"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

อำนาจเรียกคืนคลื่นความถี่

อำนาจเรียกคืนคลื่นความถี่

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลักการคืนคลื่นความถี่นั้นคือการที่คลื่นความถี่มีจำกัดมากในขณะที่บางรายถือครองคลื่นแล้วไม่ได้ใช้จึงต้องมีการนำมาใช้ใหม่กันเยอะขึ้นอย่างทั่วถึง การ Re-farming หรือจัดสรรใหม่เป็นวิธีหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลหรือ Regulator ในหลายประเทศใช้ในการบริหารคลื่นความถี่ของชาติ ตัวอย่างกรณีที่ชัดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกาได้ทำเรียกคืนคลื่น 500 MHz สำหรับ Wireless Broadband หรือกรณีของภาคเอกชนคือบริษัท Sprint ซึ่งถือครองคลื่นช่วงกว้าง 35MHz สำหรับ Broadcast Auxiliary Service (BAS) หรือการส่งคลื่นกันเองระหว่างสถานีวิทยุ/ทีวี ซึ่งทาง Sprint ได้มีแผนยกเลิก BAS ตั้งแต่ปี 2005 โดยใช้วิธีการส่งข้อมูลแบบอื่น เพื่อยอมให้เอาคลื่น 35 MHz ไปทำ Wireless Broadband เป็นต้น

ประมูลคลื่นใดใช้ 4G?

ประมูลคลื่นใดใช้ 4G?

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เทคโนโลยีทางการสื่อสารและโทรคมนาคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญเทียบเท่ากับระดับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารนั่นก็คือ คลื่นความถี่ที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม แม้ประเทศไทยจะเริ่มใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมแบบ 3G มาได้ไม่นาน แต่คนไทยก็อาจได้ใช้เทคโนโลยีที่มีพัฒนาการและประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก ที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีรุ่นที่ 4 หรือ 4G Long Term Evolution (LTE) อย่างเต็มรูปแบบและเนื่องจากปีนี้จะมีการ ประมูลคลื่น ความถี่ซึ่งผู้ที่ประมูลได้สามารถนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ได้ บทความฉบับนี้จะได้มาติดตามความคืบหน้าว่าจะมีการ ประมูลคลื่น ความถี่ในย่านใด ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางและเป็นข่าวใหญ่อยู่ในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า คณะกรรมการอนุมัติแผนงานให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มต้นประมูล 4 จีทันที หลังจาก คสช. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม หรืออีก 5 เดือน โดยการประมูล 4จีจะให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องยึดกับคลื่นความถี่ 900 หรือ 1,800 เท่านั้น ส่วนรูปแบบประมูลยังเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งต้องนำมารายงานคณะรัฐมนตรีทุกเดือนหลังจากนี้ จึงให้ กสทช. พิจารณาว่ามีคลื่นไหนที่จะนำมาประมูลได้บ้าง ซึ่ง กสทช.สามารถนำคลื่นตั้งแต่ 900 MHz-2600 MHz มาจัดประมูลได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม ซึ่งที่ประชุม กสทช.มีมติให้นำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัท DPC ซึ่งจะหมดสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ออกประมูล 4G ด้วย โดยราคาเริ่มต้นการประมูลจะอยู่ที่ 11,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต แต่ต้องให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่ได้ว่าจ้างดำเนินการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่อีกครั้ง ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เดิมอยู่ในความครองครองของบริษัท ทรูมูฟ ซึ่งหมดสัญญาสัมปทานกับ CAT แล้วนั้น กสทช.เตรียมประมูลไว้แล้ว โดยจะประมูลใบอนุญาต 2 ใบ ราคาเริ่มต้นที่ 11,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการฯยังได้มีการเสนอให้ ประมูลคลื่น ย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz อยู่ในการครอบครองของ อสมท จำกัด (มหาชน) จึงอาจมีปัญหาเรื่องการขอคืนคลื่นดังกล่าว รวมไปถึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทาง อสมท. ด้วย เช่นเดียวกับการเสนอให้ ประมูลคลื่น ความถี่ย่าน 2300 MHz อันอยู่ในความครอบครองของ TOT อยู่ในปัจจุบันที่อาจเกิดปัญหาเดียวกัน ซึ่งการเรียกคืนความถี่ย่านดังกล่าวอาจต้องใช้วิธีการทางศาลซึ่งใช้ระยะเวลานาน ทาง กสทช. จึงมีความเห็นว่าอาจจะไม่สามารถเตรียมการ ประมูลคลื่น อื่นนอกจากคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz ได้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในแผนงานมาก่อน

ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่าการใช้คลื่นความถี่ 2600 MHz นั้นจะช่วยรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการที่มีมากขึ้นเพราะต่อไปมีจำนวนผู้ใช้ Data มากขึ้นเรื่อยๆ ความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน เพราะทั้ง 2 ย่านรวมกันมีแบนด์วิธ 45 MHz เท่านั้น ความถี่ย่าน 2600 MHz มีแบนด์วิธที่ว่างอยู่ และ อสมท. ไม่ได้ใช้งาน และมีแบนด์วิธมากถึง 128 MHz ดังนั้น จึงเป็นความถี่ที่เหมาะสม และเพียงพอสำหรับการเดินตามนโยบาย Digital Economy ของประเทศ แต่ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz อาจไม่เหมาะกับการเอามาประมูลทำบริการมือถือ 4G เพราะความถี่ย่านนี้ใช้งานด้านรับส่งข้อมูลเป็นหลักและมีประสิทธิภาพการใช้งานด้านเสียงต่ำ นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องที่รองรับได้มีน้อยกว่าคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จึงมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแล้วพบว่า “การทำสัญญาสัมปทานของ อสมท บนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เกิดขึ้น ในปี 2554 หลังจากที่มี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นระบบใบอนุญาตโดย กสทช.เท่านั้น การกระทำของ อสมท. จึงขัดต่อกฎหมาย แต่ อสมท. ก็ใช้สิทธิยื่นข้อโต้แย้งมาที่ กสท. ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วมระหว่าง กสท.และ กทค.คาดจะรู้ผลใน 1-2 เดือน” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวในประเด็นนี้

สำหรับคุณสมบัติของแอลทีอี (LTE) หรือ 4G นั้นจะมีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps ซึ่งในยุค 4G นี้ถือว่าเป็นยุคที่ถูกพัฒนาก้าวมาอีกขั้น ตอบสนองการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายดีขึ้น สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่าเดิม และสามารถใช้โปรแกรมมัลติมีเดียได้อย่างเต็มที่ เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรมต่างๆ ในระดับความคมชัดสูง โหลดหนัง ฟังเพลง ได้โดยไม่สะดุด และยังสามารถอัปโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูลที่มีขนาดไฟล์ใหญ่โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน โดย 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ช่วยสนับสนุนให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเกิดการซื้อขายในรูปแบบใหม่ทางอินเตอร์เน็ต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยเติบโต ทั้งยังสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงการรองรับข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น

ในส่วนภาครัฐสิ่งที่ได้จากการประมูล 4G คือเงินรายได้ที่จะนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ทำให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าระดับสากล เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ หากโชคดีกว่านั้น ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการมีโอกาสในเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง (Access) เชื่อมต่อ (Connectivity) และทำให้การบริการหรือข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล (Digitization) กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมมีพลวัตเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

ในเรื่องของการจัด ประมูลคลื่น ความถี่ดังกล่าว ประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือการกำหนดราคาขั้นต่ำการประมูลใบอนุญาตที่เป็นสิ่งสำคัญเพราะการตั้งราคาที่เหมาะสมย่อมจะก่อให้เกิดผลดีกับรัฐเองและย่อมส่งผลดีมาถึงประชาชนด้วย จึงควรมีการตั้งราคาขั้นต่ำการประมูลที่เหมาะสมโดยไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป โดยมีผู้เสนอความเห็นในประเด็นนี้หลายราย เช่นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งประสงค์จะเข้าร่วมประมูลด้วยและเตรียมเสนอกรอบการประมูลในส่วนของ CAT เองต่อคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย CAT มองว่าการประมูล 4G นั้น ใบอนุญาตควรเริ่มต้นที่ใบละ 5,000 ล้านบาท เพราะยิ่งราคาแพงผลกระทบก็จะตกกับผู้บริโภคเนื่องจากราคาใบอนุญาตก็คือต้นทุนขาหนึ่งที่ต้องรวมไปกับการให้บริการและคิดค่าบริการในอนาคต นอกจากนี้ควรต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเพดานค่าบริการ เพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำว่าไม่ว่าเอกชนรายใดที่จะเข้ามาประมูล จะต้องทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการที่มีราคาถูกและมีคุณภาพดีตั้งแต่ก่อนจะประมูล นอกจากนี้สมควรที่จะวางมาตรการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมดของผู้ประกอบการแต่ละรายโดยอาจจะตรวจสอบสถานะของผู้เข้าร่วมประมูลและเปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่เข้าร่วม เพื่อป้องกันการผูกขาดและลดการกักตุนหรือถือครองคลื่นความถี่โดยไม่ได้ใช้งานให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งสร้างความโปร่งใสให้กับการประมูลและมีตัวเลือกสำหรับผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ค่าโทร ใน-นอกเครือข่ายต่างกัน??

