"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

คุณภาพการโทร

คุณภาพการโทร

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

หลายท่านคงเคยประสบกับปัญหาการที่โทรศัพท์ติดยากหรือโทรแล้วสายหลุดกันมาบ้าง โดยมักเกิดขึ้นกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมอย่าง 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ไปสู่ 3G บนคลื่นความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz ที่บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างพยายามวางโครงข่ายระบบ 3G อย่างเต็มที่เพื่อการให้บริการแก่ประชาชนแบบครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดโดยมีคุณภาพเสียงที่ดี แต่ถึงกระนั้นในระยะเริ่มแรกหรือในจุดที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากก็ยังคงพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพเสียงอยู่พอสมควร

ที่ผ่านมาการควบคุมมาตรฐานคุณภาพบริการประเภทเสียง (Voice) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ซึ่งได้กำหนดคุณภาพของสัญญาณบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จ หรือ Successful Call Ratio ต่อจำนวนการเรียกทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 สำหรับ การโทร ภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกัน และไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 สำหรับการโทรข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการ ในกรณีสายหลุดนั้นประกาศฯ กำหนดให้มีอัตราส่วนของจำนวนสายหลุดต่อจำนวนการเรียกใช้ทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมงได้ไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับการโทรทั้งภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกัน และการโทรข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประกาศฯ ของ กสทช. ฉบับนี้กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอัตราส่วนของการสายหลุดได้ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งจากการที่ กสทช. ได้ดำเนินการส่งรถตรวจสอบคุณภาพสัญญาณบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ พบว่าอัตรา การโทร สำเร็จยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจสอบทางเทคนิคไม่สอดคล้องกับความพึงพอใจและความรู้สึกจริงของผู้ใช้บริการ อีกทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ปัจจุบันมีการใช้งานด้านการรับ-ส่งข้อมูล (Data) เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 300 – 400 ทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ กำหนดมาตรฐานคุณภาพเสียงดังกล่าว โดยที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง มาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงฉบับใหม่และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต่อไปแล้ว

สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับใหม่นี้อยู่ที่การปรับแก้ในส่วนค่าชี้วัดคุณภาพบริการที่ได้บังคับใช้อยู่แล้วตามประกาศเดิม เช่น อัตราส่วนการเรียกสำเร็จ หรือ Successful Call Ratio ทั้งกรณีที่เป็น การโทร ศัพท์ภายในโครงข่ายของผู้ประกอบการเดียวกันและกรณีที่เป็น การโทร ข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการจะต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนการเรียกทั้งหมด ซึ่งเป็นการแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดให้ การโทร ข้ามโครงข่ายต่างผู้ประกอบการนั้นต้องมีอัตราส่วนการเรียกสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 นอกจากนี้ยังเพิ่มช่วงเวลาในการตรวจวัดคุณภาพสัญญาณจากเดิมตรวจวัดช่วงเวลาเดียวคือ 20.00 – 21.00 น. เป็นช่วงระยะเวลา 10.00 – 13.00 น. และ 16.00 – 19.00 น. อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีการปรับค่าชี้วัดคุณภาพบริการในส่วนของอัตราข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการเรียกเก็บค่าบริการซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 และระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ หรือ Call Center โดยกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องสามารถติดต่อได้ภายใน 1 นาทีนับตั้งแต่เริ่มตอบรับจนถึงผู้ใช้บริการได้เริ่มสนทนากับพนักงานผู้ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาของผู้บริโภคที่ต้องใช้เวลาในการติดต่อ Call Center นานจนเกินไป

นอกจากนี้ร่างประกาศฉบับนี้ยังมีการเพิ่มค่าชี้วัดคุณภาพบริการอีก 5 ประการ ประการแรกคืออัตราส่วนของกรณีที่สายหลุดเมื่อโทรข้ามโครงข่าย (Off-Network) ประการที่สองคืออัตราส่วนร้อยละของจำนวนครั้งที่สถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมงใน 1 เดือนของสถานีฐานทั้งหมด (Network Unavailability) ประการที่สามคืออัตราส่วนร้อยละของจำนวนครั้งที่สถานีฐานที่หยุดทำงานสะสมเกินกว่า 24 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน (Worst Case BTS Outage in a Month) ประการที่สี่คืออัตราส่วนร้อยละของเวลารวมที่ทุกสถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ใน 1 เดือนของเวลาที่ต้องให้บริการทั้งหมด (Cumulative Outage Time in a Month) และประการที่ห้าคือคุณภาพของเสียง (Mean Opinion Score )

