"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในยุคนี้ปัญหาหลักเกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนคงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีข่าวให้ได้ยินไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งน่าแปลกที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวในระหว่างการขับขี่นั้น ส่วนใหญ่กลับเกิดจากความประมาทในการขับขี่รถยนต์ ทั้งการทำกิจกรรมอย่างอื่นในระหว่างการขับขี่ เช่น การคุยโทรศัพท์หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พิมพ์ข้อความ เอสเอ็มเอส ขณะขับรถ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือเสียการควบคุมรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นทุกวันและร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพี่อแก้ไขปัญหารวมทั้งลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวโดยอาศัยคลื่นความถี่วิทยุในรูปแบบของเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อช่วยควบคุมรถโดยคำนวณระยะปลอดภัยที่หากจะเกิดอุบัติเหตุรถจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ และสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงาน โดยระบบชุดคำสั่งดังกล่าวจะส่งมาจากสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุเพื่อทำการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่ 24.05 – 24.25 GHz, 24.25 – 26.65 GHz และ 76 – 77 GHz เพื่อนำมาใช้ติดตั้งในรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทาง กสทช. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช.ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว รวมทั้งเพื่อปรับปรุงมาตรฐานเทคนิคในย่านความถี่วิทยุ 76 – 77 GHz ที่ใช้อยู่เดิม ให้เหมาะสมกับปัจจุบันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนผู้ใช้ถนนโดยทั่วไป โดยที่การใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน โดยเนื้อหาของประกาศที่ปรับปรุงดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตสำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ซึ่งติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้งานในย่านความถี่วิทยุ 24.05 – 24.25 GHz และ 24.25 – 26.65 GHz เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานทางเทคนิคและสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแนวคิดดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ นับแต่ได้มีผู้พัฒนานำระบบเรดาร์มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในวงการต่างๆ โดยในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และการคมนาคมนั้น ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์เรดาร์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการถอยรถเพื่อคำนวณระยะในการจอด หรือการที่ผู้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนนำเทคโนโลยีเรดาร์มาใช้กับกล้องความเร็วสูงเพื่อตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งเกินความเร็วที่กำหนด เป็นต้น ต่อมาได้มีบริษัทผลิตรถยนต์หลายบริษัทได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ของตน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่นำระบบเรดาร์มาใช้เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์แล้ว เช่น ในรถยี่ห้อ Volvo บางรุ่น หรือในรถ Ford Focus ที่ทำงานโดยระบบเรดาร์เพื่อทำให้รถสามารถจอดในแนวขนานได้เองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบสั่งการเพื่อหยุดรถในระยะใกล้เมื่อวิ่งด้วยความเร็วต่ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากระบบคลื่นความถี่วิทยุที่ช่วยควบคุมการทำงานนั่นเอง นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ได้เริ่มมาขอใบอนุญาตเพื่อรับรองการใช้เรดาร์ดังกล่าวในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือบริษัทนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์รวมถึงผู้ใช้ท้องถนนทั่วไปด้วยการนำเทคโนโลยีด้านระบบเรดาร์มาใช้พัฒนาเข้ากับระบบการขนส่งมวลชน ตัวอย่างที่มีให้เห็นอย่างเช่นในกรุงลอนดอนกำลังมีการทดลองมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานคือการนำเครื่องจับภาพและเรดาร์แบบที่ใช้ตรวจหาวัตถุในท้องฟ้ามาติดตั้งกับรถประจำทาง อุปกรณ์นี้จะเตือนคนขับรถประจำทางให้ทราบทันทีที่มีคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานอยู่ใกล้กับรถของตน เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัย ไม่เพียงแต่กับผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนเดินถนนหรือผู้ขับขี่จักรยานอีกด้วย

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า กสทช.นั้นมีบทบาทในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายรวมทั้งออกกฎหมายมารองรับเรื่องดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ถึงการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในเรื่องระบบเรดาร์ในย่านคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตข้างต้นเท่านั้น แต่ทางกสทช.ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมในเรื่องของคลื่นวิทยุความถี่ในย่านความถี่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกด้วย เช่นร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824/851-869 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814/851-859 MHz รวมทั้งยังอนุมัติให้สำรองย่านความถี่ 814-824/859-869 MHz เพื่อเตรียมคลื่นความถี่ให้รองรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (Public Protection and Disaster Relief: PPDR) และเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ในย่าน 800 MHz ตามความต้องการของผู้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการออกกฎหมายเพื่อรองรับและครอบคลุมเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้แก่ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ใช้ถนนทั่วไปมากขึ้น แล้วยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมในภาพรวมอีกด้วย
Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *