"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

จัดสรรเลขหมายสวย

จัดสรรเลขหมายสวย

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

บางท่านอาจได้ยินข่าวคราวมาบ้างเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะจัดให้มีการประมูลเลขหมายสวยขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ บทความนี้จะได้กล่าวถึงรายละเอียดของเรื่องนี้

รับฟังความเห็นประกาศ 4G

รับฟังความเห็นประกาศ 4G

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือร่างประกาศ 4G ขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในบทความฉบับนี้เราจะได้เล่าถึงบรรยากาศในงานและที่สำคัญคือจะได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะรวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ว่ามีอย่างไรบ้าง

ไว-ไฟ บนเครื่องบิน

ไว-ไฟ บนเครื่องบิน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในโลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารและการติดต่อระหว่างผู้คนทั่วทั้งมุมโลกเข้าหากันได้ดีที่สุดคือ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบที่ผู้ใช้งานจะต้องนั่งประจำที่หรือประจำจุดที่จัดไว้เท่านั้นอาจไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำงานโดยอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นสำคัญแม้แต่ในระหว่างการเดินทาง สำหรับผู้ใช้งานบางรายแล้วหากพลาดการเชื่อมต่อแม้แต่ชั่วโมงเดียวก็อาจส่งผลสำคัญหรือพลาดโอกาสนัดหมายในทางธุรกิจบางอย่างได้ ความสำคัญดังกล่าวจึงนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับสายการบินในการให้บริการ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน โดยสาร

เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. บอร์ดชุดเล็กของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้อนุมัติใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตประเภทที่ 1 แบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ให้กับบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินนกแอร์ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน โดยสารได้ ระยะเวลาการอนุญาต 5 ปี โดยนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าลักษณะของการให้บริการจะเป็นการติดตั้ง ไว-ไฟ บนเครื่องบิน และใช้ช่องสัญญาณผ่านทรานสปอนเดอร์ขึ้นไปยังดาวเทียมไทยคม เพื่อรับส่งสัญญาณสถานีภาคพื้นดิน โดยใช้ได้ในเครื่องบินที่มีเส้นทางการบินทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ก่อนหน้านี้ กทค. ได้ให้ใบอนุญาตในการให้บริการไว-ไฟ กับการบินไทยเป็นรายแรกไปเมื่อช่วงธันวาคม 2556 ซึ่งการบินไทยได้เปิดให้บริการ THAI Sky Connect ไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การอนุญาตไว-ไฟให้กับทั้งสองสายการบินเป็นการอนุญาตแบบเดียวกัน ความถี่ที่ให้บริการคือคลื่นความถี่ย่าน 2.4 GHz แต่สำหรับสายการบินนกแอร์กับการบินไทยนั้นจะต่างกันอยู่ที่ลักษณะการติดตั้งอุปกรณ์เพราะการบินไทยจะมีอุปกรณ์ติดตั้งมากับเครื่องอยู่แล้ว ในขณะที่สายการบินนกแอร์ต้องหาอุปกรณ์เพื่อมาติดตั้งและใช้ช่องสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม

สำหรับการบินไทยที่ได้เปิดให้บริการแล้วนั้น ผู้โดยสารสามารถใช้งานไว-ไฟ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟนและแท็บเลตได้ โดยเข้าใช้บริการ THAI Sky Connect หลังเครื่องบินทะยานสู่ท้องฟ้าหรือ Take-off และสัญญาณคาดเข็มขัดนิรภัยดับลงแล้ว บริการไว-ไฟจะถูกระงับเมื่อเครื่องบินทำการบินเหนือน่านฟ้าบางประเทศที่ไม่อนุญาตใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายบนเครื่องบินได้ อาทิ พม่า เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดียและเกาหลี เป็นต้น ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าค่าบริการ ไว-ไฟ บนเครื่องบิน จะสูงมากไหม จึงขอยกตัวอย่างของสายการบินหนึ่งโดยไม่เปิดเผยชื่อว่าอัตราค่าบริการมีให้เลือก 2 แพ็คเกจ คือบริการสำหรับสมาร์ทโฟน ขนาด 3 MB ราคา 4.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขนาด 10 MB ราคา 14.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบริการสำหรับไอแพดและแล็บท็อป ขนาด 10 MB ราคา 14.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ และขนาด 20 MB ราคา 28.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ความต้องการใช้ ไว-ไฟบนเครื่องบิน นี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากผลสำรวจจากเว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักและรถเช่าชั้นนำของโลกอย่าง Skyscanner ที่ได้เผยผลสำรวจถึงความต้องการของผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกพบว่าร้อยละ 47 ของนักท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าสื่อบันเทิงที่ต้องการมากที่สุดเมื่ออยู่บนเครื่องบินคือสัญญาณไว-ไฟ ซึ่งแน่นอนที่สายการบินระดับโลกจำนวนมากได้หันมาเปิดให้บริการไว-ไฟบนเครื่องบินโดยสารกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน Emirates Airlines ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สายการบิน Lufthansa ของเยอรมันนี สายการบิน Virgin Atlantic Airways ของอังกฤษ สายการบิน Singapore Airlines ของสิงคโปร์ สายการบิน Air China ของจีน สายการบิน Philippine Airlines ของฟิลิปปินส์ และสายการบิน Qatar Airways และ Southwest Airlines ของสหรัฐอเมริกา

ธุรกิจให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้มีเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาให้บริการไว-ไฟแล้วเกือบ 2,500 ลำ โดยประมาณร้อยละ 60 ของผู้โดยสารเครื่องบินพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกามีการเชื่อมต่อไว-ไฟบนเครื่องบิน หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ Gogo ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสัญญาณไว-ไฟ บนเครื่องบินพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกากว่า 1,600 ลำ โดยการให้บริการไว-ไฟบนเครื่องบินนั้น Gogo จะคิดค่าบริการ 5 – 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเดินทางโดยค่าบริการที่ได้รับทั้งหมด Gogo จะนำมาแบ่งให้กับสายการบินต่อไป

ปัจจุบันการให้บริการสัญญาณไว-ไฟบนเครื่องบินนั้นมี 2 แบบ แบบแรกคือการส่งสัญญาณจากเสาส่งสัญญาณที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งแต่ละเสาจะสามารถส่งสัญญาณได้ไกล 250 ไมล์ ปัญหาที่พบสำหรับวิธีนี้ก็คือหากเครื่องบินทำการบินเหนือทะเลหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ผู้โดยสารบนเครื่องจะไม่สามารถใช้บริการได้ ส่วนแบบที่สองเป็นการให้บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินผ่านการส่งสัญญาณดาวเทียม ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้งานไว-ไฟ ได้แม้ว่าจะบินอยู่บนผืนน้ำ แต่การติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณไว-ไฟ บนเครื่องบินโดยใช้ระบบดาวเทียมนั้นก็มีข้อเสียอยู่ที่ยุ่งยากและใช้เวลานานกว่าเครื่องส่งสัญญาณแบบเสา ทำให้มีค่าใช้จ่ายและค่าบริการแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเลือกแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสายการบินนั่นเอง

บริการไว-ไฟ บนเครื่องบินโดยสารนี้มีข้อดีมากมายไม่ว่าจะเป็นความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการเครื่องบินโดยสารทั้งในกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว การสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนเครื่องบนจะไม่รบกวนสัญญาณการทำงานของระบบการบิน เพราะขณะเครื่องขึ้น-ลง ผู้โดยสารยังคงถูกห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารอยู่ แต่เมื่ออยู่ในอากาศแล้วสามารถใช้งานได้เพราะสัญญาณของอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีส่วนรบกวนสัญญาณวิทยุที่ใช้ควบคุมอากาศยานก็ตาม แต่คงไม่อาจมองในแง่ดีหรือประโยชน์ที่ได้รับแต่เพียงอย่างเดียวได้เพราะการมีไว-ไฟ ใช้ในขณะที่เครื่องบินกำลังทำการบินอยู่นั้นก็หมายความว่าผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องสามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ภาคพื้นดินได้เกือบตลอดเวลา ทำให้การวางแผน การนัดแนะ ซักซ้อมหรือการแจ้งความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ของกลุ่มคนร้ายทั้งที่อยู่บนเครื่องบินกับที่อยู่ภาคพื้นดินเพื่อการก่อวินาศกรรมหรือจี้เครื่องบินก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

 

เจาะข้อมูลบัญชี LINE

เจาะข้อมูลบัญชี LINE

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

จากจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นแชท “LINE” ที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2554 แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในระยะเพียงประมาณ 3 ปี จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านราย และมีจำนวนการใช้งานทั่วโลกสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านครั้งต่อวัน ทำให้ LINE กลายเป็นแอพพลิเคชั่นยอดนิยมในโลกโซเชี่ยลอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งผู้บริหาร LINE เชื่อว่าจำนวนผู้ใช้ LINE ทั่วโลกจะเติบโตถึงระดับ 500 ล้านคนได้ในปลายปีนี้

สำหรับประเทศไทยจากสถิติพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน LINE สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น 2 ปีติดต่อกันแล้ว โดยในปีพ.ศ. 2556 Edge Asia บริษัทดิจิตอลเอเจนซี่รายใหญ่ของประเทศไทยที่ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของแอพพลิเคชั่นแชท LINE ได้เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2556 LINE มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 240 ล้านคน ประเทศที่ใช้มากที่สุดอันดับหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่น จำนวน 47 ล้านคน รองลงมาคือประเทศไทย จำนวน 18 ล้านคน ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 นี้ LINE เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเดิม 240 ล้านคนเป็นกว่า 400 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 20 และยังคงครองสถิติประเทศที่มีผู้ใช้งาน LINE สูงสุดเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นผู้ผลิต โซเชียล อิงค์ ยังได้สำรวจและรวบรวมพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 688 คนที่มีบัญชีผู้ใช้ LINE อย่างเป็นทางการ หรือ Official Account พบว่าคนไทยร้อยละ 87 ใช้ LINE สำหรับการแชทหรือการสนทนา ในขณะที่ร้อยละ 47 ใช้ LINE Camera และร้อยละ 45 ใช้ LINE สำหรับการเล่นเกมส์

จากจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยถึงอันดับ 2 ของโลกจึงทำให้ LINE เล็งเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ LINE ในประเทศไทยและเห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของ LINE โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา LINE ได้มาเปิดสำนักงานในประเทศไทยขึ้น (Line Thailand) โดยมีนาย Jin-Woo Lee ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการประจำ LINE Thailand และให้ความเห็นถึงการเติบโตของ Line ในประเทศไทยที่ว่าเกิดขึ้นบน 4 ปัจจัย ได้แก่ การร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น ความสามารถและบริการที่ LINE พัฒนาให้รองรับภาษาไทยเต็มที่ การให้บริการคอนเทนท์ท้องถิ่นที่ใกล้ตัวคนไทย รวมถึงการเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทยพร้อมพนักงานไทย

หันมาดูสถิติการใช้งาน LINE ของทั่วโลก โดยเฉลี่ยขณะนี้พบว่ามีการส่งข้อความผ่าน LINE เฉลี่ยสูงถึงประมาณหนึ่งหมื่นล้านครั้งต่อวัน มีการส่งสติ๊กเกอร์เฉลี่ยสูงถึงประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันล้านครั้งต่อวัน มีการใช้ LINE CALL เฉลี่ยสูงถึงประมาณ 12 ล้านครั้งต่อวันและมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 1.6 ล้านคนต่อวัน

จากการที่ LINE เป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการใช้งานที่ง่ายและสามารถใช้ได้ร่วมกับระบบปฏิบัติการทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Android, iPhone, iPad หรือแม้แต่บนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop PC) ซึ่ง LINE ได้สร้างสถิติมีผู้ใช้เกิน 100 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 18 เดือน และ 200 ล้านคนในอีก 6 เดือนหลังจากนั้น โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น แต่ล่าสุดบริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น LINE ได้ออกแถลงการณ์เตือนให้ผู้ใช้บริการทั่วโลกโดยเฉพาะในญี่ปุ่นทำการเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีผู้ใช้ของตัวเองหลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพบการโจรกรรมข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ของ LINE แล้วอย่างน้อย 303 บัญชีในช่วงเพียง
แค่ 1 เดือน คือในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2557 โดยในจำนวน 303 รายนี้มี 3 รายที่ถูกขโมยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินในวงการธุรกิจซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาล โดยในขณะนี้บริษัท ไลน์ คอปอร์เรชั่น จำกัด กำลังร่วมมือกับตำรวจเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวและขอแนะนำให้ผู้ใช้เปลี่ยนรหัสผ่าน หรือ Password เพื่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย

สำหรับสาเหตุที่บัญชีผู้ใช้งาน LINE ถูก เจาะข้อมูล หรือโจรกรรมข้อมูลนั้น โฆษก LINE ออกมากล่าวว่าอาจเกิดมาจากรหัสผ่านที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอื่นๆ เกิดการรั่วไหล ซึ่งบัญชีผู้ใช้งาน (Account) ที่ถูกแฮคขณะนี้ยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด โดยโฆษก LINE ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดถึงวิธีการที่พวกคนร้ายใช้ในการ เจาะข้อมูล LINE แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้เคยมีบทความที่วิเคราะห์ถึงการ เจาะข้อมูล LINE ไว้อย่างน่าสนใจว่าโดยปกติแล้ว LINE มีความปลอดภัยที่สูงมากเพราะเป็นการสนทนา (Chat) แบบส่วนตัว (Private) หรือแบบกลุ่ม (Group) ที่จำกัดอยู่ระหว่างกลุ่มบุคคลเท่านั้น คนอื่นจะไม่สามารถเข้าไปดูข้อความส่วนตัวที่เราคุยอยู่กับคนอื่นได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดๆ ก็ตาม นอกจากว่าจะเปิดดูผ่านอุปกรณ์ที่คุณใช้ในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือผ่านคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง LINE ลงไป ซึ่งการใช้ LINE ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นช่องโหว่สำคัญที่จะทำให้ถูก เจาะข้อมูล ได้ โดยผู้ที่ล่วงรู้ข้อมูลของคุณจะสามารถใช้ Email และรหัสผ่านที่ใช้ในการลงทะเบียนกับ LINE ไปเปิดดูข้อความ LINE ในคอมพิวเตอร์ได้พร้อมๆ กับที่เราใช้งาน LINE บนสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว ซึ่ง LINE ในคอมพิวเตอร์นี้สามารถดูประวัติการสนทนาได้ทั้งหมด แม้ว่าเจ้าของจะลบประวัติการสนทนาออกจากสมาร์ทโฟนไปแล้วก็ตาม เหล่าคนร้ายก็ยังสามารถย้อนหลังไปดูข้อความเก่าได้ทั้งหมดบน LINE ในคอมพิวเตอร์

เมื่อทราบเช่นนี้การป้องกันไม่ให้ LINE ของเราถูก เจาะข้อมูล ได้ดูน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด โดยวิธีป้องกันอย่างง่ายๆ มีอยู่หลายวิธี อาทิ เมื่อสมัคร LINE แล้ว ต้องลงทะเบียน Email ของคุณไว้พร้อมตั้งรหัสผ่านที่ไม่มีใครรู้หรือคาดเดาได้ยาก และที่สำคัญอย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุกแอพพลิเคชั่น อาทิ อย่าใช้รหัสผ่าน LINE ที่เหมือนกับรหัสผ่าน Facebook หรือ Twitter ทั้งนี้เพื่อป้องกันกรณีที่คุณอาจถูก เจาะข้อมูล จากแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งแล้วจะถูกเชื่อมโยงไปยังข้อมูลสำคัญอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้อย่าปล่อยให้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ทของคุณตกไปอยู่ในมือของคนอื่นไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ก็ตาม และที่สำคัญอย่าลืมตั้งรหัสผ่าน Lock หน้าจอมือถือไว้เพื่อไม่ให้คนอื่นเปิดใช้งานได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และหากคุณรู้ตัวว่าคุณถูก เจาะข้อมูล ให้ทำการถอนการติดตั้ง LINE โดยทันทีและลงทะเบียน LINE ใหม่เท่านี้ก็จะสามารถป้องกันการถูก เจาะข้อมูล LINE ได้