ทั้งนี้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งอาจมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดได้ แต่เชื่อแน่ว่าท้ายที่สุดแล้วร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลคุณภาพบริการโทรคมนาคมประเภทเสียงแก่ประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ลดปัญหา การโทร ไม่ติด หรือสายหลุดให้น้อยที่สุด
Source : http://telecomjournalthailand.com/

ลงทะเบียนซิมการ์ด

ลงทะเบียนซิมการ์ด

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

การลงทะเบียนซิมการ์ดสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือพรีเพด (Pre-Paid) นั้นมีการรณรงค์และขอความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการตั้งแต่สมัยที่กิจการโทรคมนาคมยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกสบายของซิมการ์ดแบบพรีเพดที่ผู้ซื้อสามารถซื้อหาได้อย่างสะดวก เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้นโดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องแจ้งชื่อผู้ที่จะใช้ กลายเป็นปัญหาสำคัญจากการที่มีมิจฉาชีพนำซิมการ์ดเหล่านี้ไปใช้เป็นชนวนจุดระเบิดก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของหรือผู้ซื้อซิมการ์ดได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตดังกล่าวข้างต้นนั้น บางท่านอาจมองว่ายังเป็นปัญหาที่ไกลจากตัวเองมากเนื่องจากไม่ได้พำนักอาศัยอยู่ที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออาจมองในอีกด้านหนึ่งว่าการ ลงทะเบียนซิมการ์ด เป็นการยุ่งยาก ไม่สะดวกที่จะต้องดำเนินการลงทะเบียนเหมือนขั้นตอนปกติ แต่ทราบหรือไม่ว่าประโยชน์ที่ได้รับภายหลังจากการ ลงทะเบียนซิมการ์ด นั้นมีอยู่มากมาย เช่น การ ลงทะเบียนซิมการ์ด ที่ใช้งานอยู่เท่ากับเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกการใช้งานเลขหมายดังกล่าวแล้ว สามารถขอรับเงินที่คงเหลืออยู่ได้ ในขณะที่หากไม่มีการ ลงทะเบียนซิมการ์ด ไว้จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ เมื่อมีเงินคงเหลืออยู่ บริษัทผู้ให้บริการจะไม่สามารถคืนเงินนั้นให้กับผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้การลงทะเบียนซิมการ์ดยังเป็นการป้องกันการนำเอาเลขหมายโทรศัพท์ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายอย่างเช่นการข่มขู่ การต้มตุ๋นหลอกลวง การซื้อขายยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย การติดต่อหรือจ้างวานเพื่อก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย

ต่อมาในยุคปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกอบกับประเทศไทยมีปริมาณผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้นจนเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านเลขหมาย โดยในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 90 เป็นผู้ใช้บริการในระบบพรีเพด ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทะเบียนผู้ใช้งาน แม้ว่าที่ผ่านมา กสทช. ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้าหรือพรีเพด มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ อาทิ ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการ พร้อมสําเนาบัตรประจําตัวหรือเอกสารประจําตัวอื่น วันและเวลาที่เริ่มใช้บริการและวันยุติการใช้เลขหมาย เลขหมายที่ใช้บริการ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้จัดจําหน่ายแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากไม่มั่นใจในการลงทะเบียนเพราะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนไปกับผู้จำหน่ายซิมการ์ด ที่บางครั้งอาจจะเป็นศูนย์บริการหรือร้านตู้ที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป จึงทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าข้อมูลส่วนตัวอาจรั่วไหลได้ อีกประการหนึ่งผู้ประกอบการไม่อาจบังคับให้ผู้ใช้ซิมการ์ดเก่าอยู่ก่อนที่ประกาศจะใช้บังคับมาดำเนินการลงทะเบียนซิมการ์ดได้ จึงเป็นเหตุให้ที่ผ่านมาผู้ใช้งานในระบบพรีเพดส่วนใหญ่ยังไม่ได้ ลงทะเบียนซิมการ์ด