ค่าโทร ใน-นอกเครือข่ายต่างกัน??

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างออกแพคเกจ ค่าโทร ในเครือข่ายเดียวกันถูกกว่าโทรนอกเครือข่าย ขณะที่ผู้ใช้บริการก็มักจะไม่ทราบว่าบรรดาเลขหมายที่โทรออกไปนั้นอยู่ภายในหรือนอกเครือข่าย บทความฉบับนี้จะได้วิเคราะห์ข้อกฎหมายกันว่า ค่าโทร ในเครือข่ายกับโทรนอกเครือข่ายนั้นจะต่างกันได้หรือไม่

การที่บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือกำหนดให้เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจาก ในการโทรข้ามโครงข่ายนั้นจะมีอัตราค่าเชื่อมต่อข้ามโครงข่ายหรือ Interconnection Charge หรือ ค่า IC ซึ่งเป็นการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้โครงข่ายฝ่ายรับได้รับผลประโยชน์จากการติดต่อสื่อสารในครั้งนั้นด้วย โดยทางโครงข่ายต้นทางจะเป็นผู้จ่ายค่า IC ให้กับโครงข่ายฝ่ายรับ ซึ่งจะส่งผลในทางอ้อมกับผู้ใช้บริการโครงข่ายเพราะต้นทุนค่าติดต่อสื่อสารจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าใช้บริการอาจจะต้องเพิ่มตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีประกาศ กทช. (ซึ่งก็คือ กสทช. ในปัจจุบัน) กำหนดให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการโทรใน-นอกเครือข่ายราคาเดียว โดยสาระหลักของคำสั่งดังกล่าวที่มีการออกในยุคของ กทช. ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 คือ ห้ามผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการจัดทำรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) โดยหากพบว่าผู้ประกอบกิจการรายใดฝ่าฝืน ให้สำนักงาน กสทช. กำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดต่อไป

ประกาศดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์หลายรายเช่น บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2555 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กสทช. ที่ห้ามเรียกเก็บเงินค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกันดังกล่าวข้างต้น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้นศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าคำสั่ง กสทช. กรณีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะเหตุว่าการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าบริการโทรคมนาคมในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) กับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) เป็นการขัดต่อมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และข้อ 17 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 19/2553 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 เรื่อง ห้ามเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน โดยข้ออ้างอื่นๆ ที่บริษัทดิจิตอลบรรยายในฟ้องนั้น ศาลเห็นว่าไม่อาจรับฟังได้

ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ในชั้นนี้จึงถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ผลของคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลว่าคำสั่งของ กทช. ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ และผู้ประกอบกิจการต้องอยู่ใต้บังคับ

นอกจากคดีความของบริษัทดังกล่าวข้างต้นที่ศาลปกครองได้ยกฟ้องไปแล้ว บริษัทผู้ประกอบการรายอื่นๆเช่น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็ได้ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศดังกล่าวเช่นกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องดังเช่นคดีก่อนหน้านี้ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวของ กทช. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนประเด็นผลกระทบ และความเสียหายต่างๆ จากการออกคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างนั้นไม่อาจรับฟังได้ โดยศาลชี้ชัดว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการ แต่ตรงกันข้ามกลับถือเป็นการสนับสนุนให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อหลักการกำกับดูแลค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นบริการสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในการแข่งขันและเข้าถึงบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพมากที่สุด

