"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ใช้เรดาร์กับรถยนต์

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในยุคนี้ปัญหาหลักเกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนคงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีข่าวให้ได้ยินไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งน่าแปลกที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวในระหว่างการขับขี่นั้น ส่วนใหญ่กลับเกิดจากความประมาทในการขับขี่รถยนต์ ทั้งการทำกิจกรรมอย่างอื่นในระหว่างการขับขี่ เช่น การคุยโทรศัพท์หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พิมพ์ข้อความ เอสเอ็มเอส ขณะขับรถ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือเสียการควบคุมรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นทุกวันและร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพี่อแก้ไขปัญหารวมทั้งลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวโดยอาศัยคลื่นความถี่วิทยุในรูปแบบของเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อช่วยควบคุมรถโดยคำนวณระยะปลอดภัยที่หากจะเกิดอุบัติเหตุรถจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ และสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงาน โดยระบบชุดคำสั่งดังกล่าวจะส่งมาจากสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุเพื่อทำการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่ 24.05 – 24.25 GHz, 24.25 – 26.65 GHz และ 76 – 77 GHz เพื่อนำมาใช้ติดตั้งในรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทาง กสทช. ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช.ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์ (Vehicle Radar) เพื่อรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว รวมทั้งเพื่อปรับปรุงมาตรฐานเทคนิคในย่านความถี่วิทยุ 76 – 77 GHz ที่ใช้อยู่เดิม ให้เหมาะสมกับปัจจุบันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป และเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนผู้ใช้ถนนโดยทั่วไป โดยที่การใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์สำหรับติดตั้งในรถยนต์สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน โดยเนื้อหาของประกาศที่ปรับปรุงดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตสำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ซึ่งติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้งานในย่านความถี่วิทยุ 24.05 – 24.25 GHz และ 24.25 – 26.65 GHz เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานทางเทคนิคและสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแนวคิดดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ นับแต่ได้มีผู้พัฒนานำระบบเรดาร์มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในวงการต่างๆ โดยในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และการคมนาคมนั้น ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์เรดาร์มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการถอยรถเพื่อคำนวณระยะในการจอด หรือการที่ผู้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนนำเทคโนโลยีเรดาร์มาใช้กับกล้องความเร็วสูงเพื่อตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งเกินความเร็วที่กำหนด เป็นต้น ต่อมาได้มีบริษัทผลิตรถยนต์หลายบริษัทได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์รถยนต์ของตน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่นำระบบเรดาร์มาใช้เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์แล้ว เช่น ในรถยี่ห้อ Volvo บางรุ่น หรือในรถ Ford Focus ที่ทำงานโดยระบบเรดาร์เพื่อทำให้รถสามารถจอดในแนวขนานได้เองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบสั่งการเพื่อหยุดรถในระยะใกล้เมื่อวิ่งด้วยความเร็วต่ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากระบบคลื่นความถี่วิทยุที่ช่วยควบคุมการทำงานนั่นเอง นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ได้เริ่มมาขอใบอนุญาตเพื่อรับรองการใช้เรดาร์ดังกล่าวในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือบริษัทนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์รวมถึงผู้ใช้ท้องถนนทั่วไปด้วยการนำเทคโนโลยีด้านระบบเรดาร์มาใช้พัฒนาเข้ากับระบบการขนส่งมวลชน ตัวอย่างที่มีให้เห็นอย่างเช่นในกรุงลอนดอนกำลังมีการทดลองมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานคือการนำเครื่องจับภาพและเรดาร์แบบที่ใช้ตรวจหาวัตถุในท้องฟ้ามาติดตั้งกับรถประจำทาง อุปกรณ์นี้จะเตือนคนขับรถประจำทางให้ทราบทันทีที่มีคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานอยู่ใกล้กับรถของตน เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัย ไม่เพียงแต่กับผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนเดินถนนหรือผู้ขับขี่จักรยานอีกด้วย

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า กสทช.นั้นมีบทบาทในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายรวมทั้งออกกฎหมายมารองรับเรื่องดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ถึงการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในเรื่องระบบเรดาร์ในย่านคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตข้างต้นเท่านั้น แต่ทางกสทช.ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมในเรื่องของคลื่นวิทยุความถี่ในย่านความถี่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกด้วย เช่นร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824/851-869 MHz และร่างแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814/851-859 MHz รวมทั้งยังอนุมัติให้สำรองย่านความถี่ 814-824/859-869 MHz เพื่อเตรียมคลื่นความถี่ให้รองรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (Public Protection and Disaster Relief: PPDR) และเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ในย่าน 800 MHz ตามความต้องการของผู้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและเข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการออกกฎหมายเพื่อรองรับและครอบคลุมเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้แก่ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ใช้ถนนทั่วไปมากขึ้น แล้วยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมในภาพรวมอีกด้วย
Source : http://telecomjournalthailand.com/