จากสาเหตุความกังวลด้านความปลอดภัยดังกล่าว ประกอบกับเพื่อให้เป็นการสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการยุ่งยากในการลงทะเบียนซิมพรีเพดลง และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้ใช้บริการจะเลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟนเสียเป็นส่วนใหญ่ กสทช. จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า “2 แชะ” ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความมั่นใจในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวให้กับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในการลงทะเบียนซิมการ์ด ทั้งซิมการ์ดเก่าและซิมการ์ดใหม่ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน

ชื่อแอพพลิเคชั่น “2 แชะ” นี้น่าจะมีที่มาจากความสะดวกและง่ายต่อการลงทะเบียน โดยคำว่า “แชะ” เปรียบเทียบคือการที่ผู้ใช้บริการถ่ายภาพที่ปกติจะมีเสียง “แชะ”
ออกมาในขณะที่ถ่ายภาพนั่นเอง สำหรับการดำเนินการลงทะเบียนซิมตามแอพพลิเคชั่นนี้ ขอให้ทราบเบื้องต้นก่อนว่าผู้ใช้บริการไม่ต้องเป็นผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้แต่อย่างใด แต่ผู้ที่จะใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ได้ต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วเท่านั้น โดยการทำงานของแอพพลิเคชั่นนี้ แชะที่ 1 คือการถ่ายภาพหมายเลขซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียน จากนั้นแชะที่ 2 คือการถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานแสดงตนอย่างอื่น อาทิ พาสปอร์ตหรือบัตรต่างด้าวของผู้ใช้บริการชาวต่างชาติก็ได้ เท่านี้ก็เป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียนซิมการ์ด โดยข้อมูลของผู้ใช้บริการจะถูกส่งตรงไปเก็บไว้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช. สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ และการถ่ายภาพผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะนี้ กสทช. ยืนยันว่าจะไม่มีการบันทึกภาพและข้อมูลใดๆ ของผู้ลงทะเบียนไว้ในเครื่องแต่อย่างใด จึงสามารถมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล

แอพพลิเคชั่น 2 แชะ นี้ได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีจุดให้บริการลงทะเบียนของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ 50,000 จุด ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากพอสมควรโดยมียอดลงทะเบียนซิมการ์ดทั่วประเทศประมาณ 43,000 เลขหมาย นอกจากนั้น กสทช. ยังมีแผนจะเปิดให้บริการตามธนาคาร ห้างสรรพสินค้า อาทิ Big C หรือ Tesco Lotus และร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ก่อนวันที่ 30 กันยายนนี้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนยิ่งขึ้น