การที่ศาลปกครองกลางเห็นว่าคำสั่งของ กทช. หรือ กสทช. ฉบับดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นเพราะเมื่อผู้ประกอบการรายใดสามารถทำได้โดยอาจยอมมีกำไรที่ลดลงเพราะต้องทำให้ค่าบริการนอกโครงข่ายเท่ากับค่าบริการในโครงข่าย ย่อมได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการและมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่าคำสั่งดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคในเรื่องของการมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือต่างกัน และไม่ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภาระที่ต้องคอยตรวจสอบว่าเลขหมายปลายทางนั้นเป็นเลขหมายที่อยู่ในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือไม่เพราะไม่ว่าจะโทรในโครงข่ายเดียวกันหรือต่างกันก็ไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการก็ตาม แต่หากเรามาวิเคราะห์ถึงผลจากการปรับค่าบริการให้เท่ากันทั้งใน-นอกเครือข่ายดังกล่าวแล้วจะพบว่าคำสั่งดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ค่าบริการเฉลี่ยทั้งการโทรภายในเครือข่ายและนอกเครือข่ายนั้นสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเพราะผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับลดราคาค่าบริการโทรนอกเครือข่ายให้ลดลงเท่ากับค่าบริการโทรในเครือข่าย ทำให้ค่าบริการโดยรวมสูงขึ้น ผู้ใช้บริการจึงอาจจะต้องจ่ายค่าบริการในเครือข่ายที่สูงเกินควร ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำได้โดยการลดค่า IC ลงเพราะหากอัตราค่าไอซียังคงเดิม เมื่อมีการปรับกติกาให้คิดอัตราค่าบริการโทรใน-นอกเครือข่ายเป็นอัตราเดียว การกำหนดราคา ค่าโทร ภายในเครือข่ายต่ำๆ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องเป็นการกำหนดอัตรา ค่าโทร แบบเฉลี่ยระหว่างการโทรข้ามเครือข่ายกับภายในเครือข่าย

สำหรับการคิดค่า IC ในประเทศไทย กทช. ได้กำหนดให้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามที่คู่กรณีเจรจาตกลงซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ได้ใช้รูปแบบ CNPN (ให้คนโทรออกเป็นคนจ่าย) โดยกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในส่วนการรับสายเรียกเข้าในอัตราประมาณ 45 สตางค์ต่อนาที อันเป็นผลมาจากการปรับลดค่า IC ลงของ กสทช. และการประกาศใช้อัตราขั้นสูงค่าบริการโทรศัพท์มือถือห้ามเกินนาทีละ 99 สตางค์ ซึ่งทำให้ค่า IC หรือค่าเชื่อมโยงโครงข่ายนั้นมีอัตราถูกลง แสดงให้เห็นว่าค่า IC นั้นมีผลต่อค่าบริการมือถือโดยรวม ซึ่งหากในอนาคตมีการปรับแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมจะส่งผลให้ค่าบริการโทรศัพท์ถูกลงมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการในประเทศไทยต่อไป

Source : http://telecomjournalthailand.com/

เช็คก่อนแชร์!

เช็คก่อนแชร์!

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่อไม่กี่วันมานี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกมากล่าวถึงผลการสำรวจสถิติของไอซีที ที่พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้แอพพลิเคชั่น“ไลน์” ประมาณ 33 ล้านคน โดยมีการส่งข้อความวันละเกือบ 40 ล้านข้อความ และได้แจ้งว่ากระทรวงไอซีทีสามารถสอดส่องตรวจดูได้หมดว่ามีการส่งต่อข้อความประเภทไหนบ้างในแอพพลิเคชั่น“ไลน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความหมิ่นประมาท ข้อความหมิ่นสถาบันและข้อความที่มีผลกระทบด้านความมั่นคงซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษ ต่อมาทางด้านบริษัท LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า LINE ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ได้ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และในทางสากลก็มีกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ใช้ LINE คุ้มครองอยู่ หากทางการไทยประสานมาที่ LINE ประเทศไทยเพื่อจะขอข้อมูลผู้ใช้ก็จะต้องมีหมายศาลมาที่ทาง LINE และติดต่อไปที่ LINE ประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแม่ก่อน แต่ยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทแม่ด้วยว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติ การที่จะขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จึงจะมีหลายขั้นตอนในการติดต่อระหว่างประเทศ อีกทั้งนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ทางไลน์แจ้งไว้กับผู้ใช้ก็ระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆของผู้ใช้หากไม่ได้รับความยินยอมอีกด้วย