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

เตือนภัย!!ไวรัสเอสเอ็มเอส

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงผู้ใช้มือถือต้องเผชิญกับไวรัสมือถือที่ก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้เป็นวงกว้าง ผู้ก่อกวนได้ส่งไวรัสประเภทนี้มากับข้อความเอสเอ็มเอสแล้วเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ ซึ่งเรียกกันว่า “ไวรัสเอสเอ็มเอส” ไวรัสประเภทนี้ทำงานโดยการส่งข้อความเข้าเครื่องผู้รับให้ทราบถึงการจ้างจัดส่งเอกสารอันเป็นแผนการหลอกลวง และมีลิงค์เชื่อมโยงเช่นhttp://goo.gl/NPD8sd เพื่อให้กดเข้าไปดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น โดยแอพไวรัสนี้จะสามารถเข้าถึงรายชื่อและเลขหมายในเครื่องของผู้ใช้ได้ เมื่อผู้ที่ได้รับเอสเอ็มเอสกดเข้าไปในลิงค์ที่ส่งมาก็จะติดไวรัสทันที นอกจากนั้นเจ้าไวรัสร้ายประเภทนี้ยังสามารถส่งข้อความต่อไปยังเครื่องผู้รับอื่นๆที่มีรายชื่ออยู่ในเครื่องนั้น โดยที่ผู้รับจะต้องเสียค่าบริการในการส่งเอสเอ็มเอสนั้นทั้งหมด และยังต้องนำโทรศัพท์มือถือไปล้างข้อมูลทิ้งทั้งหมดจึงจะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

ไวรัสเอสเอ็มเอสนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนระบาดมายังประเทศมาเลเซียและเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเป้าหมายของผู้ที่คิดไวรัสนี้ก็เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอาเงินในบัญชีที่ถูกหักไปของเหยื่อโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ไวรัสประเภทนี้จะระบาดอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบแอนดรอยด์เท่านั้นเนื่องจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สามารถให้ผู้ใช้ดาวโหลดแอพลิเคชั่นจากภายนอก Play Store ได้ แต่ในระบบ ios ของไอโฟนนั้นผู้ใช้ไม่สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นภายนอก App Store ได้

เรื่องเกี่ยวกับ ไวรัสเอสเอ็มเอส ประเภทนี้มีผู้เสียหายหลายราย แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตทำให้ประชาชนผู้ใช้มือถือต้องหันมาระวังตัวกันมากขึ้นก็สืบเนื่องมาจาก พ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผู้กำกับสน.โชคชัยได้รับเอสเอ็มเอสจากเบอร์โทรศัพท์มือถือหมายเลขหนึ่ง แจ้งข้อความว่า “ผกก.ธนวัตร แจ้งให้ทราบการจัดส่งของคุณ” ส่งเข้ามาในโทรศัพท์ เมื่อเข้าลิงค์ดังกล่าวเพื่อไปดูว่ามีข้อมูลอะไรหรือไม่ แต่เปิดไม่ได้ จึงส่งต่อเอสเอ็มเอสเข้าไปยังโทรศัพท์แอนดรอยด์ของตนเองอีกเครื่องหนึ่งเพื่อเปิดดูข้อมูล แต่พอเปิดเข้าไปดูก็ไม่พบข้อมูลใดๆ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีคนโทรมาสอบถามหลายสาย เกี่ยวกับข้อความที่ได้รับจากเบอร์มือถือของตนจำนวนหลายครั้ง จึงรีบไปที่ศูนย์บริการมือถือซึ่งเป็นต้นเครือข่ายเพื่อให้ระงับข้อความ ก่อนจะส่งเครื่องไปทำการล้างไวรัส

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นพบว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจาก ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 19,056 ราย โดยผู้เสียหายได้ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นนามสกุล .apk มาจากลิงค์ที่ส่งมาในข้อความเอสเอ็มเอสแล้วหลงเชื่อว่าเป็นเอสเอ็มเอสที่มาจากคนใกล้ชิดจึงได้กดลิงค์ดูอย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นกลลวงสำคัญของมิจฉาชีพที่ใช้การเข้าถึงรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้หลงเชื่อว่าข้อความนั้นส่งมาจากคนรู้จักของตนจริงๆ