Source : http://telecomjournalthailand.com/

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการผลักดันความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้น นอกจากการขวนขวายใฝ่หาความรู้โดยปัจเจกบุคคลเองแล้ว รัฐย่อมเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเท่าเทียมหน่วยงานราชการที่สำคัญในการทำหน้าที่ผลักดันประชาชนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านไอที ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นต้น

ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้กำหนดนโยบายหรือแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไปแล้วจำนวน 2 ฉบับ แต่ละฉบับครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยฉบับที่ 2 มีผลใช้บังคับในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2556 ดังนั้นในปีนี้กระทรวงไอซีทีจึงได้มีการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 3 ขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไปในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2561 โดยบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เห็นภาพกับได้เข้าใจในระดับหนึ่งว่า ICT ของประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดและเราจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างไรได้บ้าง

แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้เป็นการดำเนินการตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ระยะปี พ.ศ. 2554 – 2563 หรือ ICT 2020 ซึ่งเป็นกรอบใหญ่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยมุ่งสู่ Smart Thailand ในปี พ.ศ.2563 โดยกรอบ ICT 2020 นี้ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่วางไว้

แนวคิดสำคัญในการจัดทำแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 คือต่อยอดการพัฒนาจากแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาด้าน ICT ของประเทศไทย โดยยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งหลักการพัฒนาด้าน ICT แบบยั่งยืนนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ หลักธรรมาภิบาล (Governance) หลักความมั่นคงปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ (Cyber Security) หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน (Green ICT) หลักการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบและวิธีการด้าน ICT (Laws & Regulations Development) หลักการพัฒนาตามหลักเกณฑ์วุฒิภาวะด้าน ICT ที่เกี่ยวข้อง (Maturity Model) และหลักการพัฒนาที่ลงถึงระดับชุมชนและท้องถิ่น (Community & Region Based Development)

ในช่วงปีที่ผ่านมาแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบ Focus Group เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจํานวน 8 กลุ่มเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 การจัดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกมิติ โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่ม ประกอบไปด้วยกลุ่ม Government กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาสังคม กลุ่ม ICT Human Capital กลุ่ม Infrastructure กลุ่ม ICT เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กลุ่ม ICT กับสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ICT กับกลุ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และกลุ่ม ICT Industry ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นประธานนำการประชุม