ข้อกล่าวอ้างขอทางไลน์ในประเด็นข้อมูลส่วนตัวนั้นก็ถูกต้องอยู่และมีกฎหมายไทยรองรับว่า ผู้ใช้บริการย่อมได้รับความคุ้มครองในสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 35 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแง่มุมในการใช้เครื่องมือเพื่อสื่อสารในโลกออนไลน์ทั้งสองด้านได้เป็นอย่างดี กล่าวคือทางผู้ที่ตรวจสอบควบคุมไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องคอยติดตามและหาหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดเพราะปัจจุบันแต่ละวันมีการส่งข้อความประเภทนี้จำนวนมากเช่นกัน ส่วนที่ไลน์ประเทศไทยออกมากล่าวเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเพราะว่าตามหลักสากลแล้วในสังคมเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน (As a Right of the Person) โดยการกำกับดูแลสิทธิส่วนบุคคลเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองความเสี่ยงประเภทต่างๆ ในระบบการทำธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถให้ความมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัย การรักษาข้อมูล หลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทางบริษัทไลน์ย่อมยึดถือเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญในการให้บริการ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าการขอตรวจสอบข้อมูลจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่ ผู้ใช้บริการพึงระมัดระวังในการที่จะส่งต่อข้อมูล Social Media ใดๆทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นการแชร์เรื่องราวจาก Facebook  หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความต่อกันทางไลน์โดยควรจะตรวจสอบก่อนว่าเรื่องดังกล่าวนั้นมีแหล่งที่มาจากไหนและมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เพราะการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหาย หลอกลวง ปล่อยข่าวลือให้เกิดความตื่นตระหนกต่อสาธารณะ หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นมาเผยแพร่จนทำให้เกิดความเสียหาย อาจมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่ห้ามนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน ข้อมูลที่ผิดกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงและการก่อการร้าย และข้อมูลที่เป็นเรื่องลามกอนาจาร โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงมาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดอันเนื่องมาจากการนำภาพของผู้อื่นมาตัดแต่งต่อเติมแล้วเผยแพร่ในลักษณะที่ทำให้บุคคลนั้นได้รับความเสียหาย อับอาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ทำให้ผู้ที่เผยแพร่นั้นโดนฟ้องเป็นคดีอาญาได้ ขณะที่สื่อมวลชนซึ่งทำการเผยแพร่ต่อไปก็ดีหรือผู้ที่ส่งต่อข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดข้างต้นก็ดี ถือว่ามีความผิดด้วยและมีโทษเท่ากับตัวการผู้ผลิตข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความผิดข้างต้นก็มีความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากใครได้รับการส่งต่อข้อความประเภทนี้ สามารถนำข้อความนั้นไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ในการไปตรวจสอบหาต้นตอที่ส่งมาได้  ส่วนกรณีที่หากมีการจับกุมแล้วผู้ต้องสงสัยอ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั้นอาจจะฟังได้ยากเพราะตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นคนที่สมรู้ร่วมคิด ดังนั้นทางที่ดีทุกคนไม่ควรส่งต่อข้อความที่สุ่มเสี่ยงและอาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือข้อความที่มีลักษณะพาดพิงถึงบุคคลที่สามที่อาจทำให้ได้รับความเสียหายได้

นอกจากการส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อความที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายข้างต้นแล้ว ด้วยในยุคสมัยที่ข้อมูลต่างๆถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือการใช้ “สื่อสังคมออนไลน์” (Social Media) เพื่อจุดกระแสบางอย่างในสังคม หากแต่มิได้ทำอย่างตรงไปตรงมาจนหลายครั้งทำให้ผู้รับสื่อเกิดความสับสน ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อหลักทั้งไทยและต่างประเทศ ที่นำไปขยายความต่อโดยอาจจะไม่ได้ตรวจสอบต้นตอหรือจุดประสงค์ให้ดีเสียก่อน ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิดๆได้ โดยที่เห็นกันบ่อยๆเช่นกลยุทธ์การโฆษณาแบบ “ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง” (Viral Marketing) หรือการสร้างกระแสขึ้นมาสักอย่างหนึ่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เมื่อผู้รับสื่อเห็นแล้วก็จะนำไปบอกต่อกับคนอื่นๆโดยไม่ว่าจะบอกต่อในแง่ใดก็ตาม การใช้กลยุทธ์โฆษณาแบบไวรัลมาร์เก็ตติ้งนี้ในหลายกรณีแม้จะไม่ผิดในแง่กฎหมาย แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและการนำเสนอที่ชวนให้คนเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นคนเสพสื่อออนไลน์ในยุคนี้จึงต้องใช้วิจารณญาณขั้นสูงก่อนแชร์ข้อมูลออกไป เพราะข่าวสารแต่ละเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้ยากมากขึ้น แม้จะมีทั้งให้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แต่ก็ยังมีอีกหลายเนื้อหาที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมในการปล่อยข่าวเพื่อโจมตีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ร้ายบุคคลอื่นจนอาจทำให้เราหลงเชื่อไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นผู้ใช้บริการควรตรวจสอบข้อมูลจากสื่อหลายๆแหล่งหรือตรวจสอบที่มาของข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะหลงเชื่อ รวมทั้งไม่ส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูลในทันทีจนกว่าจะมีการยืนยันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแชร์โดยไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลเสียให้เรารับรู้ข้อมูลแบบผิดๆแล้วยังจะเป็นการส่งต่อข้อมูลผิดๆเหล่านั้นไปให้ผู้อื่นหลายคน และที่สำคัญก็คือทำให้เรากลายเป็นผู้ทำผิดตามกฎหมายไปอีกด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