ไวรัสชนิดนี้อยู่ในรูปแบบของมัลแวร์ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อทำลายระบบของโทรศัพท์ Smartphone จนอาจนำไปสู่การแฮคข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าระบบต่างๆได้หรือแม้กระทั่งส่งอีเมล์หรือข้อความปลอมไปหาคนอื่นๆ มัลแวร์ประเภทไวรัสนี้สามารถเข้าสู่อุปกรณ์ Smartphone หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยหลายวิธีเช่นการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นหรือการเข้าเว็บไซต์ที่ติดไวรัส เป็นต้น

เพื่อจัดการ ไวรัสเอสเอ็มเอส ดังกล่าวและป้องกันไม่ให้มีผู้หลงเชื่อดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสนั้นอีกต่อไป ทาง กสทช. จึงได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยทางผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นได้ทำการปิดกั้นการดาวน์โหลดจากลิงค์ดังกล่าวรวมทั้งแนะนำวิธีการลบมัลแวร์ไวรัสที่ได้ติดตั้งไว้ในตัวเครื่อง และทางผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ออกแอพลิเคชั่นเพื่อช่วยลบแอพลิเคชั่นที่ติดไวรัสได้ทันที โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในทุกเครือข่าย นอกจากนี้ค่ายมือถือทุกค่ายยังจะไม่จัดเก็บค่าบริการสำหรับผู้ที่โดนไวรัสนี้ส่งเอสเอ็มเอสต่อไปยังเครื่องอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ทาง กสทช. ยังแนะนำให้ผู้ใช้งานหมั่นตรวจสอบค่าบริการ รวมทั้งไม่กดลิงค์ดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือไม่ชัดเจน ไม่ติดตั้งแอพลิเคชั่นจากที่มาที่ไม่รู้จักเพื่อป้องกันการติดไวรัสดังกล่าว รวมไปถึงมัลแวร์ตัวอื่นที่เหล่ามิจฉาชีพคอยสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือโดยอาศัยแอพลิเคชั่นปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ใช้อีกด้วย

การที่กลุ่มมิจฉาชีพกระทำการดังกล่าวนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการทำให้ระบบมือถือของผู้อื่นเสียหายนั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย หากผู้อ่านท่านใดพบเห็นผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวสามารถแจ้งได้ที่สำนักงาน กสทช. หรือกระทรวงไอซีทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้

Source : http://telecomjournalthailand.com/

 

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

กระจายข่าวออนไลน์ผิดหรือไม่

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในสังคมยุคปัจจุบันเรามักจะติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกผ่านช่องทางออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ตมากกว่าที่จะอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์อย่างในสมัยก่อนอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ผู้คนติดต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตและข่าวสารส่วนใหญ่ก็มักจะลงในอินเตอร์เน็ตด้วยเพื่อความรวดเร็วและการติดตามที่ทันเหตุการณ์ การแพร่กระจายของเนื้อหาข่าวที่รวดเร็วนี้ถึงแม้ว่า จะทำให้ผู้คนเสพข่าวและรู้ทันสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเสพข่าวออนไลน์รวมถึงการกระจายข่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือความสะดวกหรือง่ายดายของการลงข่าวและแชร์ข่าวนั้นต่อไปส่งผลให้ผู้แชร์ไม่ได้ตรวจสอบที่มา แหล่งข่าวและความน่าเชื่อถือของข่าวอย่างละเอียด จนบางครั้งอาจสร้างความเสียหายให้ผู้ที่เป็นข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ในกระบวนการของการป้องกันและนำเสนอแนวคิดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนรวมทั้งสื่อในการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้มีการจัดงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ ในหัวข้อ “เสพข่าวออนไลน์แบบผิดๆ ใครรับผิดชอบ” โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้ความเห็นในเรื่องการนำเสนอและบริโภคข่าวออนไลน์ ว่าปัจจุบันการสื่อสารผ่านออนไลน์ช่วยทลายการปิดกั้นและข้อจำกัดของการสื่อสารจากอำนาจรัฐและ ทุนนอกจากนี้สถานภาพของการเป็นแหล่งข่าวมีความแตกต่างจากเดิมที่ในอดีตชาวบ้านทั่วไปต้องรอนักข่าวนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ แต่ทุกวันนี้สามารถให้ข้อมูลความเห็นผ่านพื้นที่ออนไลน์ของตนได้ การนำเสนอมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น หลายครั้งสามารถนำเสนอจากจุดเกิดเหตุ ณ วินาทีเกิดเหตุได้ทันที แต่บางครั้งก็ล้ำเส้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เกิดการละเมิด สร้างความเสียหายในวงกว้าง อีกทั้งการฉับไวในการรายงานข่าว ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย หากไม่มีการตรวจสอบข่าว จึงจะเห็นได้ว่าการเสพข่าวออนไลน์อาจมีข้อเสียได้หากเราไม่ระมัดระวังและรอบคอบ

ปัญหาการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือแม้กระทั่งข้อมูลสำคัญนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลเช่นนี้ การที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนเราส่งผลให้ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้งกัน หรือแม้กระทั่งการที่สื่อนำเสนอข่าวโดยเปิดเผยชื่อและใบหน้าของผู้เสียหาย เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อข่าวเหล่านั้นถูกแชร์กันต่อไปในโลกออนไลน์ก็ย่อมจะเป็นการยากที่จะแก้ไขความเสียหายได้ทัน ปัญหาจากการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์จึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในแง่ของสื่อมวลชนจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลในข่าว ระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาข่าวหรือไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมีการควบคุมโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเฝ้าระวังและให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากขึ้น อีกทั้งควรจะมีการออกกฎหมาย และกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาดังกล่าว ส่วนในด้านผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตซึ่งอาจเป็นผู้ที่รับผลกระทบนั้นควรสอบถามและตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของตนเองในบริการออนไลน์ที่ใช้ว่ามีการคุ้มครองที่มากพอหรือไม่ รวมทั้งแจ้งต่อผู้ให้บริการทราบถึงความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวในการใช้บริการเหล่านั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลระบบที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรทำความเข้าใจการทำงานของบริการออนไลน์ที่ใช้ว่าจัดเก็บและมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร สิ่งที่ควรตระหนักก็คือเมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว การลบทิ้งโดยสมบูรณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย ฯลฯ เป็นของเจ้าของข้อมูลนั้น การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวซึ่งอาจได้รับโทษตามกฎหมาย

ในเรื่องโทษและการควบคุมทางกฎหมายนั้นประเทศไทยยังไม่มี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงต้องพิจารณาข้อมูลว่าเป็นประเภทใด มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของรัฐ สามารถใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หากเป็นการลงข้อความเท็จ หมิ่นประมาทหรือตัดต่อภาพลงอินเตอร์เน็ต สามารถใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32, 33, 35, 36 ก็ได้รับรองสิทธิในความเป็นส่วนตัวในหลายด้าน แม้จะพิจารณากฎหมายที่มีบทบาทในเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิดและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเหมือนดังเช่นประเทศสิงคโปร์ที่ได้ออก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ The Personal Data Protection Act (PDPA) ซึ่งได้ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 แต่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ทั้งฉบับเมื่อไม่นานมานี้โดยกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยแต่ละองค์กรจะต้องจัดให้มีระบบรักษาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจะต้องไม่เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือทางกฎหมายอีกต่อไป นอกจากนี้องค์กรจะต้องมีบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูล (data protection officer) เพื่อดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำหรับตัวบุคคลนั้นยังมีสิทธิเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มีการเก็บรวบรวมไปอีกด้วย ซึ่งในอนาคตประเทศไทยน่าที่จะมีร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ด้วยเหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์

แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองของสื่อมวลชนนั้นอาจจะมีความเห็นที่ต่างออกไป กล่าวคือเห็นว่าการใช้กฎหมายก็ไม่ควรจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารมากจนเกินไปถึงขนาดตัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งกฎหมายบางฉบับอาจจะตีความเนื้อหาครอบคลุมเกินไปจนทำให้ ผู้ลงข้อความ สื่อมวลชนรวมถึงสำนักพิมพ์มีโอกาสสูงที่จะถูกดำเนินคดีได้ตลอดเวลาทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นการร่วมพูดคุยสร้างความเข้าใจรวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความพอดีหรือความสมดุล และเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายสื่อมวลชน ฝ่ายผู้เสพข่าว และที่สำคัญคือฝ่ายผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่อง เจ้าของข้อมูล หรือบุคคลในข่าวด้วยว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

Source : http://telecomjournalthailand.com/

กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Law)

กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Law)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านในที่นี้อาจเคยประสบปัญหาการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลไม่ว่าจะเป็น การได้รับอีเมล์ส่งข้อความสแปม (Spam) เข้ามาในกล่องข้อความของเราโดยที่เราไม่ได้รู้จักผู้ส่งมาก่อนซึ่งอาจเป็นเพราะมีการซื้อขายอีเมล์แอดเดรสของเราเพื่อเป็นเป้าหมายของการโฆษณา บางครั้งก็มาจากต่างประเทศ หรือการที่มีข้อความที่เชิญชวนหรือโฆษณาเข้ามาในโทรศัพท์ของเรา รวมไปถึงการได้รับจดหมายโฆษณาสินค้าหรือจดหมายเสนอให้สมัครเป็นสมาชิกจากบริษัทที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนส่งไปตามที่อยู่อาศัย หรือบางครั้งถึงขนาดโทรเข้ามือถือของคุณเลยก็มี โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก การกระทำที่มีลักษณะก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของเราก็สามารถทำได้ง่ายดายมากขึ้น จากการที่เราได้รับจดหมายหรือโทรศัพท์หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์จากทั้งบริษัทและคนแปลกหน้าในลักษณะต่างๆ แบบนี้ หลายคนจึงอาจสงสัยว่าบริษัทเหล่านี้มีข้อมูลส่วนตัวของเราได้อย่างไร

เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศในโลกได้ให้ความสำคัญมากเนื่องจากหากมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นไปใช้หรือไปเปิดเผยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยของตนเองและของส่วนรวม ชื่อเสียง เกียรติยศ และรบกวนความเป็นอยู่ส่วนตัว อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันดูเหมือนยังเป็นเรื่องใหม่เป็นและเรื่องที่เพิ่งจะมีการตื่นตัวกัน แต่เมื่อได้ศึกษาข้อเท็จจริงจะพบว่าประเทศไทยได้เคยมีกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาแล้วหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ที่บัญญัติว่า“สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชนอันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะปกป้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวรวมทั้งข้อมูลส่วนตัว (Data Privacy) ของแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากความคุ้มครองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นความคุ้มครองแบบกว้างๆไม่เฉพาะเจาะจง จึงทำให้การบังคับใช้เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจังนั้นยังทำได้ยาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวเฉพาะเรื่องอยู่เช่นกันแต่เป็นกฎหมายที่ไม่ได้บังคับใช้อย่างครอบคลุมสำหรับทุกเรื่อง เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540 ที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐของประเทศไทยเท่านั้นหรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เป็นต้น อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่บัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวที่อยู่ในความครอบครองของเอกชนหรือใช้โดยเอกชนโดยเฉพาะ

หากเราพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระดับต่างประเทศแล้วเราจะพบว่า นานาประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว (Data Protection) เป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในรูปแบบใด โดยเฉพาะข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดปัญหาการถูกละเมิดมากที่สุดอันเนื่องมาจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าและความล้ำสมัยของระบบคอมพิวเตอร์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลแต่ก็แฝงอันตรายหากถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ความสามารถในการบันทึกข้อมูล การสํารองข้อมูล การประมวลผลข้อมูล รวมไปถึงการถ่ายโอนข้อมูล โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าและเฝ้าติดตามพฤติกรรมในการใช้บริการของลูกค้าได้ ซึ่งจัดเป็นการดําเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าโดยลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอาจไม่ทราบหรืออาจไม่ได้ให้ความยินยอมแก่การกระทําดังกล่าว ดังนั้น The Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความสําคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงได้กําหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน (Guidelines) ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้นานาประเทศได้มีแนวทางในการบัญญัติกฎหมายของตนเอง โดยได้ออก Guidelines Governing the Protection of Privacy and Tranborder Data Flows of Personal Data ขึ้นในปี ค.ศ. 1980 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อวางหลักการสําคัญว่าข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมในทุกขั้นตอน นอกจากนี้แล้วประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการตรากฎหมาย Privacy Act ที่คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในเอกสาร และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลชื่อ “The Personal Data Protection Act” (PDPA) โดยองค์กรในสิงคโปร์ซึ่งมีระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายอยู่แล้วจะต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล และที่สำคัญที่สุดการเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับความยินยอมของแต่ละบุคคลด้วย ที่น่าสนใจก็คือกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีทะเบียนห้ามโทรแห่งชาติ (Do Not Call Registry) ซึ่งบุคคลสามารถไปลงทะเบียนเลขหมายโทรศัพท์สิงคโปร์ของตนเพื่อประกาศตนว่าไม่ขอรับการติดต่อทางการตลาดใดๆ ไม่ว่าจะด้วยการโทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือจากองค์กรต่างๆ ซึ่งหากเลขหมายโทรศัพท์ใดมีการลงทะเบียนใน DNC Registry แล้ว องค์กรต่างๆจะโทร ส่งข้อความสั้น หรือแฟกซ์ไปยังเลขหมายนั้นไม่ได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในภาคเอกชนอย่างแท้จริง