การลงทะเบียนซิมการ์ดทั้งเก่าและใหม่ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดนั้น นอกจากจะสามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะตามที่กล่าวข้างต้นได้แล้ว ยังสามารถลงทะเบียนแบบเดิมโดยการแจ้งลงทะเบียนซิมการ์ดกับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าที่ศูนย์ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่เช่นเดิม ไม่จำกัดว่าต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้บริการแต่ละราย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในยุคนี้ปัญหาหลักเกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนคงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีข่าวให้ได้ยินไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งน่าแปลกที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวในระหว่างการขับขี่นั้น ส่วนใหญ่กลับเกิดจากความประมาทในการขับขี่รถยนต์ ทั้งการทำกิจกรรมอย่างอื่นในระหว่างการขับขี่ เช่น การคุยโทรศัพท์หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พิมพ์ข้อความ เอสเอ็มเอส ขณะขับรถ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือเสียการควบคุมรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นทุกวันและร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพี่อแก้ไขปัญหารวมทั้งลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวโดยอาศัยคลื่นความถี่วิทยุในรูปแบบของเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อช่วยควบคุมรถโดยคำนวณระยะปลอดภัยที่หากจะเกิดอุบัติเหตุรถจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ และสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงาน โดยระบบชุดคำสั่งดังกล่าวจะส่งมาจากสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุเพื่อทำการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่ 24.05 – 24.25 GHz, 24.25 – 26.65 GHz และ 76 – 77 GHz เพื่อนำมาใช้ติดตั้งในรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทาง กสทช. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช.ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว รวมทั้งเพื่อปรับปรุงมาตรฐานเทคนิคในย่านความถี่วิทยุ 76 – 77 GHz ที่ใช้อยู่เดิม ให้เหมาะสมกับปัจจุบันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนผู้ใช้ถนนโดยทั่วไป โดยที่การใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน โดยเนื้อหาของประกาศที่ปรับปรุงดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตสำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ซึ่งติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้งานในย่านความถี่วิทยุ 24.05 – 24.25 GHz และ 24.25 – 26.65 GHz เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานทางเทคนิคและสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแนวคิดดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ นับแต่ได้มีผู้พัฒนานำระบบเรดาร์มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในวงการต่างๆ โดยในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และการคมนาคมนั้น ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์เรดาร์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการถอยรถเพื่อคำนวณระยะในการจอด หรือการที่ผู้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนนำเทคโนโลยีเรดาร์มาใช้กับกล้องความเร็วสูงเพื่อตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งเกินความเร็วที่กำหนด เป็นต้น ต่อมาได้มีบริษัทผลิตรถยนต์หลายบริษัทได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ของตน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่นำระบบเรดาร์มาใช้เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์แล้ว เช่น ในรถยี่ห้อ Volvo บางรุ่น หรือในรถ Ford Focus ที่ทำงานโดยระบบเรดาร์เพื่อทำให้รถสามารถจอดในแนวขนานได้เองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบสั่งการเพื่อหยุดรถในระยะใกล้เมื่อวิ่งด้วยความเร็วต่ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากระบบคลื่นความถี่วิทยุที่ช่วยควบคุมการทำงานนั่นเอง นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ได้เริ่มมาขอใบอนุญาตเพื่อรับรองการใช้เรดาร์ดังกล่าวในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือบริษัทนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์รวมถึงผู้ใช้ท้องถนนทั่วไปด้วยการนำเทคโนโลยีด้านระบบเรดาร์มาใช้พัฒนาเข้ากับระบบการขนส่งมวลชน ตัวอย่างที่มีให้เห็นอย่างเช่นในกรุงลอนดอนกำลังมีการทดลองมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานคือการนำเครื่องจับภาพและเรดาร์แบบที่ใช้ตรวจหาวัตถุในท้องฟ้ามาติดตั้งกับรถประจำทาง อุปกรณ์นี้จะเตือนคนขับรถประจำทางให้ทราบทันทีที่มีคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานอยู่ใกล้กับรถของตน เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัย ไม่เพียงแต่กับผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนเดินถนนหรือผู้ขับขี่จักรยานอีกด้วย

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า กสทช.นั้นมีบทบาทในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายรวมทั้งออกกฎหมายมารองรับเรื่องดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ถึงการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในเรื่องระบบเรดาร์ในย่านคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตข้างต้นเท่านั้น แต่ทางกสทช.ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมในเรื่องของคลื่นวิทยุความถี่ในย่านความถี่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกด้วย เช่นร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824/851-869 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814/851-859 MHz รวมทั้งยังอนุมัติให้สำรองย่านความถี่ 814-824/859-869 MHz เพื่อเตรียมคลื่นความถี่ให้รองรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (Public Protection and Disaster Relief: PPDR) และเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ในย่าน 800 MHz ตามความต้องการของผู้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการออกกฎหมายเพื่อรองรับและครอบคลุมเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้แก่ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ใช้ถนนทั่วไปมากขึ้น แล้วยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมในภาพรวมอีกด้วย
Source : http://telecomjournalthailand.com/