ยุทธศาสตร์หลักที่ถูกกำหนดในแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ประกอบด้วยการพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ICT ของประเทศ (Participatory People) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มค่าและพอเพียง (Optimal Infrastructure) การพัฒนาระบบบริการของภาครัฐอย่างชาญฉลาด (Smart Government) การพัฒนาอุตสาหกรรม ICT และภาคธุรกิจที่รุ่งเรืองสดใส (Vibrant Industry & Business) โดยในแต่ละยุทธศาสตร์มีแนวคิดและแผนงานรองรับที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาทุนมนุษย์ให้เข้าถึงและรู้เท่าทัน ICT เพื่อการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากบริการ ICT (Participatory People) ยุทธศาสตร์ที่ 1 นี้มีแผนงานหลักหรือโครงการเร่งด่วนในการศึกษามาตรฐานในการกําหนดวิชาชีพด้าน ICT เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากร ICT ระหว่างประเทศ ภายใต้ AEC/ASEAN และ APEC กับมุ่งส่งเสริมและยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนและศูนย์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันให้เป็นช่องทางและกลไกในการส่งเสริมทักษะแนวคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้าน ICT การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศในการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคบริการอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พอเพียง (Sufficient) และคุ้มค่า (Optimal Infrastructure) ยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การพัฒนาโครงข่ายหลักระหว่างประเทศ เพื่อสร้างแนวทางในการเป็นศูนย์กลางด้าน Logistics ของภูมิภาค ASEAN และ ASEAN บวกพันธมิตร รวมถึงการขยายจุดให้บริการและปรับปรุงคุณภาพ Free Wi-Fi ในที่สาธารณะโดยไม่คิดค่าบริการ ในพื้นที่บริการนักท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และสถานที่อื่นๆ ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังมีแผนในการจัดทําชุดเครื่องมือมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (Standard Security Toolkit) สําหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถนําไปใช้ในการตรวจสอบและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศในหน่วยงานได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นให้มีความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคสากล (Smart Government) แผนงานหลักหรือโครงการหลักของยุทธศาสตร์นี้คือ การประเมินระดับวุฒิภาวะ (Maturity) ของ e-Service ในด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและหน่วยงานระดับกรมในทุกกระทรวง การจัดตั้งหรือปรับปรุงเว็บไซต์กลางของภาครัฐตามแนวทาง Open Government เช่น ภายใต้ชื่อ Government Knowledge Center (www.g4share.go.th) หรือ www.data.go.th สําหรับใช้เป็นช่องทางในการเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งบริการในลักษณะ App Store ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมด้วยเครื่องมือที่สามารถนําข้อมูลและบริการไปใช้ประโยชน์ได้สําหรับประชาชนและเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดในระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ICT เชิงสร้างสรรค์ และการใช้ ICT ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Vibrant Industry & Business) โดยยุทธศาสตร์นี้มีแผนงานหลักอยู่ที่การจัดตั้ง One Stop Service ในการให้บริการข้อมูล ข่าวสารรวมทั้งการจดทะเบียนเพื่ออํานวยความสะดวกในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ ICT ในประเทศไทย (Facilitation Desk for ICT Business Start-up Program) รวมตลอดจนการจัดตั้งกองทุน ICT เพื่อการพัฒนา ICT ในภาคธุรกิจและการส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะในภาคส่วนธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ยังมีโครงการ National Agriculture Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและการเข้าถึงข้อมูลที่จําเป็นในภาคการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มด้วย

เป้าหมายหลักที่กระทรวงไอซีทีคาดว่าจะได้รับจากการกำหนดยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 ข้างต้นนั้นคือ การมีสัดส่วน ICT ต่อ GDP สูงขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคธุรกิจมีเครื่องมือ ICT เพื่อสร้างความพร้อมและการปรับตัวในการแข่งขันในเวทีสากล ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นสามารถประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการศึกษาเรียนรู้ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้ บริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐไร้ตะเข็บรอยต่อและเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน สังคม ชุมชน ท้องถิ่นเข้มแข็ง ปลอดภัยและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งอันดับประเทศไทยด้าน ICT สูงขึ้นในสถาบันการจัดอันดับสากล นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้ประชากรร้อยละ 80 ของประเทศสามารถเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2558 และร้อยละ 90 ภายในปี 2561 อีกทั้งประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีความรอบรู้ เข้าถึง และมีส่วนร่วมในการพัฒนากับใช้ประโยชน์จากระบบ ICT ได้อย่างเท่าทัน เพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และมีระดับความพร้อมด้าน ICT ใน Networked Readiness Inbox อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 30 ก่อให้เกิดการจ้างงานในสายวิชาชีพรูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ ICT ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้แผนแม่บท ICT ฉบับที่ 3 นี้มีท่านเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นแม่งานในการจัดทำเพื่อให้เกิดความครบถ้วนและสมบูรณ์อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย

Source : http://telecomjournalthailand.com/