ส่วนประเทศไทยนั้นแม้จะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเพื่อเป็นมาตรการในเรื่อง Data Privacy อย่างประเทศสิงคโปร์อย่างจริงจัง แต่เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะมีเนื้อหาสาระสำคัญคือในหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะกระทำการรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่ยินยอม เว้นแต่มีบทบัญญัติให้กระทำได้ นอกจากนั้นจะสามารถเก็บรักษาข้อมูลไว้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยจะมีองค์กรเข้ามาทำหน้าที่สอดส่องดูแลในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับโทษซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ทั้งส่วนที่เป็นโทษปรับทางปกครองและส่วนที่เป็นโทษอาญาซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้แล้วก็อาจจะช่วยคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้นโดยไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เลยทีเดียว

Bangkok Lawyers, Thailand Lawyers, Bangkok Law Firm, Thailand Law Firm, Attorneys Bangkok, Attorneys Thailand, Legal Thailand, Legal Bangkok, Legal Services

Source : http://telecomjournalthailand.com/

บูรณาการศูนย์ข้อมูล

บูรณาการศูนย์ข้อมูล

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างมาก ข้อมูลก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการได้ โดยในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่นั้นก็ใช้ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เข้ามาเป็นตัวจัดการ ซึ่งศูนย์ข้อมูลนี้ก็คือพื้นที่ที่ใช้จัดวางระบบประมวลผลกลางและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร โดยที่ผู้ใช้งานสามารถที่จะเชื่อมต่อระบบเครือข่ายจากภายนอกได้ ศูนย์ข้อมูลจะถูกออกแบบให้มีเสถียรภาพ ปลอดภัย พร้อมใช้งานและรองรับการขยายผลได้

ในประเทศไทยนั้นได้มีการนำศูนย์ข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ โดยจะมีการจัดทำศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ประเทศไทยได้มีแนวทางที่จะ บูรณาการศูนย์ข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้ใช้บริการ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ในการดำเนินการโดยให้หน่วยงานต่างๆของรัฐมาใช้ศูนย์ข้อมูลร่วมกัน และจัดให้มีการประมูลโดยภาคเอกชนที่จะเข้ามาจัดสร้างในส่วนของศูนย์ข้อมูลดังกล่าวโดยมีมูลค่าในการลงทุนสูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาท และเมื่อประเทศไทยมีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติก็จะนำไปสู่การมีเกทเวย์แห่งชาติด้วย โดยเกทเวย์ (Gateway) ก็คืออุปกรณ์ที่มีความสามารถสูงในการที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถเชื่อมต่อ LAN หลายๆ เครือข่าย และสามารถสื่อสารกับส่งต่อข้อมูลหากันได้โดยไม่มีขีดจำกัด โดยในประเทศไทยนั้นควรจะมีเกทเวย์อย่างน้อย 10 จุด เพื่อรองรับการขยายตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต และการมีเกทเวย์แห่งชาติยังจะส่งผลให้การส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว และยังส่งผลถึงเรื่องความรวดเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ทอีกด้วย

ในเรื่องของ การบูรณาการศูนย์ข้อมูล แห่งชาตินั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยความร่วมมือของทั้งฝ่ายภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยจะมีหน่วยงานกลางก็คือกระทรวง ICT หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่กำลังจะถูกยุบลงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและจะรับโอนถ่ายอำนาจหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมา กระทรวงใหม่นี้จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในส่วนของมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อที่จะรักษามาตรฐานของค่าใช้จ่ายและคุณภาพของศูนย์ข้อมูลที่หน่วยรัฐใช้ โดยศูนย์ข้อมูลทุกศูนย์จะต้องสามารถเชื่อมต่อหากันได้ด้วย ระบบดังกล่าวก็จะทำให้ข้อมูลตรงกันไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น โดยการ บูรณาการศูนย์ข้อมูล นี้ฝ่ายรัฐจะต้องเป็นตัวนำร่อง โดยฝ่ายรัฐสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการข้อมูล ซึ่งย่อมนำไปสู่การที่เอกชนนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการ บูรณาการศูนย์ข้อมูล นี้ยังนำไปสู่การรวมตัวกันครั้งใหญ่ของข้อมูลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพราะหากทุกหน่วยงานต้องการสร้างศูนย์ข้อมูลของตัวเองทั้งหมด ย่อมต้องใช้งบประมาณมากมายในการลงทุน และทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ดังนั้นการสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจึงเป็นทางออกที่ดีของการแก้ปัญหานี้

การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ยังนำไปสู่การที่ภาครัฐจะเข้าสู่การเป็น Digital Government โดยนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่าจะเป็นการยกระกับภาครัฐในหลายส่วน ได้แก่

ประการแรก การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ภาครัฐ กล่าวคือเมื่อมีการบูรณาการจัดการศูนย์ข้อมูลภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมนำไปสู่การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ประการที่สอง การบูรณาการข้อมูลบริหารสำหรับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี โดยจะเป็นการบูรณาการระบบการรายงานที่ใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงใช้ในการติดตามงานและเหตุการณ์เร่งด่วนต่างๆ และวิธีแก้ปัญหา

ประการสุดท้าย การบูรณาการการให้บริการประชาชน เช่นตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมุ่งแนวทางลดการใช้สำเนาเอกสารราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยการบูรณาการนั้นระบบบริการของราชการให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานราชการมีเป้าหมายนำร่อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมโยงเข้ากับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ รวมถึงการนำร่องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบางบริการของรัฐได้ด้วยตนเองผ่านตู้บริการเอนกประสงค์ของรัฐ

ทั้งสามประการข้างต้นนี้ก็เป็นการผลักดันการพัฒนาของ Digital government ภายใต้นโยบาย Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเห็นได้ว่า การบูรณาการศูนย์ข้อมูล ที่จะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาลนี้ย่อมนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย การใช้ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของรัฐนั้นยังเป็นแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของเอกชนอีกอย่างหนึ่งด้วย

ในส่วนของต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำเอาศูนย์ข้อมูลหรือ Data center มาใช้อย่างแพร่หลาย เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และอังกฤษ โดยประเทศเหล่านี้ได้ทำการลดศูนย์ข้อมูลในประเทศลง จากปริมาณศูนย์มากๆ เหลือเพียงไม่กี่ศูนย์ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถลดงบประมาณได้จำนวนมหาศาลต่อปี รวมถึงลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในประเทศอีกด้วย

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการนำเอาศูนย์ข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในหลายทาง เช่นในทางด้านธุรกรรม โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีบริษัท Duns and Bradsteeet ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการในเรื่องของรายงานข้อมูลของบัตรเครดิตของผู้ถือ โดยอาศัยศูนย์ข้อมูลในการส่งถ่ายรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของผู้ถือบัตรได้อย่างสะดวกฉับไว

การบูรณาการศูนย์ข้อมูลนั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในหลายๆประการ เช่น กรณีของการบูรณาการศูนย์ข้อมูลย่อมนำไปสู่การพัฒนาในด้านของอินเตอร์เน็ท ซึ่งทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ทได้ง่านขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง รวมไปถึงกรณีประโยชน์จากโครงการ Smart Service ก็จะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายต่อภาครัฐและภาคประชาชนอย่างมาก เพราะจะมีการรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลเดียว กล่าวคือมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลราษฎร์และใช้ประโยชน์จากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในการที่จะเรียกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารมากมายในการทำธุรกรรมกับทางภาครัฐ แล้วข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกบันทึกลงแบบฟอร์มอัตโนมัติ จึงทำให้เป็นการลดการใช้ทรัพยากรรวมทั้งประหยัดเวลาอีกด้วย หรือจะเป็นการบริการผ่านจุดบริการตามศูนย์การค้าหรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีการส่งข้อมูลต่างๆอย่างทั่วถึง และสามารถทำธุรกรรมได้โดยทันที