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงผู้ใช้มือถือต้องเผชิญกับไวรัสมือถือที่ก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้เป็นวงกว้าง ผู้ก่อกวนได้ส่งไวรัสประเภทนี้มากับข้อความเอสเอ็มเอสแล้วเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ ซึ่งเรียกกันว่า “ไวรัสเอสเอ็มเอส” ไวรัสประเภทนี้ทำงานโดยการส่งข้อความเข้าเครื่องผู้รับให้ทราบถึงการจ้างจัดส่งเอกสารอันเป็นแผนการหลอกลวง และมีลิงค์เชื่อมโยงเช่นhttp://goo.gl/NPD8sd เพื่อให้กดเข้าไปดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น โดยแอพไวรัสนี้จะสามารถเข้าถึงรายชื่อและเลขหมายในเครื่องของผู้ใช้ได้ เมื่อผู้ที่ได้รับเอสเอ็มเอสกดเข้าไปในลิงค์ที่ส่งมาก็จะติดไวรัสทันที นอกจากนั้นเจ้าไวรัสร้ายประเภทนี้ยังสามารถส่งข้อความต่อไปยังเครื่องผู้รับอื่นๆที่มีรายชื่ออยู่ในเครื่องนั้น โดยที่ผู้รับจะต้องเสียค่าบริการในการส่งเอสเอ็มเอสนั้นทั้งหมด และยังต้องนำโทรศัพท์มือถือไปล้างข้อมูลทิ้งทั้งหมดจึงจะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

ไวรัสเอสเอ็มเอสนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนระบาดมายังประเทศมาเลเซียและเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายของผู้ที่คิดไวรัสนี้ก็เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอาเงินในบัญชีที่ถูกหักไปของเหยื่อโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ไวรัสประเภทนี้จะระบาดอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบแอนดรอยด์เท่านั้นเนื่องจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สามารถให้ผู้ใช้ดาวโหลดแอพลิเคชั่นจากภายนอก Play Store ได้ แต่ในระบบ ios ของไอโฟนนั้นผู้ใช้ไม่สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นภายนอก App Store ได้

เรื่องเกี่ยวกับ ไวรัสเอสเอ็มเอส ประเภทนี้มีผู้เสียหายหลายราย แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตทำให้ประชาชนผู้ใช้มือถือต้องหันมาระวังตัวกันมากขึ้นก็สืบเนื่องมาจาก พ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผู้กำกับสน.โชคชัยได้รับเอสเอ็มเอสจากเบอร์โทรศัพท์มือถือหมายเลขหนึ่ง แจ้งข้อความว่า “ผกก.ธนวัตร แจ้งให้ทราบการจัดส่งของคุณ” ส่งเข้ามาในโทรศัพท์ เมื่อเข้าลิงค์ดังกล่าวเพื่อไปดูว่ามีข้อมูลอะไรหรือไม่ แต่เปิดไม่ได้ จึงส่งต่อเอสเอ็มเอสเข้าไปยังโทรศัพท์แอนดรอยด์ของตนเองอีกเครื่องหนึ่งเพื่อเปิดดูข้อมูล แต่พอเปิดเข้าไปดูก็ไม่พบข้อมูลใดๆ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีคนโทรมาสอบถามหลายสาย เกี่ยวกับข้อความที่ได้รับจากเบอร์มือถือของตนจำนวนหลายครั้ง จึงรีบไปที่ศูนย์บริการมือถือซึ่งเป็นต้นเครือข่ายเพื่อให้ระงับข้อความ ก่อนจะส่งเครื่องไปทำการล้างไวรัส

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นพบว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจาก ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 19,056 ราย โดยผู้เสียหายได้ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นนามสกุล .apk มาจากลิงค์ที่ส่งมาในข้อความเอสเอ็มเอสแล้วหลงเชื่อว่าเป็นเอสเอ็มเอสที่มาจากคนใกล้ชิดจึงได้กดลิงค์ดูอย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นกลลวงสำคัญของมิจฉาชีพที่ใช้การเข้าถึงรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้หลงเชื่อว่าข้อความนั้นส่งมาจากคนรู้จักของตนจริงๆ