คิดค่าโทรเป็นวินาที

คิดค่าโทรเป็นวินาที

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้หลายท่านอาจจะได้ทราบข่าวที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบให้มีการแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการคิดราคาค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ จากฐานจากการคิดบริการปัดเศษเป็นนาที เป็นการคิดตามจริงเป็นวินาทีและเตรียมส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในหลักการดังกล่าวด้วยแล้ว ส่วนทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้เรียกหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาทีซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติแนวทางนี้มาโดยตลอด โดยได้ข้อสรุปว่า ให้ผู้ประกอบการต้องออกโปรโมชั่นการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีให้ประชาชนเลือกเปลี่ยนแพกเกจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2558

หลังจากที่เรื่องดังกล่าวมีการกล่าวอ้างและหยิบยกขึ้นมาว่าประชาชนทั่วไปที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งในระบบเติมเงินรายเดือนนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าโทรศัพท์แบบกินเปล่าไปฟรีๆถึง เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือ ปีละ 43,092 ล้านบาท และจากการสำรวจการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ค่าบริการในระบบเติมเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 341 บาทต่อเดือน ส่วนระบบรายเดือนอยู่ที่ 716 บาท ถ้าเฉลี่ยทั้งสองระบบมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 415 บาทต่อเดือน โดยค่าโทรระบบเติมเงินอยู่ที่ 1.20 บาทต่อนาที ระบบรายเดือนอยู่ที่ 1.70 บาทต่อนาที เฉลี่ยทั้งสองระบบค่าโทรอยู่ที่ 1.30 บาท ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการมือถือ 3 ราย ได้แก่ ทรู มีรายได้รวมปี 56 อยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท ดีแทคมีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท และเอไอเอสมีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ต่อมาทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้จัดทำรายงานนำเสนอหลักการกำหนดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีให้กับ สปช. พิจารณาเพื่อแก้ไขการคิดค่าบริการโทรศัพท์เกินจริงดังกล่าว

ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาการคิดค่าบริการของต่างประเทศเช่น การคิดค่าบริการมือถือของสหภาพยุโรป (EU) มีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (Roaming) โดยคิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาทีแรก จากนั้นตั้งแต่วินาทีที่ 31 เป็นต้นไปให้คิดค่าโทรตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งหมด แต่ในทางกลับกันพบว่าประเทศไทยมีการคิดค่าบริการเป็นนาที โดยมีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน 100 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการเกิน 1 นาที และมีเศษวินาที โอกาสที่โทรลงตัวครบ 1 นาทีคิดเป็น 1 ใน 60 เท่านั้น และมีถึง 99% ที่โทรเป็นวินาทีที่ถูกปรับเศษเป็นนาทีทั้งหมด จึงประเมินว่าทุกวันจะมีการใช้งานที่ถูกปรับเศษวินาทีเป็นนาที เกิน 100 ล้านนาที รวมต่อเดือนกว่า 3,000 ล้านนาที ทำให้ผู้ประกอบการมือถือได้รับรายได้ส่วนเกินมากกว่า 4,500 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นปีมากกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท

แนวคิดดังกล่าวส่งผลมีข้อสนอให้ทาง กสทช. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยอาศัยมาตรา 31 วรรคสอง ให้ออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียง คิดค่าบริการโดยปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที เนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและเร่งออกประกาศหรือหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่อาศัยการใช้งานเครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พร้อมใช้อำนาจตามกฎหมาย กสทช. พ.ศ.2553 มาตรา 27 (9) ออกหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียง คิดค่าบริการตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษเป็นนาทีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค

ยังมีผู้ที่เสนอต่อไปอีกว่านโยบายดังกล่าวไม่ควรแต่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนโปรโมชั่นชั่วคราวเท่านั้น แต่จะต้องเปลี่ยนระบบอย่างถาวรโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาค่าบริการซึ่งจะต้องมีการปรับระบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และระบบบิลลิ่ง (Billing System) ใหม่ซึ่งคาดว่าสามารถทำได้ภายใน 2-3 เดือน อีกทั้งต้องดูกระแสการตอบรับของประชาชนว่ามีผู้สนใจเปลี่ยนแพกเกจมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้มีการตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมากำกับดูแลในอนาคต เพราะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค อีกทั้งการดำเนินการด้านกิจการโทรคมนาคมใดๆ จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งในเบื้องต้นหากมีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ได้จริงจะช่วยประหยัดค่าโทรได้วันละ 1 นาที คิดเป็น 1.33 บาท ใน 1 เดือน ประหยัดได้ 40 บาทต่อคน เมื่อประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์ 94 ล้านเลขหมาย จะประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่สิ่งที่สำคัญในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าบริการโทรศัพท์ครั้งใหญ่นี้คือการได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย ซึ่งหากร่วมมือก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆ แต่ถ้าหากทางผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างดังกล่าว ก็อาจจำเป็นที่จะต้องออกกฎเป็นคำสั่งทางปกครอง ภายใต้การออกประกาศของ กสทช. ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้ แต่โดยหลักถ้าทุกโอปอเรเตอร์ปรับมาตรฐานการให้บริการ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมาบังคับแต่อย่างใด

เมื่อเรามาพิจารณาในหลายๆประเทศแล้วจะเห็นได้ว่ามีระบบการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะคิดค่าโทรเป็นนาที แต่ในหลายประเทศก็คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เช่นในประเทศไต้หวันจะมีการเก็บค่าบริการโทรในประเทศคิดเป็นนาที แต่ค่าบริการเซลลูล่าร์อาจคิดเป็นนาทีหรือวินาที ขึ้นอยู่กับโอปอเรเตอร์และแพกเกจ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นคิดค่าโทรในประเทศแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Flat-Rate) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการคิดค่าโทรในแต่ละครั้ง หากมองอีกด้านในแง่ของการเปลี่ยนโครงสร้างระบบการจัดเก็บค่าบริการดังกล่าว การใช้โรมมิ่งในต่างประเทศนั้นอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้เพราะต่างประเทศส่วนใหญ่ จัดเก็บค่าบริการโทรศัพท์เป็นแบบนาที เมื่อคนไทยเดินทางอออกไปนอกประเทศและใช้ระบบโรมมิ่ง จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการเก็บค่าบริการ อันเป็นปัญหาที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้กันต่อไปหากมีการปรับเปลี่ยนระบบอย่างเต็มรูปแบบ

Source : http://telecomjournalthailand.com/

E-Payment

E-Payment

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะได้ยินข่าวที่ทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT Telecom) เปิดเผยว่าบริษัทมีมีมติให้จัดตั้งธุรกิจร่วมค้าและการทำระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางออนไลน์อย่างครบวงจร หรือ เพย์เม้นท์ เกตเวย์ (Payment Gateway) โดยจะดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้โดยจะเจาะทั้งธุรกิจภาครัฐไปยังเอกชน (G2C) ธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจถึงกลุ่มผู้บริโภค (B2C) เนื่องจากยังไม่มีองค์กรภาครัฐให้บริการประเภทนี้ ธุรกิจนี้จะต้องทำร่วมกับหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความปลอดภัยและน่าเชื่อถือเป็นหลัก แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่มีอัตราเติบโตสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายดิจิตอล อีโคโนมีของรัฐบาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม CAT ยังตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากธุรกิจเพย์เม้นท์ประมาณ 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ซึ่งตลาดออนไลน์เพย์เม้นท์ปัจจุบันมีมูลค่าราวหมื่นล้านบาทต่อปี