นอกจากนี้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบางหน่วยก็มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือทับซ้อนกัน เช่น กรมการปกครอง กรมการต่างประเทศ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ล้วนมีข้อมูลที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับราษฎรนั่นเอง ซึ่งหากมีการใช้ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติและมีการรวบรวมข้อมูลไว้ที่เดียวกันแล้ว ย่อมทำให้สะดวกสบายต่อการเรียกข้อมูลไปใช้ได้ด้วย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการบูรณาการศูนย์ข้อมูลที่ได้ก่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาตินั้นส่งผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านทางบริหารประเทศ ด้านเทคโนโลยี และอีกหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย โดยเฉพาะในด้านกฎหมายซึ่งจะเป็นสิ่งที่ปูแนวทางในการขับเคลื่อนของการบูรณาการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

Source : http://telecomjournalthailand.com/

เศรษฐกิจดิจิตอลกระตุ้นการลงทุน

เศรษฐกิจดิจิตอลกระตุ้นการลงทุน

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่านผู้อ่านคงพอได้ทราบข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกลุ่มกฎหมาย ดิจิตอล เนื่องจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 158 คน เห็นชอบหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 17 คน โดยมีระยะการดำเนินงานภายใน 30 วัน โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีส่วนราชการประกอบด้วยสำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ และให้ยกเลิก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติ ครม.ของสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และของข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้าง ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัล มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่กระทรวงไอซีทียังคงมีข้อจำกัดในขอบเขตของอำนาจอยู่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีและข้อจำกัดเรื่องเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ไม่เพียงพอ โดยในปีที่ผ่านมาจากข้อมูลของหอการค้า ได้ระบุว่าระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมีมูลค่าทางธุรกิจถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นอกจากนี้แล้วร่างกฎหมายดิจิตอลที่คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลำดับถัดไปคือร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งได้รวมกฎหมาย 3 ฉบับไว้ในฉบับเดียวกัน คือกฎหมายการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายการส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิตอล และกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

ส่วนร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิตอล ฉบับอื่นๆ ยังไม่มีการบรรจุเป็นวาระให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งนี้ คาดว่าอาจจะต้องรอเสนอในที่ประชุมในคราวถัดไป ร่างกฎหมายอื่นๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และร่างกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการแยก พ.ร.บ.เป็น 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขของกรรมการกฤษฎีกา

จากการที่รัฐบาลได้เดินหน้าส่งเสริมนโยบาย เศรษฐกิจดิจิตอล และมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้นั้น ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้นทั้งจากประเทศญี่ปุ่น อังกฤษและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ทำการลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับนางซะนะเอะ ทาคาอิชิ รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ประกอบด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งทางญี่ปุ่นทั้งส่วนราชการและเอกชนมีความก้าวหน้าด้านนี้มาก จึงเสนอให้มีความร่วมมือพัฒนาอุปกรณ์ บุคลากร การเตรียมการช่วยเหลือประชาชนทั้งการเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติ และการกู้ภัยหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ เช่น ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องความร่วมมือด้านกิจการไปรษณีย์เพื่อสนับสนุนการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ช โดยเฉพาะสินค้าผ่านแดนและระบบโลจิสติกส์ขณะเดียวกัน นางซะนะเอะได้นำภาคเอกชนจาก 55 บริษัท มีทั้งด้านไอซีทีและการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาประเทศไทยเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนไทย และมาดูแนวทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ด้านไอทีที่ประเทศไทยสนับสนุนให้เกิดขึ้นในอนาคตตามนโยบาย เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งนักธุรกิจที่ร่วมคณะมาครั้งนี้มีประธานบริษัท เอ็นอีซี ของญี่ปุ่นด้วยที่สนใจจะมาขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยสนใจลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งสินค้าไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม กสทช. ยังได้มีการเสนอความร่วมมือในการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีการแพร่สัญญาณภาพ และเสียงในระบบ 4K และ 8K ซึ่งได้มีการนำระบบนี้มาสาธิตแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหารายการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดให้ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น 11 รายที่ร่วมเดินทางมาในคณะในครั้งนี้มาออกบูทนำเสนอเทคโนโลยี 4K และรายการต่อผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ได้เลือกซื้อเนื้อหารายการที่น่าสนใจมานำเสนอเพื่อให้เกิดธุรกิจร่วมกันอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าด้านการดำเนินการผลักดันด้าน เศรษฐกิจดิจิตอล ในประเทศนั้น คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัลให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจแบบออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบและสร้างธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 300 ราย รวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านบริการใหม่และธุรกิจใหม่ที่ตลาดต้องการรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆทางด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ อันจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นเป็นอย่างมาก

Source : http://telecomjournalthailand.com/