ไวรัสชนิดนี้อยู่ในรูปแบบของมัลแวร์ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อทำลายระบบของโทรศัพท์ Smartphone จนอาจนำไปสู่การแฮคข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าระบบต่างๆได้หรือแม้กระทั่งส่งอีเมล์หรือข้อความปลอมไปหาคนอื่นๆ มัลแวร์ประเภทไวรัสนี้สามารถเข้าสู่อุปกรณ์ Smartphone หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยหลายวิธีเช่นการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นหรือการเข้าเว็บไซต์ที่ติดไวรัส เป็นต้น

เพื่อจัดการ ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวและป้องกันไม่ให้มีผู้หลงเชื่อดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสนั้นอีกต่อไป ทาง กสทช. จึงได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยทางผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นได้ทำการปิดกั้นการดาวน์โหลดจากลิงค์ดังกล่าวรวมทั้งแนะนำวิธีการลบมัลแวร์ไวรัสที่ได้ติดตั้งไว้ในตัวเครื่อง และทางผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ออกแอพลิเคชั่นเพื่อช่วยลบแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสได้ทันที โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในทุกเครือข่าย นอกจากนี้ค่ายมือถือทุกค่ายยังจะไม่จัดเก็บค่าบริการสำหรับผู้ที่โดนไวรัสนี้ส่งเอสเอ็มเอสต่อไปยังเครื่องอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ทาง กสทช. ยังแนะนำให้ผู้ใช้งานหมั่นตรวจสอบค่าบริการ รวมทั้งไม่กดลิงค์ดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือไม่ชัดเจน ไม่ติดตั้งแอพลิเคชั่นจากที่มาที่ไม่รู้จักเพื่อป้องกันการติดไวรัสดังกล่าว รวมไปถึงมัลแวร์ตัวอื่นที่เหล่ามิจฉาชีพคอยสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือโดยอาศัยแอพลิเคชั่นปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ใช้อีกด้วย

การที่กลุ่มมิจฉาชีพกระทำการดังกล่าวนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการทำให้ระบบมือถือของผู้อื่นเสียหายนั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย หากผู้อ่านท่านใดพบเห็นผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน กสทช. หรือกระทรวงไอซีทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในสังคมยุคปัจจุบันเรามักจะติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกผ่านช่องทางออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตมากกว่าที่จะอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์อย่างในสมัยก่อนอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ผู้คนติดต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตและข่าวสารส่วนใหญ่ก็มักจะลงในอินเตอร์เน็ตด้วยเพื่อความรวดเร็วและการติดตามที่ทันเหตุการณ์ การแพร่กระจายของเนื้อหาข่าวที่รวดเร็วนี้ถึงแม้ว่า จะทำให้ผู้คนเสพข่าวและรู้ทันสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเสพข่าวออนไลน์รวมถึงการกระจายข่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือความสะดวกหรือง่ายดายของการลงข่าวและแชร์ข่าวนั้นต่อไปส่งผลให้ผู้แชร์ไม่ได้ตรวจสอบที่มา แหล่งข่าวและความน่าเชื่อถือของข่าวอย่างละเอียด จนบางครั้งอาจสร้างความเสียหายให้ผู้ที่เป็นข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ในกระบวนการของการป้องกันและนำเสนอแนวคิดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนรวมทั้งสื่อในการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้มีการจัดงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ ในหัวข้อ “เสพข่าวออนไลน์แบบผิดๆ ใครรับผิดชอบ” โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้ความเห็นในเรื่องการนำเสนอและบริโภคข่าวออนไลน์ ว่าปัจจุบันการสื่อสารผ่านออนไลน์ช่วยทลายการปิดกั้นและข้อจำกัดของการสื่อสารจากอำนาจรัฐและ ทุนนอกจากนี้สถานภาพของการเป็นแหล่งข่าวมีความแตกต่างจากเดิมที่ในอดีตชาวบ้านทั่วไปต้องรอนักข่าวนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ แต่ทุกวันนี้สามารถให้ข้อมูลความเห็นผ่านพื้นที่ออนไลน์ของตนได้ การนำเสนอมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น หลายครั้งสามารถนำเสนอจากจุดเกิดเหตุ ณ วินาทีเกิดเหตุได้ทันที แต่บางครั้งก็ล้ำเส้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เกิดการละเมิด สร้างความเสียหายในวงกว้าง อีกทั้งการฉับไวในการรายงานข่าว ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย หากไม่มีการตรวจสอบข่าว จึงจะเห็นได้ว่าการเสพข่าวออนไลน์อาจมีข้อเสียได้หากเราไม่ระมัดระวังและรอบคอบ

ปัญหาการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือแม้กระทั่งข้อมูลสำคัญนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลเช่นนี้ การที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนเราส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้งกัน หรือแม้กระทั่งการที่สื่อนำเสนอข่าวโดยเปิดเผยชื่อและใบหน้าของผู้เสียหาย เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อข่าวเหล่านั้นถูกแชร์กันต่อไปในโลกออนไลน์ก็ย่อมจะเป็นการยากที่จะแก้ไขความเสียหายได้ทัน ปัญหาจากการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์จึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในแง่ของสื่อมวลชนจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลในข่าว ระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาข่าวหรือไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมีการควบคุมโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเฝ้าระวังและให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากขึ้น อีกทั้งควรจะมีการออกกฎหมาย และกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาดังกล่าว ส่วนในด้านผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตซึ่งอาจเป็นผู้ที่รับผลกระทบนั้นควรสอบถามและตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของตนเองในบริการออนไลน์ที่ใช้ว่ามีการคุ้มครองที่มากพอหรือไม่ รวมทั้งแจ้งต่อผู้ให้บริการทราบถึงความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวในการใช้บริการเหล่านั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลระบบที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรทำความเข้าใจการทำงานของบริการออนไลน์ที่ใช้ว่าจัดเก็บและมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร สิ่งที่ควรตระหนักก็คือเมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว การลบทิ้งโดยสมบูรณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย ฯลฯ เป็นของเจ้าของข้อมูลนั้น การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวซึ่งอาจได้รับโทษตามกฎหมาย

ในเรื่องโทษและการควบคุมทางกฎหมายนั้นประเทศไทยยังไม่มี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงต้องพิจารณาข้อมูลว่าเป็นประเภทใด มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของรัฐ สามารถใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หากเป็นการลงข้อความเท็จ หมิ่นประมาทหรือตัดต่อภาพลงอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32, 33, 35, 36 ก็ได้รับรองสิทธิในความเป็นส่วนตัวในหลายด้าน แม้จะพิจารณากฎหมายที่มีบทบาทในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเหมือนดังเช่นประเทศสิงคโปร์ที่ได้ออก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ The Personal Data Protection Act (PDPA) ซึ่งได้ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 แต่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อไม่นานมานี้โดยกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยแต่ละองค์กรจะต้องจัดให้มีระบบรักษาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจะต้องไม่เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือทางกฎหมายอีกต่อไป นอกจากนี้องค์กรจะต้องมีบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล (data protection officer) เพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำหรับตัวบุคคลนั้นยังมีสิทธิเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มีการเก็บรวบรวมไปอีกด้วย ซึ่งในอนาคตประเทศไทยน่าที่จะมีร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ด้วยเหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์

แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองของสื่อมวลชนนั้นอาจจะมีความเห็นที่ต่างออกไป กล่าวคือเห็นว่าการใช้กฎหมายก็ไม่ควรจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารมากจนเกินไปถึงขนาดตัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งกฎหมายบางฉบับอาจจะตีความเนื้อหาครอบคลุมเกินไปจนทำให้ ผู้ลงข้อความ สื่อมวลชนรวมถึงสำนักพิมพ์มีโอกาสสูงที่จะถูกดำเนินคดีได้ตลอดเวลาทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นการร่วมพูดคุยสร้างความเข้าใจรวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความพอดีหรือความสมดุล และเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายสื่อมวลชน ฝ่ายผู้เสพข่าว และที่สำคัญคือฝ่ายผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่อง เจ้าของข้อมูล หรือบุคคลในข่าวด้วยว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

Source : http://telecomjournalthailand.com/