จากข่าวดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Payment นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ แต่หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าระบบดังกล่าวคืออะไรและมีขั้นตอนการทำงานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับเราได้อย่างไร บทความฉบับนี้จะได้เผยแพร่ความรู้ในประเด็นนี้ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Payment System  คือ กระบวนการส่งมอบหรือโอนสื่อการชำระเงินเพื่อชำระราคาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในยุคปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยมอย่างมากโดยมีทั้งธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ให้บริการดังกล่าว ส่วน Payment Gateway นั้นคือบริการที่ให้ Website สามารถรับชำระค่าบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตได้ แต่เดิมแล้วบริการ Payment Gateway จะให้บริการผ่านทางธนาคารต่างๆ แต่เนื่องจากความยุ่งยากในการเดินเรื่องเอกสารกับทางธนาคาร ไม่ว่าจะการทำรอบบัญชี การวางวงเงินประกัน การต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนต่างๆ  ทำให้การเปิด Payment Gateway กับธนาคารมักจะเป็นที่ยุ่งยากสำหรับ Website ขนาดเล็กๆแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้มีการเปิด Payment Gateway แทนธนาคารดังกล่าวโดยการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แทนที่เราจะไปติดต่อกับทางธนาคารเอง ก็ให้ทำการติดต่อผ่าน Payment Gateway ของเว็บไซต์ตัวแทนนั้นๆ แทน สิ่งที่เราจะได้รับก็คือความสะดวก รวดเร็ว แต่ก็จะมีการหักค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าของธนาคารเล็กน้อย ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกว่าจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารหรือบริษัทที่เป็นคนกลางก็ได้

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ได้อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ.2551  และประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58  (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์)  โดยธุรกิจ e-Payment ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ประกอบด้วยธุรกิจ  8  ประเภท ได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money การให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิต การให้บริการเครือข่ายอีดีซี การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน การให้บริการหักบัญชี การให้บริการชำระดุล การให้บริการรับชำระเงินแทนและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือผ่านทางเครือข่าย

เนื่องจากการทำธุรกิจ E-payment หรือ Payment Gateway นี้มีมานานในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ธุรกิจการชำระเงินในระบบ E-payment มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อวัน การที่ธุรกรรมแบบดังกล่าวได้รับความนิยมมากก็เนื่องมาจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งประหยัดต้นทุนเพราะต้นทุนของ e-Payment มีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งถึงหนึ่งในสามของต้นทุนของการใช้เงินสด ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไอซ์แลนด์นั้น การใช้เงินสดมีต้นทุนสูงถึง US$2.57ต่อรายการ ในขณะที่ การใช้บัตรในการชำระเงินมีต้นทุนเพียง US$0.61 เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยนั้นแม้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเพิ่งได้รับความนิยมไม่นานมานี้แต่กลับมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะความเร็วของอินเตอร์เน็ตและโครงข่ายระบบที่ออกแบบมารองรับการใช้งาน ไม่เพียงแต่การทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในตลาด E-Commerce ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของคนไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดยมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อครั้ง และมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 15,000 บาท นอกจากนั้นยังสามารถคาดการณ์ได้ว่าในปีนี้หลังจากมีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบแล้วการเชื่อมโยงระบบ Payment Gateway กับการทำธุรกิจ E-Commerce ย่อมจะทำได้อย่างสะดวกและเต็มรูปแบบเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วนโยบายดังกล่าวยังจะช่วยขยายโอกาสและรองรับในการสร้างระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นกับปรับปรุงมาตรฐานให้ก้าวหน้าเทียบเท่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าเมื่อธุรกรรมการเงินมูลค่าสูงขึ้นเท่าใด ก็ต้องให้ความระมัดระวังเรื่องภัยคุกคามความปลอดภัยทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารย่อมเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกหลวง โดยอาจจะถูกกรอกข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินผ่านหน้าเว็บเลียนแบบธนาคาร (“Phishing”) ซึ่งขณะนี้มีการระบาดทางอีเมล์เป็นจำนวนมาก ผู้อ่านจึงต้องตื่นตัวและรู้ทันในเรื่องความปลอดภัยด้วย  โดยในกรณีใช้ผ่านแอพลิเคชั่นของธนาคารนั้น การโหลดหรือติดตั้งดังกล่าวก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าใช่แอพลิเคชั่นที่สร้างโดยธนาคารจริงๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เอง

Source : http://telecomjournalthailand.com/