"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ไว-ไฟ บนเครื่องบิน

ไว-ไฟ บนเครื่องบิน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในโลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและการติดต่อระหว่างผู้คนทั่วทั้งมุมโลกเข้าหากันได้ดีที่สุดคือ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบที่ผู้ใช้งานจะต้องนั่งประจำที่หรือประจำจุดที่จัดไว้เท่านั้นอาจไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำงานโดยอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นสำคัญแม้แต่ในระหว่างการเดินทาง สำหรับผู้ใช้งานบางรายแล้วหากพลาดการเชื่อมต่อแม้แต่ชั่วโมงเดียวก็อาจส่งผลสำคัญหรือพลาดโอกาสนัดหมายในทางธุรกิจบางอย่างได้ ความสำคัญดังกล่าวจึงนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับสายการบินในการให้บริการ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน โดยสาร

เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. บอร์ดชุดเล็กของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้อนุมัติใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตประเภทที่ 1 แบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ให้กับบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินนกแอร์ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน โดยสารได้ ระยะเวลาการอนุญาต 5 ปี โดยนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าลักษณะของการให้บริการจะเป็นการติดตั้ง ไว-ไฟ บนเครื่องบิน และใช้ช่องสัญญาณผ่านทรานสปอนเดอร์ขึ้นไปยังดาวเทียมไทยคม เพื่อรับส่งสัญญาณสถานีภาคพื้นดิน โดยใช้ได้ในเครื่องบินที่มีเส้นทางการบินทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ก่อนหน้านี้ กทค. ได้ให้ใบอนุญาตในการให้บริการไว-ไฟ กับการบินไทยเป็นรายแรกไปเมื่อช่วงธันวาคม 2556 ซึ่งการบินไทยได้เปิดให้บริการ THAI Sky Connect ไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การอนุญาตไว-ไฟให้กับทั้งสองสายการบินเป็นการอนุญาตแบบเดียวกัน ความถี่ที่ให้บริการคือคลื่นความถี่ย่าน 2.4 GHz แต่สำหรับสายการบินนกแอร์กับการบินไทยนั้นจะต่างกันอยู่ที่ลักษณะการติดตั้งอุปกรณ์เพราะการบินไทยจะมีอุปกรณ์ติดตั้งมากับเครื่องอยู่แล้ว ในขณะที่สายการบินนกแอร์ต้องหาอุปกรณ์เพื่อมาติดตั้งและใช้ช่องสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม

สำหรับการบินไทยที่ได้เปิดให้บริการแล้วนั้น ผู้โดยสารสามารถใช้งานไว-ไฟ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟนและแท็บเลตได้ โดยเข้าใช้บริการ THAI Sky Connect หลังเครื่องบินทะยานสู่ท้องฟ้าหรือ Take-off และสัญญาณคาดเข็มขัดนิรภัยดับลงแล้ว บริการไว-ไฟจะถูกระงับเมื่อเครื่องบินทำการบินเหนือน่านฟ้าบางประเทศที่ไม่อนุญาตใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายบนเครื่องบินได้ อาทิ พม่า เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดียและเกาหลี เป็นต้น ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าค่าบริการ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน จะสูงมากไหม จึงขอยกตัวอย่างของสายการบินหนึ่งโดยไม่เปิดเผยชื่อว่าอัตราค่าบริการมีให้เลือก 2 แพ็คเกจ คือบริการสำหรับสมาร์ทโฟน ขนาด 3 MB ราคา 4.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขนาด 10 MB ราคา 14.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบริการสำหรับไอแพดและแล็บท็อป ขนาด 10 MB ราคา 14.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ และขนาด 20 MB ราคา 28.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ความต้องการใช้ ไว-ไฟบนเครื่องบิน นี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากผลสำรวจจากเว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักและรถเช่าชั้นนำของโลกอย่าง Skyscanner ที่ได้เผยผลสำรวจถึงความต้องการของผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกพบว่าร้อยละ 47 ของนักท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าสื่อบันเทิงที่ต้องการมากที่สุดเมื่ออยู่บนเครื่องบินคือสัญญาณไว-ไฟ ซึ่งแน่นอนที่สายการบินระดับโลกจำนวนมากได้หันมาเปิดให้บริการไว-ไฟบนเครื่องบินโดยสารกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน Emirates Airlines ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สายการบิน Lufthansa ของเยอรมันนี สายการบิน Virgin Atlantic Airways ของอังกฤษ สายการบิน Singapore Airlines ของสิงคโปร์ สายการบิน Air China ของจีน สายการบิน Philippine Airlines ของฟิลิปปินส์ และสายการบิน Qatar Airways และ Southwest Airlines ของสหรัฐอเมริกา

ธุรกิจให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้มีเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาให้บริการไว-ไฟแล้วเกือบ 2,500 ลำ โดยประมาณร้อยละ 60 ของผู้โดยสารเครื่องบินพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกามีการเชื่อมต่อไว-ไฟบนเครื่องบิน หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ Gogo ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสัญญาณไว-ไฟ บนเครื่องบินพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกากว่า 1,600 ลำ โดยการให้บริการไว-ไฟบนเครื่องบินนั้น Gogo จะคิดค่าบริการ 5 – 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเดินทางโดยค่าบริการที่ได้รับทั้งหมด Gogo จะนำมาแบ่งให้กับสายการบินต่อไป

ปัจจุบันการให้บริการสัญญาณไว-ไฟบนเครื่องบินนั้นมี 2 แบบ แบบแรกคือการส่งสัญญาณจากเสาส่งสัญญาณที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งแต่ละเสาจะสามารถส่งสัญญาณได้ไกล 250 ไมล์ ปัญหาที่พบสำหรับวิธีนี้ก็คือหากเครื่องบินทำการบินเหนือทะเลหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ผู้โดยสารบนเครื่องจะไม่สามารถใช้บริการได้ ส่วนแบบที่สองเป็นการให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินผ่านการส่งสัญญาณดาวเทียม ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้งานไว-ไฟ ได้แม้ว่าจะบินอยู่บนผืนน้ำ แต่การติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณไว-ไฟ บนเครื่องบินโดยใช้ระบบดาวเทียมนั้นก็มีข้อเสียอยู่ที่ยุ่งยากและใช้เวลานานกว่าเครื่องส่งสัญญาณแบบเสา ทำให้มีค่าใช้จ่ายและค่าบริการแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเลือกแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสายการบินนั่นเอง

บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินโดยสารนี้มีข้อดีมากมายไม่ว่าจะเป็นความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการเครื่องบินโดยสารทั้งในกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว การสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนเครื่องบนจะไม่รบกวนสัญญาณการทำงานของระบบการบิน เพราะขณะเครื่องขึ้น-ลง ผู้โดยสารยังคงถูกห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารอยู่ แต่เมื่ออยู่ในอากาศแล้วสามารถใช้งานได้เพราะสัญญาณของอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีส่วนรบกวนสัญญาณวิทยุที่ใช้ควบคุมอากาศยานก็ตาม แต่คงไม่อาจมองในแง่ดีหรือประโยชน์ที่ได้รับแต่เพียงอย่างเดียวได้เพราะการมีไว-ไฟ ใช้ในขณะที่เครื่องบินกำลังทำการบินอยู่นั้นก็หมายความว่าผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องสามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ภาคพื้นดินได้เกือบตลอดเวลา ทำให้การวางแผน การนัดแนะ ซักซ้อมหรือการแจ้งความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ของกลุ่มคนร้ายทั้งที่อยู่บนเครื่องบินกับที่อยู่ภาคพื้นดินเพื่อการก่อวินาศกรรมหรือจี้เครื่องบินก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *