"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

E-Payment

E-Payment

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะได้ยินข่าวที่ทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT Telecom) เปิดเผยว่าบริษัทมีมีมติให้จัดตั้งธุรกิจร่วมค้าและการทำระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางออนไลน์อย่างครบวงจร หรือ เพย์เม้นท์ เกตเวย์ (Payment Gateway) โดยจะดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้โดยจะเจาะทั้งธุรกิจภาครัฐไปยังเอกชน (G2C) ธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจถึงกลุ่มผู้บริโภค (B2C) เนื่องจากยังไม่มีองค์กรภาครัฐให้บริการประเภทนี้ ธุรกิจนี้จะต้องทำร่วมกับหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความปลอดภัยและน่าเชื่อถือเป็นหลัก แนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่มีอัตราเติบโตสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายดิจิตอล อีโคโนมีของรัฐบาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม CAT ยังตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากธุรกิจเพย์เม้นท์ประมาณ 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ซึ่งตลาดออนไลน์เพย์เม้นท์ปัจจุบันมีมูลค่าราวหมื่นล้านบาทต่อปี

จากข่าวดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Payment นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ แต่หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าระบบดังกล่าวคืออะไรและมีขั้นตอนการทำงานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับเราได้อย่างไร บทความฉบับนี้จะได้เผยแพร่ความรู้ในประเด็นนี้ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Payment System  คือ กระบวนการส่งมอบหรือโอนสื่อการชำระเงินเพื่อชำระราคาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในยุคปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยมอย่างมากโดยมีทั้งธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ให้บริการดังกล่าว ส่วน Payment Gateway นั้นคือบริการที่ให้ Website สามารถรับชำระค่าบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านบัตรเครดิตได้ แต่เดิมแล้วบริการ Payment Gateway จะให้บริการผ่านทางธนาคารต่างๆ แต่เนื่องจากความยุ่งยากในการเดินเรื่องเอกสารกับทางธนาคาร ไม่ว่าจะการทำรอบบัญชี การวางวงเงินประกัน การต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนต่างๆ  ทำให้การเปิด Payment Gateway กับธนาคารมักจะเป็นที่ยุ่งยากสำหรับ Website ขนาดเล็กๆแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้มีการเปิด Payment Gateway แทนธนาคารดังกล่าวโดยการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แทนที่เราจะไปติดต่อกับทางธนาคารเอง ก็ให้ทำการติดต่อผ่าน Payment Gateway ของเว็บไซต์ตัวแทนนั้นๆ แทน สิ่งที่เราจะได้รับก็คือความสะดวก รวดเร็ว แต่ก็จะมีการหักค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าของธนาคารเล็กน้อย ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกว่าจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารหรือบริษัทที่เป็นคนกลางก็ได้

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ได้อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ.2551  และประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58  (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์)  โดยธุรกิจ e-Payment ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ประกอบด้วยธุรกิจ  8  ประเภท ได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money การให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิต การให้บริการเครือข่ายอีดีซี การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน การให้บริการหักบัญชี การให้บริการชำระดุล การให้บริการรับชำระเงินแทนและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือผ่านทางเครือข่าย

เนื่องจากการทำธุรกิจ E-payment หรือ Payment Gateway นี้มีมานานในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกานั้น ธุรกิจการชำระเงินในระบบ E-payment มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อวัน การที่ธุรกรรมแบบดังกล่าวได้รับความนิยมมากก็เนื่องมาจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งประหยัดต้นทุนเพราะต้นทุนของ e-Payment มีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งถึงหนึ่งในสามของต้นทุนของการใช้เงินสด ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไอซ์แลนด์นั้น การใช้เงินสดมีต้นทุนสูงถึง US$2.57ต่อรายการ ในขณะที่ การใช้บัตรในการชำระเงินมีต้นทุนเพียง US$0.61 เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยนั้นแม้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเพิ่งได้รับความนิยมไม่นานมานี้แต่กลับมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะความเร็วของอินเตอร์เน็ตและโครงข่ายระบบที่ออกแบบมารองรับการใช้งาน ไม่เพียงแต่การทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในตลาด E-Commerce ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของคนไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดยมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อครั้ง และมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 15,000 บาท นอกจากนั้นยังสามารถคาดการณ์ได้ว่าในปีนี้หลังจากมีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบแล้วการเชื่อมโยงระบบ Payment Gateway กับการทำธุรกิจ E-Commerce ย่อมจะทำได้อย่างสะดวกและเต็มรูปแบบเพื่อเป็นการสร้างทางเลือกและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วนโยบายดังกล่าวยังจะช่วยขยายโอกาสและรองรับในการสร้างระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นกับปรับปรุงมาตรฐานให้ก้าวหน้าเทียบเท่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าเมื่อธุรกรรมการเงินมูลค่าสูงขึ้นเท่าใด ก็ต้องให้ความระมัดระวังเรื่องภัยคุกคามความปลอดภัยทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารย่อมเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกหลวง โดยอาจจะถูกกรอกข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินผ่านหน้าเว็บเลียนแบบธนาคาร (“Phishing”) ซึ่งขณะนี้มีการระบาดทางอีเมล์เป็นจำนวนมาก ผู้อ่านจึงต้องตื่นตัวและรู้ทันในเรื่องความปลอดภัยด้วย  โดยในกรณีใช้ผ่านแอพลิเคชั่นของธนาคารนั้น การโหลดหรือติดตั้งดังกล่าวก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าใช่แอพลิเคชั่นที่สร้างโดยธนาคารจริงๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เอง

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนจบ)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนจบ)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ต่อเนื่องจากประเด็นด้านการแก้กฎหมายกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลในฉบับก่อนหน้านี้ ในฉบับนี้จะเป็นตอนจบที่เราจะได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขร่าง “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม” ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจและเป็นข่าวมากโดยเฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่หลายๆ คนเฝ้าจับตามอง

จากข้อสังเกตของบางฝ่ายที่ได้เคยมีมาในอดีตว่าการแยกบอร์ดใหญ่ออกเป็นสองบอร์ดย่อยของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติปี พ.ศ.2553 นั้นเป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีการประสานงานกัน ในร่าง พรบ. ฉบับใหม่นี้จึงจะมีการแก้ไขให้รวมกันทำงานเป็นบอร์ดเดียวโดยหวังว่าจะทำให้มีการประสานงานกันและมีการทำงานที่มีความเป็นเอกภาพกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งน่าจะช่วยให้การกำกับดูแลการสื่อสารในยุค convergence ทำได้ดีขึ้น แต่ทาง กสทช.นั้นก็ได้มีความเห็นแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวว่าการที่คณะกรรมการ กสทช. ถูกรวมให้ทำงานเป็นชุดเดียวจำนวน 11 คนนั้น อาจจะเป็นจำนวนที่มากเกินไป จึงควรมีการทบทวนจำนวนองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. ให้เหมาะสมด้วย ในขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังโต้แย้งว่าการกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยแบ่งออกเป็นสองคณะอาจมีความจำเป็นอยู่ในบางกรณีโดยเฉพาะในส่วนของกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งนี้เพราะกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เคเบิล ดาวเทียมเพิ่งปรับเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายเข้าสู่กระบวนการรับใบอนุญาตภายใต้กติกาเดียวกัน ประกอบกับการพิจารณาออกใบอนุญาตของกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินรายใหม่ ดังนั้นการกำกับดูแลงานด้านวิทยุและโทรทัศน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎกติกาต่างๆซึ่งมีบทบาทค่อนข้างมาก จึงต้องมีการสร้างหลักประกันว่าการวางระบบอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ภายใต้ระบบอนุญาตและการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองต้องไม่สะดุด และองค์กรกำกับดูแลยังคงทำหน้าที่ในการกำกับให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเดินหน้าไปอย่างดีได้

นอกจากนี้แล้วร่าง พรบ.ฉบับใหม่ยังกำหนดให้ กสทช. ต้องทำงานภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันมีที่มาจากการคัดเลือกกำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Soft Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge โดยกำหนดที่มาของคณะกรรมการจากหลายๆสาขาซึ่งบางส่วนมีที่มาจากฝ่ายการเมือง รวมไปถึงการคัดเลือกกรรมการจากองค์กรเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เช่นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงอาจทำให้เกิดประเด็นเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. ที่ควรเป็นหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งอิสระ แต่กลับต้องรับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลบางคนซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องที่ต้องมีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียกัน นอกจากนี้แล้วการเลือกคณะกรรมการที่มาจากฝ่ายการเมืองอาจเอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย เนื่องจากไม่มีกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีผู้เสนอเห็นควรให้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความขัดแย้งในบทบาทอำนาจหน้าที่ดังกล่าวหรือเสียความเป็นอิสระกับความเป็นกลางของคณะกรรมการ กสทช.

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่มีผู้ออกมาให้ความเห็นอย่างมากน่าจะเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เรื่องการประมูลคลื่นความถี่โดยกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดว่าการจัดสรรความถี่กระจายเสียง-โทรทัศน์สำหรับประกอบกิจการทางธุรกิจและความถี่โทรคมนาคมนั้น ให้ใช้วิธี “คัดเลือกด้วยการประมูล” แต่ในกฎหมายใหม่ใช้คำว่า “คัดเลือก” โดยตัดคำว่า “ประมูล” ทิ้งไป โดยจะให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาแผนบริหารคลื่นความถี่ว่าคลื่นใดเป็นคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะและคลื่นใดเพื่อบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคลื่นเพื่อบริการเชิงพาณิชย์นั้นจะเป็นอำนาจของกสทช.ในการจัดสรร โดยการจัดสรรนี้ร่างกฎหมายใหม่ระบุให้ใช้การ “คัดเลือก” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นการประมูลก็ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีที่จะไม่ให้ประมูลคลื่นความถี่ แม้ว่าในต่างประเทศหลายประเทศนั้นจะใช้วิธีอื่นในการคัดเลือกเช่น ใช้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่แบบ Beauty Contest หรือวิธีการเปรียบเทียบข้อเสนอของผู้ประสงค์จะรับใบอนุญาต โดยตั้งราคากลางแล้วให้ผู้ประกอบการแข่งกันเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและผู้บริโภคสูงสุดมาประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาตก็ตาม

ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ต้องประมูลก็ได้อ้างว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งเคยใช้การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล ในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดสรรแบบ Beauty Contest เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลับมองว่าวิธีการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะอาจมีปัญหาด้านการทุจริตตามมาซึ่งต่างจากวิธีประมูลที่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน อีกทั้งภาครัฐยังนำเงินจากการประมูลไปใช้บริหารประเทศได้ นอกจากนั้นวิธีการคัดเลือกยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจว่าจะใช้วิธีการอื่นใดๆก็ได้ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย อันจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์อย่างมหาศาลและคลื่นความถี่อาจตกไปอยู่ในมือผู้ที่ไม่ได้มีศักยภาพสูงสุด

เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่นั้น หลังจากที่ คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไป 1 ปี เพื่อแก้ไขกฎระเบียบทั้งหลายให้โปร่งใสและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ขณะนี้ใกล้ครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ทาง กสทช. รวมไปถึงรัฐมนตรี ICT ได้ออกมาแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวว่าการประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะเดินหน้าประมูลแน่นอน โดยหาก คสช. และคณะกรรมการด้านเตรียมความพร้อมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นชอบให้เดินหน้าประมูลได้ก่อนครบกำหนด กสทช.ก็จะใช้เวลาเตรียมการ 3-4 เดือน ในเรื่องนี้ยังมีข้อพึงพิจารณาว่าหากมีการจัดประมูล 4G ก่อนกลุ่มร่างกฎหมายดิจิทัลบังคับใช้ก็จะต้องใช้วิธีการประมูลตามกฎหมายปัจจุบัน แต่หากร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมาก่อนก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตามที่กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ผลการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) และธนาคารโลก (World Bank) บ่งชี้ว่าการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทุก 10% ของประชากร จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโตขึ้น 1.38% ของจีดีพี ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจถึง 3.6% เพราะการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจถูกลง ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร นั่นเป็นเพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุค Internet of Things และ M to M (Machine to Machine) ให้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อ สั่งการกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านคน ขณะที่บางประเทศกำลังทดลองระบบ 5G ส่วนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็จับมือกันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อสร้าง “มาตรฐานร่วม 4G แห่งเอเชีย” ให้รับส่งข้อมูลได้ 100 เมกะบิตต่อวินาที ดังนั้นจะเป็นการดีสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะจัดให้มีการประมูลคลื่น 4G โดยเร็วเพื่อให้ก้าวทันประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เพราะในปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านความรวดเร็วและคุณภาพของสัญญาณมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ความช้าหรือเร็วในการเกิดขึ้นของบริการโทรคมนาคมบนเครือข่าย 4G จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 2)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 2)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในฉบับที่แล้วเราได้นำเสนอถึงรายละเอียดของร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัลบางฉบับเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการแก้ไขและร่างกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในฉบับนี้เราจึงจะนำท่านผู้อ่านเจาะลึกกันต่อไปถึงร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับอื่นที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามถึงผลดี ผลเสียหรือผลกระทบข้างเคียงของร่างกฎหมายเหล่านี้

ร่างชุดกฎหมายที่ถูกพูดถึงในสังคมไม่แพ้ร่างชุดกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ได้แก่ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล และร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยแต่ละฉบับมีรายละเอียดที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะกล่าวพอเป็นสังเขปต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. … มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่วางนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ซึ่งเป็นแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิตอล โดยให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ 1.คณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ 2.คณะกรรมการเซอร์วิสอินฟราสตรัคเจอร์ 3.คณะกรรมการซอฟต์อินฟราสตรัคเจอร์ 4.คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ และ 5.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) พ.ศ. …จะกำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงไอซีที แบ่งเป็น 5 ส่วนราชการ คือ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยไม่ใช่เพียงแต่เปลี่ยนชื่อกระทรวงเท่านั้นแต่จะมีการปรับเปลี่ยนทั้งระบบ โดยเริ่มต้นจากการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการทำงานให้เข้ากับยุคที่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การบริการ ฯลฯ ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานด้วย เช่น องค์การมหาชนคือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ที่ต้องเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ที่ต้องควบคุมสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงิน การออกกฎหมายข้อบังคับเพื่อแก้ไขการป้องกันการทุจริตทางคอมพิวเตอร์ เพื่อโลกดิจิตอลหนุนให้การค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) เติบโตขึ้น ความปลอดภัยและการสร้างความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสององค์การมหาชนรวมกันเป็นสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่ได้เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยตั้งขึ้นตามร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่จัดตั้งขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. เช่นคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นใหม่ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ตั้งใหม่เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA อีกด้วย

ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่น่าสนใจและเป็นที่กล่าวถึงอีกฉบับหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยรายละเอียดกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้มีการปรับแก้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่หลักใหญ่ใจความยังเหมือนเดิมคือเน้นการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่เป็นหลัก โดยประเด็นที่ปรับแก้คือเพิ่มเรื่องว่าแผนแม่บทของ กสทช. จะต้องสอดคล้องกับ “นโยบายและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของคณะกรรมการดิจิทัลฯ แห่งชาติ และตัดหน้าที่ “ประสานงาน” การบริหารคลื่นความถี่ทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งเปลี่ยนบทบาท “วินิจฉัยและแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่รบกวน” มาเป็นการ “ร่วมให้ข้อมูลกับรัฐบาล” แทน นอกจากนี้แล้วร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังยกเลิกการแยกสองบอร์ดย่อยคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) โดยกำหนดให้บอร์ดชุดใหญ่ (กสทช.) ทำหน้าที่แทนทั้งหมดโดยผู้เสนอร่างกฎหมายอาจเห็นว่าการรวมเพื่อให้มีบอร์ดใหญ่เพียงบอร์ดเดียวน่าจะช่วยให้การกำกับดูแลการสื่อสารในยุค convergence ทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและการประมูล จากเดิมให้ส่งเข้ากองทุน กสทช. ทั้งหมด 100% เปลี่ยนเป็นให้ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัล 50% และอีก 50% ส่งเป็นรายได้แผ่นดินอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วโครงสร้างอื่นๆก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการยกเลิกองค์กรเดิมแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยมีจุดประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยกเลิก “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” แล้วตั้งเป็น “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” แทน โดยมีรายละเอียดตามร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. ซึ่งกองทุนเดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อ “อุดหนุน” ด้านการเข้าถึงบริการ และการพัฒนา-การวิจัย แต่กองทุนใหม่จะเพิ่มเรื่อง “การให้กู้ยืมเงิน” แก่ “หน่วยงานของรัฐและเอกชน” ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพิ่มมาด้วย

ในส่วนขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเฉพาะได้แก่ คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ) โดยโอนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่เดิมอยู่กับ สพธอ. และจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เราจึงต้องมาดูกันต่อไปว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเหมาะสมต่อภาคธุรกิจและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไรกับจะมีการแก้ไขในชั้น สนช. หรือไม่อย่างไร และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายในครั้งนี้จะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไปในทิศทางใด ซึ่งทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้อ่านทุกท่านควรจะติดตามความคืบหน้าเพราะการออกร่างกลุ่มกฎหมายในครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านที่เป็นประโยชน์ต่อเราทั้งในทางตรงและในทางอ้อมด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 1)

ร่างกลุ่มกฎหมายดิจิทัล (ตอนที่ 1)

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินข่าวมาพอสมควรเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับโดยหลังจากที่ร่างชุด กฎหมายดิจิทัล ทั้ง 10 ฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมของ สนช. ต่อไปนั้นได้มีฝ่ายต่างๆออกมาแสดงความคิดเห็นโดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับกับไม่เห็นด้วย บทความนี้จึงจะได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นกันเป็นตอนๆ ไป

เมื่อเรามาวิเคราะห์ กฎหมายดิจิทัล ใหม่ทั้ง 10 ฉบับแล้วจะแยกกฎหมายออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิตอล กลุ่มคุ้มครองความมั่นคงทางไซเบอร์และกลุ่มที่แก้ไขโครงสร้างของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. โดยกฎหมายทั้ง 10 ฉบับประกอบด้วย 1) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญามากขึ้นรวมถึงการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ 2) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อลดปัญหาการกระทำความผิดทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดฐานกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในอนาคต 3) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการทำสงครามและโจมตีอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 4) ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองและบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่มีจำนวนมหาศาล โดยตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลให้กับประชาชน 5) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก เนื่องจากธุรกิจปัจจุบันและอนาคตเริ่มเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนเข้าไปช่วยดูแล 6) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานรูปแบบการสนับสนุน การให้ทุน ให้กู้ยืม แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง 7) ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากกิจการวิทยุโทรทัศน์และการสื่อสารดาวเทียมได้มีการพัฒนามาก และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิตอล ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจัดสรรคลื่นความถี่ต้องปรับปรุงบทบาท ภารกิจ การกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล 8) ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนดูแลการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 9) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้มีคณะกรรมการที่กำกับดูแลด้านดิจิตอลโดยตรง และ 10) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีมิติของภารกิจและความรับผิดชอบเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม

ร่างกฏหมายที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายที่มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านที่เป็นประเด็นมากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นร่างชุดกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ ฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวก็เน้นย้ำในจุดยืนที่ต้องการจะปูพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลและป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์มีเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่น การให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้เช่น มาตรา 35(3) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารในทุกๆทางได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และในประเด็นความห่วงใยเดียวกันนี้ยังมีมาตรา 10 ของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่ได้ขยายอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงบัญชี คอมพิวเตอร์ และระบบ โดยไม่ต้องขออำนาจศาล อีกทั้งเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อุปกรณ์ ได้ทันทีหากสงสัยว่ามีการกระทำความผิดโดยไม่มีหมายศาลอีกด้วย

หากมาพิจารณาหลักการและเหตุผลของแต่ละฝ่ายโดยละเอียดก็อาจเห็นว่าเป็นการมองต่างมุมที่ให้ความสำคัญในเรื่องที่แตกต่างกันเช่น เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายนี้คือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้องและทันสมัยรวมทั้งออกกฎหมายใหม่เพื่อมารองรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะมีการพัฒนาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีตและป้องกันปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์ที่นับแต่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคต อันจะทำให้ความเสี่ยงในการกระทำความผิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย จึงต้องการให้มีการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังและสามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ แต่เมื่อร่างกฎหมายฉบับข้างต้นออกมานั้น ฝ่ายที่คัดค้านกลับเห็นว่าไม่แน่ใจว่าเมื่อประกาศใช้จะเอื้อต่อการนำดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจริงเหมือนที่ตั้งเป้าหมายไว้แต่ต้นหรือไม่ แต่กลับสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจเนื่องจากการออกกฎหมายส่อปิดกั้นและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป ทำให้เสี่ยงต่อการที่นักลงทุนต่างชาติจะหวั่นเกรงจนไม่กล้าเข้ามาลงทุนหรือลดระดับความสนใจการลงทุนในประเทศไทย

ในขณะนี้ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์และยังไม่ได้บทสรุปกับเรื่องดังกล่าวเพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความคิดเห็นของตน ท่านผู้อ่านคงต้องใช้วิจารณญาณในการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของเหตุผลทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการออกกฎหมายใหม่นั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดหรือตรงประเด็นที่เคยเกิดปัญหาบ่อยๆกับไม่เป็นการเหวี่ยงแหครอบคลุมมากเกินไปเพราะการออกกฎหมายหนึ่งฉบับจะมีผลผูกพันระยะยาวและอาจไปกระทบกระเทือนสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนในส่วนอื่น จึงจะมองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งหรือเพื่อแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งคงไม่ได้ รวมทั้งอาจจะควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างรอบด้าน เพื่อไม่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองโดยการปราศจาการถ่วงดุลหรือการคานอำนาจ หรือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป อีกทั้งเพื่อจะได้เอื้อต่อการส่งเสริมและสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริงอีกด้วย

Source : http://telecomjournalthailand.com/

กฎหมาย Digital Economy

กฎหมาย Digital Economy

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมและยกร่างกฎหมายใหม่รวม 13 ฉบับ เพื่อจัดตั้ง “กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”นั้น ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข่าวในเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลหรือ Digital Economy โดยทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออก พ.ร.บ. ดิจิตอล อีโคโนมี ถือเป็นกฎหมายฉบับหลักในการควบคุมอำนาจและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อผลักดันดิจิตอลอีโคโนมีทั้งหมด รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายการพัฒนาดิจิตอลอีโคโนมี   เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิคส์ (E-Government) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)   การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงการให้แรงสนับสนุนกับภาคเอกชน  เช่น กฎเกณฑ์ส่งเสริมของบีโอไอต่อดิจิตอลอีโคโนมี โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร      เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นเลขานุการ รวมไปถึงได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ  คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2525 และคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ดิจิตอล อีโคโนมี ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีแก้ไขกฎหมายจำนวน 13 ฉบับ เช่น พ.ร.บ. ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิดเพราะจะมีประโยชน์ต่อประชาชนในหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข หากแพทย์ทุกโรงพยาบาลสามารถดึงข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากข้อมูลกลางได้ก็จะทำให้การรักษาสะดวกและรวดเร็วขึ้น เป็นต้น รวมทั้งยังมีแผนที่จะยกร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ปรับปรุง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 ร่างแก้ไข พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 ยกร่างกฎกระทรวงเรื่องการแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเศรษฐกิจดิจิตอล และปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการแบ่งส่วนราชการกรมอุตุนิยมวิทยา โดยหลังจากที่มีการแก้กฎหมายดังกล่าวเสร็จ คาดว่าจะทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงตลาด ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การเสนอให้มีการยกเลิก หรือให้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนหรือจัดเก็บในอัตราที่สูงเกินไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์หรือมาเลเซียก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศของเราไม่ได้มีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT อย่างบูรณาการในระดับชาติ ซึ่งได้ส่งผลให้ประเทศชาติได้ตกหล่นเป็นอันดับท้ายๆ ของเอเชียและกระทั่งของอาเซียนในมาตรวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันทางด้าน ICT

หากพิจารณาในแง่มุมการรองรับทางกฎหมายของต่างประเทศแล้วจะพบว่าได้มีการออกกฎหมายเพื่อปรับใช้กับการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิตอล เช่น ประเทศอังกฤษ ได้ออก Digital Economy Act B.E.2010 โดยมีสาระสำคัญคือควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ การจดทะเบียนผู้ใช้โดเมน ข้อบังคับของบริการทางโทรทัศน์และวิทยุ ข้อบังคับในการใช้สเปคตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น หรืออย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ซึ่งจะควบคุมในเรื่องของการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของลูกค้าทางออนไลน์  การปฏิบัติตามข้อบังคับในการโฆษณาออนไลน์ การจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น จะมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งคล้ายกันกับประเทศออสเตรเลียที่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ค.ศ. 1999 ที่ออกมาในช่วงแรกๆ เพื่อควบคุมและยอมรับนับถือธุรกรรมที่กระทำโดยอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีสภาพเสมอเหมือนกับธุรกรรมที่ทำลงบนกระดาษหรือ Hard Copy ซึ่งจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลของต่างประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจและเศรษฐกิจของต่างชาติที่ก้าวไกลไปมากที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาให้เท่าทันโดยเริ่มจากการปรับโครงสร้างพื้นฐานเสียก่อน

นอกจากนี้แล้วความร่วมมือในระดับประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันความก้าวหน้าในเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย เช่น การอนุวัติการ e-Communication Convention ของ UN ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศลงนามแล้ว เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ (ASEAN) เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ศรีลังกา อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเลบานอน หากประเทศไทยได้มีการร่วมมือในระดับประเทศดังกล่าวย่อมจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าของไทยได้มากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจดิจิตอลถือเป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการและการเงินการธนาคารเติบโตต่อไป ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เศรษฐกิจเติบโตบนอยู่ฐานนี้ และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญมาก ถึงแม้ว่าในประเทศไทยอาจจะผลักดันเรื่องนี้อาจจะช้ากว่าประเทศ อื่นๆ บ้าง แต่ก็ถือว่ายังไม่ช้าเกินไปที่จะเริ่มต้นทำอย่างจริงจังโดยเริ่มจากการวางโครงสร้างกฎหมายที่จะเข้ามารองรับการทำธุรกรรมในโลกยุคดิจิตอลนี้ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้สมบูรณ์และปรับใช้ให้สอดคล้องกับธุรกิจในปัจจุบันซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป

By : http://telecomjournalthailand.com/

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในฉบับนี้เราจะมานำเสนอเสนอในมุมของแผนยุทธศาสตร์ของรัฐรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลหรือ Digital Economy อย่างเต็มรูปแบบโดยแนวคิดหลักของนโยบายคือต้องนำดิจิตอลเข้าไปเสริมศักยภาพการทำงานของทุกกระทรวงที่มีดิจิตอลเข้าไปเกี่ยวข้องตลอดจนต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลนั้นที่มีอยู่หลักๆนั้น มีอยู่หลายประการ

ประการแรกได้แก่การเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล โดยแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ หรือหากเรื่องใดไม่มีกำหนดไว้ก็เตรียมจะยกร่าง เช่น การสร้างเครือข่ายข้อมูลสุขภาพของประชาชนระหว่างโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านดิจิตอลจำนวนมากยังที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านลายมือชื่อดิจิตอล กฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย กฎหมายคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันเรายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะต้องทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ประการที่สองคือการให้เอกชนลดค่าบริการอินเตอร์เน็ตลงแต่ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตให้สูงขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการเพื่อที่จะสามารถให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงบริการได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในราคาที่อยู่ภายใต้การควบคุม

ประการที่สามคือการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ กระทรวงไอซีทีที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ยังมีโครงสร้างการแบ่งอำนาจที่ไม่ชัดเจน และรูปแบบการบริหารงานย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและกำหนดหน้าที่การกำกับดูแลในแต่ละส่วนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งแนวคิดในการเพิ่มกรมในกระทรวงเพื่อให้การทำงานของกระทรวงไอซีทีสอดรับในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วยกรมแรกคือกรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งต้องนำดิจิตอลช่วยอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ กรมที่สองคือกรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม ทำให้ดิจิตอลเข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความยากจน และกรมที่เกี่ยวกับไซเบอร์คอนเทนต์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ไอทีอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการควบคุมดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้จะมีการดึงบางหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้ามาอยู่กับไอซีที รวมไปถึงบางหน่วยงานที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาสู่นโยบายนี้ได้

ประการสุดท้ายคือการสร้างโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติเพื่อที่จะต้องมีบริการอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงทุกพื้นที่เพราะประเทศเรากำลังขนส่งข้อมูลจำนวนมากโดยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีเชื่อมต่อกันทุกพื้นที่ที่จำเป็นต้องเข้าถึงทุกตำบลทุกหมู่บ้าน โดยรัฐมีแผนที่จะนำไฟเบอร์ออพติกมาใช้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการขยายการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ 4G รวมทั้งพัฒนาระบบ 3G ให้มีความเสถียรมากขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะถูกนำมาใช้และการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึง

นอกจากการตอบรับนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว กระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลด้านการค้าที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการค้าทางออนไลน์หรือบนโลกของอินเตอร์เน็ตเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจยุคดิจิตอลนี้เป็นกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จึงได้มีการวางรากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลให้เป็นไปได้อย่างจริงจัง 3 ประการ ได้แก่ การพัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อรองรับการให้บริการอย่างครบวงจรเพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการและข้อมูล ข่าวสารจากกระทรวงฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายและลดการใช้กระดาษ การส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ดิจิตอล ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสาร และโทรคมนาคมดิจิตอล ตลอดจนการใช้ดิจิตอลรองรับภาคการผลิตกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้สื่อดิจิตอล ประการสุดท้ายได้แก่การส่งเสริมและผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลาดและศักยภาพของธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร โดยได้มีการเปิดตัวโมบาย แอพพลิเคชั่นของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว อันจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยให้มีความพร้อมต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ-ผู้นำเข้าจากต่างประเทศสำหรับการติดต่อกับนักธุรกิจไทยด้วย

อีกองค์กรหนึ่งที่ตอบรับนโยบายดิจิตอลดังกล่าวคือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยวางแผนนโยบายของกรมเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของธุรกิจเอสเอ็มอีในยุคดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจไอทีให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้ การนำไอทีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าโอทอปที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดิจิตอล (Digital Knowledge Society) เพื่อให้ดำเนินธุรกิจกิจโดยใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) เป็นต้น

การเริ่มต้นในการสร้างและขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลดังกล่าวของประเทศไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแม้จะช้าไปอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิตอลให้กับประเทศนั้น นอกจากจะอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ไอที และ ระบบสารสนเทศมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจแล้วควรจะรวมถึงการเปิดกว้างต่อความเปลี่ยนแปลง การให้โอกาสกับแนวคิดใหม่ๆ และการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นของประเทศเราเองด้วย

By : http://telecomjournalthailand.com/