัดว่าต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้บริการแต่ละราย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในยุคนี้ปัญหาหลักเกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนคงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีข่าวให้ได้ยินไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งน่าแปลกที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวในระหว่างการขับขี่นั้น ส่วนใหญ่กลับเกิดจากความประมาทในการขับขี่รถยนต์ ทั้งการทำกิจกรรมอย่างอื่นในระหว่างการขับขี่ เช่น การคุยโทรศัพท์หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พิมพ์ข้อความ เอสเอ็มเอส ขณะขับรถ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือเสียการควบคุมรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นทุกวันและร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพี่อแก้ไขปัญหารวมทั้งลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวโดยอาศัยคลื่นความถี่วิทยุในรูปแบบของเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อช่วยควบคุมรถโดยคำนวณระยะปลอดภัยที่หากจะเกิดอุบัติเหตุรถจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ และสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงาน โดยระบบชุดคำสั่งดังกล่าวจะส่งมาจากสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุเพื่อทำการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่ 24.05 – 24.25 GHz, 24.25 – 26.65 GHz และ 76 – 77 GHz เพื่อนำมาใช้ติดตั้งในรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทาง กสทช. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช.ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว รวมทั้งเพื่อปรับปรุงมาตรฐานเทคนิคในย่านความถี่วิทยุ 76 – 77 GHz ที่ใช้อยู่เดิม ให้เหมาะสมกับปัจจุบันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนผู้ใช้ถนนโดยทั่วไป โดยที่การใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน โดยเนื้อหาของประกาศที่ปรับปรุงดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตสำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ซึ่งติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้งานในย่านความถี่วิทยุ 24.05 – 24.25 GHz และ 24.25 – 26.65 GHz เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานทางเทคนิคและสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแนวคิดดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ นับแต่ได้มีผู้พัฒนานำระบบเรดาร์มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในวงการต่างๆ โดยในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และการคมนาคมนั้น ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์เรดาร์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการถอยรถเพื่อคำนวณระยะในการจอด หรือการที่ผู้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนนำเทคโนโลยีเรดาร์มาใช้กับกล้องความเร็วสูงเพื่อตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งเกินความเร็วที่กำหนด เป็นต้น ต่อมาได้มีบริษัทผลิตรถยนต์หลายบริษัทได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ของตน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่นำระบบเรดาร์มาใช้เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์แล้ว เช่น ในรถยี่ห้อ Volvo บางรุ่น หรือในรถ Ford Focus ที่ทำงานโดยระบบเรดาร์เพื่อทำให้รถสามารถจอดในแนวขนานได้เองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบสั่งการเพื่อหยุดรถในระยะใกล้เมื่อวิ่งด้วยความเร็วต่ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากระบบคลื่นความถี่วิทยุที่ช่วยควบคุมการทำงานนั่นเอง นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ได้เริ่มมาขอใบอนุญาตเพื่อรับรองการใช้เรดาร์ดังกล่าวในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือบริษัทนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์รวมถึงผู้ใช้ท้องถนนทั่วไปด้วยการนำเทคโนโลยีด้านระบบเรดาร์มาใช้พัฒนาเข้ากับระบบการขนส่งมวลชน ตัวอย่างที่มีให้เห็นอย่างเช่นในกรุงลอนดอนกำลังมีการทดลองมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานคือการนำเครื่องจับภาพและเรดาร์แบบที่ใช้ตรวจหาวัตถุในท้องฟ้ามาติดตั้งกับรถประจำทาง อุปกรณ์นี้จะเตือนคนขับรถประจำทางให้ทราบทันทีที่มีคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานอยู่ใกล้กับรถของตน เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัย ไม่เพียงแต่กับผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนเดินถนนหรือผู้ขับขี่จักรยานอีกด้วย

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า กสทช.นั้นมีบทบาทในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายรวมทั้งออกกฎหมายมารองรับเรื่องดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ถึงการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในเรื่องระบบเรดาร์ในย่านคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตข้างต้นเท่านั้น แต่ทางกสทช.ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมในเรื่องของคลื่นวิทยุความถี่ในย่านความถี่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกด้วย เช่นร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824/851-869 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814/851-859 MHz รวมทั้งยังอนุมัติให้สำรองย่านความถี่ 814-824/859-869 MHz เพื่อเตรียมคลื่นความถี่ให้รองรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (Public Protection and Disaster Relief: PPDR) และเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ในย่าน 800 MHz ตามความต้องการของผู้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการออกกฎหมายเพื่อรองรับและครอบคลุมเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้แก่ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ใช้ถนนทั่วไปมากขึ้น แล้วยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมในภาพรวมอีกด้วย
Source : http://telecomjournalthailand.com/